(อุปสรรค,ชีวิต,ความคิด,ตัวช่วย)
พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
การเรียนรู้คือสิ่งสำคัญของชีวิต เพราะถือเป็นวิธีการที่เราจะสามารถพัฒนาตัวเองในด้านต่าง ๆ ที่ต้องการ เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ถือว่าการเรียนรู้มีความสะดวกสบายกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก เพราะเทคโนโลยีช่วยได้ช่วยให้เกิดการส่งต่อชุดข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลและรวดเร็ว ความจากคน ๆ หนึ่งได้ถูกสู่ต่อไปยังอีกคนหนึ่ง ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า มีผู้เชียวชาญมากมายที่ออกมาแบ่งปันความรู้ในช่องทางต่าง ๆ เช่น YouTube, Facebook เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ได้ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน สามารถจะเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่ายดาย
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้คนในโลกยุคปัจจุบัน ก็ยังมีอุปสรรคบางอย่างที่จะต้องข้ามผ่านอยู่เหมือนกัน เพื่อที่จะให้การเรียนรู้ สัมฤทธิ์ผลและประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น
อุปสรรคในโลกแห่งการเรียนรู้
- ข้อมูลมหาศาล ปัจจุบันมีชุดข้อมูลอยู่มากมายมหาศาลที่หมุนเวียนและแลกเปลี่ยนกันไปมา โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ซึ่งบางครั้งเราแทบจะแยกไม่ออกเลยว่าข้อมูลใดจริง ข้อมูลใดเท็จ จึงต้องพิจารณากันดี ๆ โดยเมื่อได้รับข้อมูลมาแล้ว ก็อย่าพึ่งปักใจเชื่อไปเลยเสียทีเดียว แต่ต้องพิจารณาให้ละเอียด เหมือนหลักการที่พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้ในหลัก กาลามสูตร คืออย่าพึ่งปักใจเชื่อ ไม่ว่าคนที่บอกนั้นเขาจะเป็นใครก็ตาม แต่เราต้องเอามาพิจารณาอย่างรอบคอบเสียก่อน
- มีเวลาน้อย เนื่องจากความรู้ในปัจจุบันนั้น สามารถรวมรวบได้จากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงคนเก่ง ๆ ก็สามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ต่าง ๆ กันไปได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดหลักสูตรการเรียนรู้มากมายในปัจจุบัน ซึ่งถ้าเราจะเรียนรู้ให้หมดทุกอย่าง ผมคิดว่าเราคงจะต้องใช้เวลาทั้งหมดของชีวิตไปเลยทีเดียว จนมีบางคนมาถามผมว่าหลักสูตรด้านการตลาดในปัจจุบันนี้มีเยอะมาก เราจะเลือกอย่างไรดี… ซึ่งผมก็จะแนะนำตรง ๆ ว่าให้เรียนในหลักสูตรที่จะได้ใช้จริงกับชีวิต ณ ตอนนี้ก่อน เพราะมีบางคนที่ชอบเรียนรู้ แม้ว่าบางเรื่องจะเรียนไปแล้วยังไม่ได้ใช้ ก็คิดว่าจะเรียนเผื่อไว้ใช้ในอนาคต อาจจะเป็น 3 ปี หรือ 5 ปีข้างหน้า แต่ทว่าเมื่อถึงเวลานั้น องค์ความรู้ที่เราเคยเรียนมามันอาจจะตกยุคไปแล้วก็ได้ เพราะทุกวันนี้โลกเปลี่ยนเร็วมาก
- สมองมนุษย์กับหุ่นยนต์ โลกในอนาคตหุ่นยนต์มีความก้าวหน้ามากขึ้นแน่นอน และจะเข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตของเป็นมากยิ่งขึ้น และคาดว่าเมื่อถึงเวลานั้น รูปแบบการใช้ความสามารถของสมองมนุษย์ก็คงจะต้องถูกปรับเปลี่ยนไปด้วย เพราะเรื่องราวในลักษณะนี้ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ถ้าใครจำได้ คือเมื่อสักประมาณ 20 ปีก่อน ตอนนั้นเรายังไม่มี AI ด้วยซ้ำ แต่เราก็ต้องยอมแพ้ให้กับเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่าง เช่น เครื่องคิดเลข ซึ่งทุกวันนี้ หลายคนท่องสูตรคูณไม่ได้อีกแล้ว หรือเรื่องเบอร์โทรศัพท์ สมัยก่อนเราจำเบอร์โทรศัพท์กันได้เยอะมาก แต่เมื่อโทรศัพท์มือถือได้ถูกพัฒนาขึ้นมา ส่งผลให้ในปัจจุบันเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจดจำเบอร์โทรศัพท์กันแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ การใช้สมองของมนุษย์ก็จะเปลี่ยนไป เราจะมีตัวช่วยอื่น ๆ ที่ดีกว่า ส่งผลให้รูปแบบวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์ และหลักสูตรต่าง ๆ ในอนาคต จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน
สิ่งเหล่านี้คือโจทย์สำคัญของการเรียนรู้ในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งเราจะต้องพิจารณาและปรับวิธีคิด วิธีการเข้าถึงข้อมูลตลอดจนวิธีการเรียนรู้ของเราใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้
และเพื่อไม่ให้การเรียนรู้ของเราสูญเปล่า เสียเวลาของชีวิต เราควรจะกำหนดทิศทางการเรียนรูของชีวิตเราอย่างมีหลักการที่ควรจะเป็น ซึ่งผมได้ทบทวนและถอดบทเรียนออกมาจากประสบการณ์ตรงของชีวิตผม ดังนี้…
1. จุดเริ่มต้น
(3 ขั้นตอนเพื่อสร้างแผนที่การเดินทาง)
เพราะชีวิตของคนเรามีจำกัด ดังนั้นเราจะต้องหาจุดตั้งต้นของการเรียนรู้สำหรับเราให้เจอกันก่อน เพื่อที่จะไม่หลงทาง ซึ่งผมมองว่าการที่เราจะเข้าถึงการเรียนรู้ที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับตนเองได้ จะต้องมีหลักการ 3 อย่าง ดังนี้
- Direction – ทิศทางชีวิต หากชีวิตเปรียบได้กับการเดินทาง การหาทิศทางของชีวิตที่เราต้องการจะมุ่งไปนั้นมีความสำคัญมาก เพราะการเดินทางไปผิดทิศ จะไม่มีวันไปถึงเป้าหมายได้
- Target – เป้าหมายชีวิต เมื่อทราบทิศทางชีวิตของตัวเอง การกำหนดเป้าหมายก็จะต้องมีด้วย เพราะจะทำให้เราทราบว่าการเดินทางของเราจะไปหยุดตรงไหน ไปพักตรงไหน และจะไปต่อตรงไหน
- Purpose – ความหมายของชีวิต สุดท้ายเป็นเรื่องของความหมายชีวิต การเดินทางของเราจะไร้พลังมาก ถ้าเราไม่รู้สึกว่ามันมีคุณค่าหรือความหมายต่อชีวิต และเมื่อไร้พลังในการเดินทาง ก็เป็นไปได้อยากที่จะไปถึงจุดหมายนั้นเอง
ยกตัวอย่างชีวิตของผม ผมเคยวาง เป้าหมายชีวิต เอาไว้ว่าตัวเองจะต้องเป็นสถาปนิกให้ได้ โดย ทิศทางชีวิต ที่ผมมุ่งไปก็สอดคล้องกับเป้าหมาย นั้นคือผมเรียนในแนว ศิลป์ + คำนวณ ตั้งแต่มัธยม และตั้งใจเรียนมาก เพื่อที่จะสอบเข้าคณะสถาปัตย์ให้ได้ โดยสิ่งนี้ถือเป็น ความหมายของชีวิต โดยมีแรงผลักดันมาจากการที่ผมชอบวาดรูป และมีความสุขกับการวาดรูปมาก รวมถึงมีความคิดที่ว่าอยากจะสร้างบ้านสวย ๆ ให้คนได้อยู่กัน
***หมายเหตุ แต่ในท้ายที่สุด ชีวิตของผมก็มีจุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้ผมต้องมาเรียนต่อในสายธุรกิจแทน และได้สร้างเป้าหมายและทิศทางของชีวิตอันใหม่ จนทำให้ผมกลายมาเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจเช่นในปัจจุบันนี้
2. การเดินทาง
(3 วิธีคิดบนจังหวะชีวิตที่ก้าวเดิน)
ถ้าในหัวข้อที่แล้วนั้นเปรียบได้กับการวาดแผนที่ในการเดินทางเพื่อเรียนรู้ให้กับชีวิต ดังนั้น ในหัวข้อนี้ ก็คงเปรียบได้กับการก้าวเดิน ในแต่ละก้าวของเรา ที่ทุกย่างก้าวจะต้องอาศัยความคิด เพื่อก้าวผ่านเรื่องราวมากมายที่ผ่านเข้ามา
โดยกระบวนการคิด ถือว่ามีความสำคัญมากในช่วงเวลานี้ ซึ่งความคิดของเราจะต้องประกอบไปด้วย 4 อย่าง คือ
- Critical thinking – คิดแบบมีเหตุผล มีกระบวนการ เราจะต้องเป็นคนที่คิดอย่างมีเหตุผล มีที่มาที่ไป เป็นการคิดแบบวิเคราะห์ แยกแยะ ว่าข้อมูลไหนจริง ข้อมูลไหนเท็จ อันไหนเชื่อได้ อันไหนต้องไปหาทางพิสูจน์ก่อนถึงจะเชื่อ ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ ซึ่งกำลังจะมีชีวิตอยู่ร่วมกับ AI เราจะต้องสามารถคิดในเชิงวิพากษ์ได้ เพราะเรื่องการคิดแบบใช้วิจารณญาณนั้น สุดท้ายเราจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจ
- Divergent thinking – คิดแบบสร้างทางเลือก หลายคนมักจะบอกว่า ถ้าคิดจะทำอะไรแล้วต้องลุย ต้องสู้ ต้องอึดอดทน แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้น ผมเชื่อว่าเราจะต้องเอาความคิดเข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย ไม่ใช่ใช้แค่ความถึกทนอย่างเดียว การคิดแบบสร้างทางเลือก คือการที่เรามีเป้าหมายแล้ว…แต่ว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา เราไม่สามารถไปทางตรงได้ เราจะต้องคิดหาทางเลือกอื่น ว่าเราทำอะไรได้บ้าง สมมุติว่า ถ้าทางที่เรากำลังจะมุ่งไปนั้น มีภูเขาบังอยู่ เราจะต้องกลับมาดูแล้วว่า เรามีทางเลือกอะไรบ้างที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย เราอาจจะคิคออก 3 วิธี ดังนี้ ปีนข้ามภูเขา เดินอ้อมภูเขา เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา สิ่งเหล่านี้ คือการคิดแบบสร้างทางเลือก นั้นเอง
- Convergent thinking – คิดแบบสรุปทางเลือก เป็นการคิดเพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุด เหมาะสมและตรงไปตรงมา โดยมีการสร้างหลักเกณฑ์เพื่อให้ประเมินทางเลือกได้ เช่น ถ้าต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว เราเดินไปแล้วมีภูเขาขวางอยู่ เรามีทางเลือก 3 แบบ เราก็จะต้องตั้งหลักเกณฑ์สำหรับประเมินทางเลือก ว่าจะเลือกทางไหนดี เช่น ไปทางไหนเร็วที่สุด, ปลอดภัยที่สุด, ประหยัดที่สุด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เราสามารถสรุปทางเลือกได้ง่ายขึ้นว่าเราจะติดสินใจอย่างไร
- Lateral thinking – คิดแบบออกด้านข้าง หรือคิดแบบนอกกรอบ หมายถึง การคิดที่หลุดไปจากกรอบจำกัดของความเป็นไปไม่ได้ (แต่เราสามารถทำให้มันเป็นไปได้) เช่น จากโจทย์เมื่อกี้ที่มีภูเขามาขวางทางเราอยู่ เราได้คิดทางเลือกมา 3 ทางคือ 1. ปีนข้ามภูเขา 2. เดินอ้อมภูเขา 3. เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา แต่ก็อาจจะมีบางคนที่คิดนอกกรอบไปเลยคือ สร้างเฮลิคอปเตอร์แล้วบินข้ามไป อันนี้ถือเป็นความคิดแบบนอกกรอบนั้นเอง
3. จุดสิ้นสุด
(3 ตัวช่วยเพื่อเดินให้ถึงซึ่งจุดหมายปลายทาง)
การที่เราจะเดินทางไปให้ถึงจุดหมายได้นั้น การมีแผนที่ และมีจังหวะการก้าวเดิน อาจจะยังไม่พอ เพราะบางครั้งการเดินทางอาจจะล้มเหลวก็ได้ ถ้าเราหมดแรง หมดกำลังใจ หรือหลงทาง ดังนั้น สิ่งสุดท้ายที่เราจะขาดไม่ได้ก็คือ 3 ตัวช่วยเพื่อการเดินไปให้ถึงซึ่งจุดหมาย ดังนี้
- Consult – ที่ปรึกษา หมายถึง คนที่เราขอคำแนะนำจากเขาได้ แต่เขาไม่ได้มาลงมือทำกับเรา ไม่ได้พาเราทำ ซึ่งที่ปรึกษาจะมีอยู่ 3 แบบด้วยกัน ดังนี้
- เคยทำ หมายถึง คนที่เคยทำมาแล้ว แต่อาจจะเป็นการเคยทำเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเขามาให้คำปรึกษาเรา เขาก็จะใช้ชุดความรู้จากเมื่อ 10 ปีก่อนมาแนะนำเรา บางอย่างก็อาจจะยังใช้ได้ แต่บางอย่างก็อาจจะตกยุคไปแล้ว
- กำลังทำ หมายถึง คนที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ผ่านประสบการณ์เจ็บจริง รู้จริง ด้วยตัวเองมาแล้ว และชุดความรู้ที่เขามีนั้นยังถือว่ามีความสดใหม่และทันสมัยอยู่ เนื่องจากต้องอัพเดตให้เท่าทันสถานการณ์อยู่เสมอ
- รู้จริง…แต่ไม่เคยทำเอง หมายถึง คนที่ไม่ได้ลงมือทำเอง แต่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้คนอื่นมาอย่างต่อเนื่อง จนเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง เช่น หมอที่ผ่าตัดมะเร็ง แม้ว่าตัวเองไม่เคยเป็นมะเร็งมาก่อน แต่เขาก็สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ หรือผู้ฝึกสอนกีฬาบางคน อาจจะเล่นเองไม่เก่ง แต่ก็สามารถสอนคนอื่นให้เป็นนักกีฬาที่เก่งได้นั้นเอง
- Mentor – พี่เลี้ยง หมายถึง คนที่จะทำให้เราดู หรือพาเราทำ ยกตัวอย่างเช่น ในหลักสูตรการฝึกอบรมของผม เราก็จะใช้ระบบพี่เลี้ยงจำนวน 13 คน ในการที่จะคอยดูแลผู้ที่เข้ามาเรียนรู้อย่างใกล้ชิด พาคิด พาวิเคราะห์ พาตีโจทย์ปัญหาต่าง ๆ อันนี้คือลักษณะของพี่เลี้ยง
- Role model – ต้นแบบที่ดี หมายถึง คนที่เราจะยึดถือเป็นแบบอย่าง ซึ่งวิธีการเรียนรู้ก็คือ เราจะต้องสังเกตด้วยตัวเอง เพราะเขาไม่ได้มาให้คำปรึกษาเราตรง ๆ หรือพาเราทำ ดังนั้น การเรียนรู้แบบนี้จึงเป็นการเรียนรู้แบบ “ครูพัก…ลักจำ” ซึ่งก็ถือว่ามีประโยชน์เช่นกัน
และทั้งหมดนี้ก็คือ คาถาแห่งการเรียนรู้ ที่ผมได้ถอดบทเรียนมาจากประสบการณ์ชีวิตจริงของตัวเอง ที่ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตมากมาย กว่าที่จะเดินทางมาถึง ณ จุดนี้ได้
ถ้าหากการเรียนรู้ เปรียบเสมือนการเดินทางของชีวิต ผมเชื่อว่าการที่เรารู้จัก จุดเริ่มต้น จุดเดินทาง และจุดสิ้นสุด บนพื้นฐานของหลักการที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้นี้ ก็จะสามารถช่วยให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณค่า ไม่สูญเปล่า และเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุดแน่นอน