พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
สำหรับเรื่องราวของการหาคนเก่ง ๆ มาทำงานด้วยนั้น ผมเคยได้มีการพูดถึงอยู่หลายครั้งเหมือนกัน โดยเฉพาะในบทความที่มีชื่อว่า บริษัทเล็กๆ จะหาเด็กเก่ง ควรทำอย่างไร ซึ่งในบทความนั้นจะเป็นลักษณะในการตั้งรับ เป็นการเตรียมตัวในบริษัท ว่าเราจะทำอย่างไรให้คนเก่งวิ่งมาหาเรา อยากมาทำงานร่วมกับเรา
แต่สำหรับในวันนี้จะคุยกันถึง 9 กลยุทธ์ที่เราจะใช้ในการตามหาคนเก่งมาทำงานด้วย ซึ่งจะเป็นการที่เราออกไปตามล่าหาคนเก่งให้มาอยู่กับเรา
โดยในหัวข้อที่มีชื่อว่า คิดใหญ่…ทำยังไงถึงจะได้คนเก่งมาทำงาน นี้จะเป็นแนวทางที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งบริษัทใหญ่ และบริษัทเล็ก SME หรือแม้แต่บริษัทที่พึ่งเริ่มต้นใหม่ ซึ่งมีเราที่เป็นเจ้าของกิจการทำงานอยู่คนเดียว ก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน
9 กลยุทธ์ที่เราจะใช้ในการตามหาคนเก่งมาทำงาน
1. อ่อยแล้วค่อยจีบ
เป็นกลยุทธ์ที่ต้องใช้เวลา ไม่ใจร้อน เหมือนกับการจีบสาวที่เราจะต้องอ่อยไปก่อน หยั่งเชิงดูก่อน และถ้าถึงเวลาที่เหมาะสมก็ค่อยจีบ หลักการนี้คือการสร้างสายสัมพันธ์ก่อนที่จะถึงวันที่ใช้งานจริง ซึ่งผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสเจอคนดี ๆ คนเก่ง ๆ จากงานสัมมนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งเหตุผลหนึ่งที่ผมเองเลือกทำธุรกิจนี้ก็เพราะว่า เป็นงานที่ทำให้พบได้พบปะกับผู้คนมากมาย ทั้งเจ้าของกิจการ พนักงานประจำ ฟรีแลนซ์ พ่อค้าแม่ขาย และด้วยความที่ผมเจอคนเยอะมาก บางครั้งผมก็เจอคนเก่ง ๆ ที่รู้สึกว่า…เด็กคนนี้ใช้ได้ อยากชวนมาทำงานด้วย
เพราะฉะนั้นแล้วเวลาที่เรามีโอกาสได้เจอคน เราก็ต้องมีการจดบันทึกเอาไว้ว่าเราได้พบใครและเก่งเรื่องอะไรบ้าง อย่างตัวผมเองได้จัดทำแบบทดสอบ IDENTITY DISCOVERY TEST ที่ในปัจจุบันนี้ คนที่ติดตามผมหลาย ๆ คนก็ได้มีโอกาสเข้าไปลองทำกันแล้ว พอทำแล้วหลาย ๆ คนก็จะเอากราฟมาให้ผมดูและถามว่ามันหมายความว่าอะไร ควรทำอาชีพธุรกิจอะไร จะขายธุรกิจแบบไหน ทีมงานควรมีลักษณะอย่างไร ถ้าใครสนใจก็สามารถเข้าไปทำแบบทดสอบกันได้ที่ https://event.pay4tomorrow.com/identitytest
ซึ่งในการสร้างแบบทดสอบนี้ขึ้นมา ก็ทำให้ผมมีโอกาสได้ดูโปรไฟล์ของคนเป็นจำนวนมาก และคนก็จะมีลักษณะหลาย ๆ แบบ ในอนาคตผมอาจจะอยากได้คนที่มีโปรไฟล์ลักษณะแบบไหน ผมก็สามารถที่จะค้นหาคนที่มีความเหมาะสมมาทำงานร่วมกันได้ด้วย
ดังนั้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า นอกจากการที่เราสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนเป็นจำนวนมากแล้ว เราก็จะต้องมีการวางแผนในระยะยาวด้วย ว่าในระยะต่าง ๆ เราควรที่จะมีคนแบบไหนมาช่วยเราทำงาน ซึ่งในช่วงโควิดโอกาสที่เราจะได้ไปปฏิสัมพันธ์กับคนจำนวนมาก ๆ ก็คงจะยาก ผมก็สามารถใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการค้นหาคนเก่ง ๆ ที่มีความเป็นมืออาชีพ เช่นใน Linkedin ซึ่งเราก็สามารถเข้าไปสร้างสายสัมพันธ์เอาไว้ได้
สรุปในกลยุทธ์แรกก็คือ เราต้องมีการสร้างสายสัมพันธ์ และวางแผนระยะว่าเราต้องการคนแบบไหนมาทำงานด้วย
2. สร้างโปรไฟล์ออนไลน์ให้บริษัทมีความน่าสนใจ
มีหลายคนมาบ่นกับผมว่าหาคนมาทำงานด้วยยาก แม้แต่บริษัทใหญ่ ๆ ระดับร้อยล้าน บางคนก็ไม่สามารถหาคนที่มีความเหมาะสมมาทำงานด้วยได้ ซึ่งผมก็บอกเขาว่า สิ่งหนึ่งจะต้องทำเลยก็คือนำเสนอตัวตนของบริษัทให้มีความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ ทั้งรายการทีวี รายการออนไลน์ เข้าร่วมการแข่งขันต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อไปโชว์ตัวให้คนเห็นว่าเราคือใคร
หลังจากนั้น เราจะต้องมีโปรไฟล์ออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ ดูเป็นมืออาชีพ ซึ่งหลาย ๆ คนมองข้ามเรื่องนี้ คือไม่ทำเว็บไซต์บริษัท หรือถึงแม้ทำก็ไม่เคยอัพเดทเลย ปล่อยไว้กลายเป็นเว็บไซต์ร้าง บางทีก็เป็นเว็บไซต์ที่ออกแบบไม่น่าสนใจ ดูโบราณไม่ทันสมัย ซึ่งเว็บไซต์แบบนี้ดูไม่มีความเป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะบริษัทที่บอกว่าว่าตัวเองเป็นบริษัทใหญ่ มีความก้าวหน้าทันสมัย มีอนาคตที่สดใส แต่สิ่งที่นำเสนอมาในโปรไฟล์ออนไลน์จะขัดแย้งกันแบบนี้ไม่ได้เด็ดขาด
ซึ่งคนเก่ง ๆ รุ่นใหม่จำนวนมาก เวลาที่เขาจะเลือกไปทำงานที่ไหน เขาจะเข้าไปดูเว็บไซต์ ไปดูโปรไฟล์ของบริษัทนั้นก่อน ถ้ามันไม่ได้มีความน่าสนใจ หรือทำให้เขาเกิดความประทับใจ เกิดความเชื่อถือได้ ก็ยากที่เขาจะฝากอนาคตไว้กับบริษัทนั้น ๆ
ไม่ว่าเราจะใช้กลยุทธ์อะไรก็แล้วแต่ เมื่อสุดท้ายคนวิ่งเข้ามาที่เว็บไซต์ แต่ว่ามันไม่มีความน่าสนใจที่เพียงพอ มันก็ไปต่อได้ยาก
3. ตำแหน่งที่จะรับ ต้องเขียนให้มันรู้สึกเร้าใจ
คนเก่ง ๆ เขาไม่อยากทำห่วย ๆ ถ้าเราไม่สามารถระบุได้ว่างานที่ทำมันมีอนาคตยังไง มีความก้าวหน้าแบบไหน แล้วภาระหน้าที่ชัดเจนหรือเปล่า ถ้าเขียนภาระหน้าที่ไม่สอดคล้องกับค่าตอบแทน ทำงานจิปาถะเยอะ ๆ คนเก่ง ๆ เขาก็จะไม่สนใจงานแบบนี้
เราต้องเข้าใจก่อนว่าคนเก่งจะมีความเป็นนักล่าในตัว ที่ต้องการที่จะมีเป้าหมาย มีจุดมุ่งหมาย มีความชัดเจนว่ารางวัลที่เขาจะได้มันคืออะไร การที่เราจะให้คนเก่งมาอยู่ด้วย เราจะต้องกล้าให้ผลตอบแทน รวมถึงเราต้องมอบอำนาจให้เขาตัดสินใจด้วย ถ้าคนเก่งไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ เขาจะอยู่ไม่นาน เพราะรู้สึกว่างานมันน่าเบื่อ
สรุปเวลาที่เราจะเขียนรับสมัครพนักงานนั้น สิ่งที่เราจะต้องเขียนลงไปก็คือ จะต้องมีเป้าหมายเร้าใจ ท้าทายความสามารถ หน้าที่ชัดเจน เห็นความก้าวหน้า กล้าให้ผลตอบแทน มอบอำนาจให้ตัดสินใจ
4. ใช้นายหน้าจัดหางาน
การใช้นายหน้าจัดหางาน หรือ Recruitment Agency นั้นมันดีกว่าการที่เราไปโพสรับสมัครงานในเว็บไซต์หางานต่าง ๆ เช่น JobThai, JobDB เพราะว่าผมเองก็เคยใช้ระบบนี้ แต่มันมีข้อเสียคือเราต้องให้คนไปนั่งค้นหาข้อมูลคนที่เข้ามารับสมัครงานกับเรา ต้องมีการคัดกรองก่อนในแต่ละขั้น ซึ่งบางทีมันเสียเวลา เสียทรัพยากร
ดังนั้นการใช้ Recruitment Agency เป็นวิธีการที่ง่ายกว่า เราเพียงแค่บอกว่าเราชอบแบบไหน ต้องการคนแบบไหน นอกจากนี้ทาง Recruitment Agency เขาก็จะสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลเราเหมือนกันว่าเราเป็นคนแบบไหน มีความคาดหวังอย่างไร บริษัทมีความก้าวหน้าไหม จากนั้นเข้าก็จะเข้าไปดูในฐานข้อมูลของเขาว่าควรจะจับใครมาคู่กับเรา ซึ่งเขาจะไม่เลือกคนที่เก่งที่สุด แต่จะเป็นการเลือกคนที่เหมาะที่สุดที่จะมาทำงานด้วย
ค่าใช้จ่ายก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งงานด้วย ยิ่งเป็นตำแหน่งสูง ๆ ก็จะยิ่งต้องใช้คนที่มีประสบการณ์ และต้องใช้เวลานาน เพราะกว่าที่เขาจะไปค้นหา กว่าที่เขาจะไปทำความรู้จัก กว่าที่เขาจะไปทาบทามให้เปลี่ยนงานก็ต้องใช้เวลา
5. ตกปลาให้ถูกบ่อ
ถ้าเราอยากได้เซลล์ ถ้าก็ไปตามล่าได้จากห้องสัมมนาที่สอนเกี่ยวกับการขาย ถ้าเราอยากได้การตลาด เราก็ต้องไปตามล่าคนที่เข้าสัมมนาในห้องการตลาด รวมถึงเรายังไปตามล่าได้จากสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ เช่น ถ้าอยากได้เลขาเก่ง ๆ เราก็ไปตามล่าที่สมาคมผู้ช่วยผู้บริหารแห่งประเทศไทย หรือในบางกรณีบางคนถึงกับไปตามล่าเอามาจากบริษัทคู่แข่งเลยก็มีเหมือนกัน อย่างเพื่อนผมคนหนึ่งเขาทำร้านอาหาร แล้วเวลาเขาไปกินร้านไหน แล้วเจอคนเก่ง ๆ หัวก้านดี ๆ เขาก็จะทาบทามไว้ ไปตามล่าจากร้านอาหารเลยทีเดียว
ดังนั้น ถ้าเราต้องการคนแบบไหน เราก็ต้องไปตามหาให้ถูกแหล่ง เหมือนกับการตกปลาให้ถูกบ่อ
6. ให้รางวัลพนักงานที่แนะนำคนให้มาทำงานด้วย
ถ้าบริษัทไหนเปิดโอกาสแบบนี้แสดงว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทที่สวัสดิการดี พนักงานมีความสุขกับงานที่ทำ และถ้าพนักงานไม่มีความสุข เขาก็จะไม่บอกต่อให้คนอื่นมาทำงานด้วย แต่สิ่งที่เขาจะบอกต่อก็คือคำว่า “หนีไป! อย่ามาทำงานที่นี่!” ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะเคยผ่านเหตุการณ์นี้ บริษัทที่ไม่น่าสนใจ สวัสดิการไม่พร้อม วัฒนธรรมองค์กรไม่ดี เวลาเพื่อนเราจะมาสมัคร เขาก็จะห้ามเขาว่าอย่ามา
เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำให้พนักงานอยากจะแนะนำกันมา เราก็ต้องทำบริษัทให้ดี ให้น่าสนใจ ไม่เช่นนั้นการแนะนำบอกต่อก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะของดี ต้องบอกต่อ
7. ตกเขียว เกี่ยวเด็กมหาลัย
วิธีการนี้บริษัทใหญ่ ๆ จะทำกันเยอะ เพราะถ้าจะไปรอพนักงานที่ทำงานมา 3-5 ปี จนมีประสบการณ์พอใช้ได้แล้วค่อยไปทาบทามมาทำงานด้วย ถึงตอนนั้นก็อาจจะไม่ทันกาล บริษัทใหญ่ ๆ เช่น พวกค่ายมือถือต่าง ๆ บริษัทปูนต่าง ๆ เขาก็จะไปตามล่าเด็ก ๆ จากในมหาวิทยาลัย ไปดูตั้งแต่ปี 1 เลยว่าเด็กคนไหนเรียนดี เด็กคนไหนเรียนเก่ง ก็จะไปทาบทามเอาไว้ว่าท่าเรียนจบมาก็จะให้งานเลย
โดยตัวผมเองส่วนใหญ่ก็จะเลือกเด็กที่ทำกิจกรรมเป็นอันดับแรก เด็กเรียนเก่งเป็นอันดับสอง ส่วนเด็กที่ยังหาจุดยืนไม่ได้ เราก็จะพักไว้ก่อน เพราะการทำธุรกิจมันคือการทำงานเป็นทีม เป็นการติดต่อประสานงานกับผู้อื่น ถ้าใครทำงานกับคนอื่นเก่ง ๆ ก็ถือว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้เช่นกัน ดังนั้น วันนี้พ่อแม่ผู้ปกครองถ้ามีลูกหลานก็ควรจะให้ทำกิจกรรม และตั้งใจเรียน
8. ให้ทุนการศึกษาสำหรับเด็กเรียนดี
บางคนอาจจะคิดการให้ทุน ต้องให้เป็นแสนเลยหรือเปล่า แล้วถ้าเป็นบริษัท SME เล็ก ๆ จะเอาเงินที่ไหนมาให้ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้ให้มากขนาดนั้น เพราะการให้ทุนการศึกษาเราก็สามารถที่จะให้ทุนการศึกษาสำหรับเด็กเรียนดีในพื้นที่ต่างจังหวัดก็ได้ อาจจะเป็นทุนปีหนึ่งใช้เงิน 2-3 หมื่น เป็นทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ก็สามารถทำได้
ซึ่งตรงนี้ข้อดีคือเราได้ช่วยสังคม นอกจากนี้ถ้าเด็กคนนั้นเลือกมาทำงานกับเรา เขาให้ความสำคัญกับคำว่ากตัญญู เขาก็อาจจะมาทำงานกันเรา แต่ถึงแม้ว่าเขาไม่มาทำงานกับเรา อย่างน้อยก็ถือว่าเราได้ข่วยเหลือจุนเจือสังคม
9. เปิดรับสมัครงานหลาย ๆ ตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง
บางคนจะมาเปิดตำแหน่งงานเฉพาะตอนที่จะใช้ ซึ่งบางทีมันก็ไม่ทัน เพราะพอพนักงานลาออกเราจะหาพนักงานใหม่เข้ามาทำงานแทนเลยก็ไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นการลาออกแบบดี ๆ บริษัทก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนั้น เพราะเขาจะมีการแจ้งล่วงหน้าหลาย ๆ เดือน มีการส่งมอบงานต่าง ๆ ให้เรียนร้อย ซึ่งพนักงานดี ๆ จะไม่ลาออกแบบกะทันหัน เพราะเขาไม่อยากให้เสียประวัติ หรือเจ้านายเก่าเสียความรู้สึก
แต่สำหรับกรณีการลาออกแบบกะทันหัน ก็ถือเป็นปัญหาปวดหัวของผู้ประกอบการเหมือนกัน เพราะถ้าพนักงานในบางตำแหน่งหน้าที่ขาดหายไป มันก็ส่งผลให้ระบบทั้งหมดโดยภาพรวมได้รับผลกระทบตามไปด้วย จึงเป็นที่มาของการที่บางบริษัทมีการรับสมัครพนักงานต่อเนื่อง เปิดรับสมัครทั้งปี และมีหลากหลาย เพื่อเป็นทางเหลือกให้สำหรับบางคนที่อยากจะเปลี่ยนสายงาน หรืออยากจะอัพเกรดตำแหน่งงานของตัวเองให้เติบโตขึ้น
และทั้งหมดนี้ ก็คือ คิดใหญ่…ทำยังไงถึงจะได้คนเก่งมาทำงาน ซึ่งเทคนิคทั้ง 9 ข้อนี้ถือเป็นเทคนิคที่ทุกคนสามารถจะนำเอาไปใช้เพื่อแก้ปัญหาในการขาดแคลนพนักงานของคุณ รวมถึงถ้าหากบริษัทคุณอยากได้คนเก่ง ๆ มาทำงานด้วยตลอดเวลา ผมแนะนำให้จัดสัมมนาและสอนในตำแหน่งงานที่เราอยากจะได้ อย่างเหมือนเพื่อนผมคนหนึ่งที่อยากจะหาพนักงานขาย เขาก็จัดสัมมนาเกี่ยวกับงานขาย เปิดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับงานขาย ซึ่งสิ่งนี้ก็เปิดโอกาสให้เขาได้เจอคนที่อยากจะทำงานเป็นเซลล์ และได้เจอคนที่เป็นเซลล์ขายเก่ง ๆ เป็นจำนวนมาก
ดังนั้น ถ้าคุณอยากจะหาคนมาทำงานให้กับคุณ ถ้าบางงานมันเป็นเรื่องใหม่ ๆ เป็นงานยาก ๆ ที่หาคนมาทำยาก คุณก็เปิดสอนเองเลย แล้วคุณจะได้มีโอกาสเลือกคนเก่ง ๆ มากมายมาทำงานกับคุณ