พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
อุปสรรค์สำคัญของ SME อย่างหนึ่งนั้นก็คือการไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อตัวพนักงานเก่ง ๆ ได้เหมือนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า “ถ้าเราเป็น B-player เราจะต้องจ้าง A-player เข้ามาทำงานให้” ทุกคนน่าจะรู้เรื่องนี้ดี แต่ถึงแม้ว่าเรามีเงินมากพอ ก็ไม่ได้หมายความว่า A-player จะเข้ามาทำงานกับเรา
ดังนั้น อุปสรรค์ของการหน้าคนเก่งมาทำงานด้วยกันคือ ใช้เงินเยอะ แถมบางทีถึงแม้ว่าเราจะมีเงินจ้าง แต่เขาอาจจะไม่อยากมาทำงานกับเราก็ได้ หรือแม้กระทั้งเราจ้างมาแล้ว เราก็ไม่สามารถใช้งานเขาได้เต็มศักยภาพ คล้าย ๆ กับเราซื้อรถ Ferrari มาขับ แต่ตัวเราพึงจะหัดขับรถใหม่ ๆ ยังใช้ความเร็วได้เต็มที่แค่ 120-150 ก็สุดความสามารถที่จะควบคุมได้แล้ว ซึ่งก็ไม่ต่างกับการที่เราได้คนเก่งขั้นเทพมาทำงานให้ แต่เรากลับไม่เชี่ยวชาญพอที่จะใช้งานเขาได้อย่างเต็มที่ และเกิดปัญหาขึ้นมาได้ในภายหลัง
การจ้างคนเก่งเข้ามาทำงานด้วย ถ้าระบบของเรายังไม่พร้อม ทีมงานเดิมของเรายังไม่พอ ปัญหาก็สามารถเกิดขึ้นได้เหมือนกัน เหมือนกับเราเอาเครื่องยนต์แรง ๆ ไปประกอบเข้ากับรถยนต์คนละรุ่นที่มีความสามารถต่างกันมาก ๆ
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เราน่าจะเอามาคิดก็คือ ด้วยพนักงานที่มีอยู่ในมือของเราตอนนี้ เราจะทำอย่างไรในการดึงศักยภาพของทีมงานออกมาให้ได้มากขึ้น ทำอย่างไรให้เขาเก่งมาขึ้น ให้ระบบงานของเราสามารถรองรับคนเก่ง ๆ ที่จะเข้ามาทำงานด้วยได้ดียิ่งขึ้น
และเมื่อเราอยากจะพัฒนาทีมงานของเราให้ดียิ่งขึ้น ผมก็จะนำเอาแนวทางดี ๆ มาแบ่งปันกัน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ผมได้มีประสบการณ์ผ่านมาด้วยตัวเอง
- ชื่นชมเมื่องานก้าวหน้า
คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่มักจะมุ่งไปข้างหน้า มุ่งที่การพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนลืมที่จะหยุดให้กำลังใจทีมงาน หรือในบางครั้งก็มักจะให้เสียงสะท้อนที่ทำให้ทีมงานหมดกำลังใจ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ทุกคนต้องการคำชม แม้ว่าสิ่งที่เขาทำอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบก็ตาม เจ้าของธุรกิจอาจจะไปโฟกัสที่ความก้าวหน้าก็ได้ และควรที่จะให้ทีมงานรับรู้ได้เป็นรายบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการบอกเล่าด้วยวาจา แต่ถ้าครั้งไหนมันเป็นความก้าวหน้าที่โดดเด่น ก็อาจจะมีการประกาศให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ มีการให้รางวัลตอบแทน ก็สามารถทำได้
“ไม่ว่าจะก้าวเล็ก หรือก้าวใหญ่ ขอแค่ก้าวไปในทุก ๆ วันก็เพียงพอ”
- มีกิจกรรมสันทนาการเพื่อปล่อยความเครียด
สมัยก่อนผมไม่เข้าใจเรื่องนี้เลย เพราะไม่มีประสบการณ์มากนัก คืออยากทำงานอย่างเดียว ไม่อยากไปเที่ยว ไปทัศนาจร ไปทำกิจกรรมอะไรนอกเหนือจากงาน เพราะคิดว่ากลับมาแล้วงานมันจะพอกเอาไว้เยอะ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของคนที่อยากประสบความสำเร็จเร็ว ๆ ที่ไม่อยากเสียเวลาไปกับอะไรที่ไม่ใช่เป้าหมายของชีวิต
แต่เมื่อผมโตขึ้น เก็บเกี่ยวประสบการณ์มากขึ้น ผมก็ได้เข้าใจว่า การปลดปล่อยความเครียดก็มีความสำคัญ เหมือนกับกาน้ำร้อนที่ต้มอยู่บนเตาเดือด ๆ ถ้าหากไม่มีจุดระบายความดันออกมาเลย มันก็จะระเบิด
ดังนั้น กิจกรรมสันทนาการจึงเป็นสิ่งที่เชื่อมผู้คน ทำให้คนต่างแผนกรู้จักกัน ทำให้สนิทกันมากขึ้น และเมื่อสนิทกันก็ทำงานร่มกันได้ง่ายขึ้น รวมถึงในบ้างครั้งก็เชื่อมหัวหน้ากับลูกน้อง ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว
ซึ่งการที่จะเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันได้นั้น จะต้องอาศัยกิจกรรม หรือสถานการณ์ที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม เกมกีฬา หรือกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อปลอดภัยความเครียด ทำให้ชีวิตมีความสมดุลมากขึ้น
- ชีวิตส่วนตัวดี งานก็ดีขึ้น
ผมเองมีโอกาสได้ไปช่วยหลาย ๆ บริษัทในการทำสัมมนาให้กับพนักงาน ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการชีวิตส่วนตัวของพนักงาน ซึ่ง HR ส่วนใหญ่ก็มักจะบอกว่าทำไปแล้วบริษัทจะได้อะไร เนื้อหามันเกี่ยวกับแต่เรื่องชีวิตของพนักงาน ในขณะที่บริษัทไม่สามารถจับต้องได้ว่าเรียนไปแล้วจะเอามาเพิ่มศักยภาพในการทำงานได้อย่างไร
แต่ผมก็อยากบอกว่า ถ้าชีวิตของพนักงานดี ไม่มีหนี้ มีการวางแผนอนาคตว่าทำงานไป 3-5 ปีแล้วชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไร มีบ้าน มีรถ มีความมั่นคงแบบไหน ถ้าพนักงานของเราไม่มีความกังวลเกี่ยวกับชีวิต เขาก็จะสามารถโฟกัสกับเรื่องงานได้เต็มที่
ลองนึกภาพ ถ้าพนักงานของเราเลิกงานแล้ว ต้องหลบเจ้าหนี้ที่มายืนรอทวงหนี้อยู่หน้าบริษัท หรือสามี ภรรยา มาตบมาตีกันหน้าบริษัท มันก็คงเป็นภาพที่ไม่ชวนให้ทำงานอย่างมีความสุขเท่าไหร่ บรรยากาศในการทำงานก็เสีย
ผมอยากให้เราคิดว่า พนักงานที่เข้ามาทำงานกับเรานั้นเป็นเหมือนกับลูกของเรา เราก็ต้องดูแลเขาให้ดี
“ชีวิตของพนักงาน คือลมหายใจของบริษัท”
- เป้าหมายชัดเจน วิธีการปรับได้โดยให้พนักงานคิด
เรื่องเป้าหมายคือสิ่งที่เจ้าของธุรกิจเป็นผู้กำหนด แต่ส่วนวิธีการนั้นก็ควรที่จะเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงฝีมือ เพราะเป้าหมายเป็นสิ่งที่จะไปเปลี่ยนแปลง แต่วิธีการไปสู่เป้าหมายนั้นยืดหยุ่นได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น งานออกแบบ งานขาย งานโฆษณา รูปแบบการทำงานมันอาจจะไม่มีลักษณะตายตัว ดังนั้น วิธีการต่าง ๆ เราก็ควรจะให้ลูกน้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ ส่วนหน้าที่ของเราที่เป็นหัวหน้างาน เราเพียงแค่กำหนดหมุดหมายในแต่ละช่วงเอาไว้ เพื่อไม่ให้ลูกน้องหลงทางก็เพียงพอแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น กำหนดเป้าหมายว่าให้ไปถึงภูเก็ตภายใน 15 ชั่วโมง แล้วก็เซ็ทหมดหมายว่า
- 3 ชั่วโมงแรกต้องไปถึงหัวหิน
- 3 ชั่วโมงต่อมาเราจะถึงระนอง
- 3 ชั่วโมงต่อมาต้องไปถึง……
สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของหมุดหมายที่เรากำหนดเอาไว้ว่าเราอยากจะเห็นอะไรบ้าง ส่วนวิธีการเป็นของลูกน้อง เขาจะทำอะไรก็เป็นสิ่งที่เขาต้องคิดต่อเอง
และแม้ว่าบางบริษัทจะมีระบบงานที่ดีมาก ๆ มีระบบที่ผ่านการทำซ้ำจนนิ่งแล้ว เราก็ควรเปิดโอกาสในการที่จะค้นพบวิธีการใหม่ ๆ บ้างในบางครั้ง เพราะโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเรายังยึดติดกับวิธีการเดิม และมันใจว่ามันจะใช้ได้ตลอดไป บางทีก็ไม่มีใครรับประกันว่า มันจะใช้ไปได้อีกนานแค่ไหน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วเหลือเกิน
- สนับสนุนความรู้ในการทำงาน
ควรจะสนับสนุนให้เกิดระบบการเรียนรู้ในองค์กร เช่น หัวหน้าสอนงาน เพื่อนสอนงาน รุ่นพี่สอนรุ่นน้อง หรือส่งพนักงานไปเรียนสัมมนา หรือจ้างที่ปรึกษาไปให้คำแนะนำกับพนักงาน รวมถึงการให้พนักงานได้ไปศึกษาดูงานในบริษัทตัวอย่างก็สามารถทำได้เช่นกัน
เพราะการส่งเสริมความรู้ในการทำงาน จะช่วยประหยัดเวลาในการลองผิดลองถูก งบประมาณที่เราจ่ายลงไปนั้น อาจจะช่วยประหยัดมูลค่าความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็ได้
“พนักงานที่ทำงานบนความไม่รู้นั้น มันมีต้นทุนและความเสี่ยงที่กว่าปกติเสมอ”
- สนับสนุนเครื่องมือที่ช่วยให้ทำงานได้เร็ว / ง่ายขึ้น
การให้พนักงานออกไปทำงาน ก็ไม่ต่างอะไรกับการออกรบ บางบริษัทคิดว่าตัวเองได้ให้อาวุธกับพนักงานอย่างครบถ้วนแล้ว เพราะให้ทั้ง ดาบ หอก ธนู โล่ แต่พนักงานก็อาจจะรู้สึกว่าอาวุธมันยังไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่เขากำลังจะไปสู้คือ…รถถัง!!!
ดังนั้น เจ้าของธุรกิจก็ต้องดูด้วยว่าเรากำลังจะให้พนักงานไปเจอกับอะไร และเครื่องมือที่เราให้กับพนักงานของเรานั้น มันมีความสามารถเพียงพอที่จะเอาไปสู้รบกับคู่แข่งได้หรือเปล่า ไม่ใช้คาดหวังแต่ชัยชนะ แล้วผลักภาระความรับผิดชอบให้พนักงาน
ผู้ประกอบการยุคใหม่ ต้องมีเครื่องมือที่ดีพอให้กับลูกน้อง ควรที่จะเปิดกว้าง เรียนรู้ และรู้จักเทคโนโลยีใหม่ ๆ ถ้าอะไรที่สามารถนำมาใช้แล้วช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้ดีขึ้นได้ ก็ควรนำมาให้พนักงานได้ใช้
- รู้จักชีวิตของพนักงาน
ถ้าชีวิตส่วนตัวดี การทำงานก็จะดีขึ้น ดังนั้น ในฐานะที่เราได้เป็นหัวหน้างาน ได้เป็นเจ้านาย เราก็ต้องรู้ว่าพนักงานในเรื่องพื้นฐาน เช่น เขาชอบอะไรเพื่อที่เราจะสามารถให้ผลตอบแทนที่ตรงตามสิ่งที่เขาอยากได้ พื้นเพเป็นคนแบบไหน มาจากจังหวัดอะไร มีค่านิยมอย่างไร ครอบครัวเป็นแบบไหน และเป้าหมายของชีวิตอย่างไร เพื่อให้เราเข้าใจแรงจูงใจ เข้าใจแรงขับเคลื่อนภายในของเขาว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งเราที่เป็นหัวหน้าถ้าเข้าใจเรื่องนี้ก็จะช่วยให้เกิดการพัฒนาและยกระดับความสามารถของเขาให้สูงขึ้นได้
“ถ้าเราช่วยให้ลูกน้องเข้าใกล้เป้าหมายของชีวิต
มันก็คือการช่วยให้บริษัทเข้าใกล้เป้าหมายขององค์กรเช่นกัน”
- สื่อสารชัด เพื่อขจัดความไม่เข้าใจ
ความขัดแย้งจำนวนมากที่เกิดขึ้นในองค์กรนั้นเกิดมาจากการตีความเอาเองคนเดียว ดังนั้น เจ้าของบริษัทควรจะสร้างวัฒนธรรมที่เปิดพื้นที่สำหรับการสื่อสาร
- มีข้อสงสัย ให้คุย
- ไม่พอใจ ให้คุย
- ดีใจ ให้คุย
- ไม่ถูกใจ ให้คุย
รูปแบบการสื่อสารที่ดี ต้องทำให้เกิดการสื่อสารที่ชัด ขจัดข้อขัดแย้ง แฝงไว้ซึ่งทางออก การพูดตรงไม่ใช่ ด่ากัน แต่การพูดตรง สื่อสารตรงคือบอกว่า
- คุณให้ความหมายอย่างไร
- คุณรู้สึกกับเรื่องนั้นอย่างไร
- คุณอยากให้ตอบสนองแบบไหน เพื่อให้งานดีขึ้น
เพราะถ้าหากเราสามารถสื่อสารได้ตรงกัน ได้ชัด ปัญหาก็ไม่เกิด หรืออะไรที่เป็นข้อขัดแย้งก็สามารถพบทางออกได้
“การสื่อสารตรง ไม่ใช่การสื่อสารแบบหยาบคาย”
- สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความเป็นไปได้
- พนักงานบางคนไม่รู้ตัวว่าเก่งบางเรื่อง
- พนักงานบางคนไม่รู้ว่ามีดีบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับงาน พนักงานบางคนไม่ได้เรื่องงาน แต่ได้เรื่องคน
- พนักงานบางคนไม่เคยเห็นความเป็นไปได้ของตัวเอง ว่าตัวเองมีความสามารถที่จะทำอะไรได้บ้าง
- พนักงานบางคนไม่เคยคิดฝันอย่างยิ่งใหญ่
ดังนั้น หน้าที่ของเจ้านายคือสร้างความเป็นไปได้ใหม่ในใจพนักงาน เงินอาจจะช่วยให้พนักงานมีกิน มีใช้ มีชีวิต แต่แรงบันดาลใจจะช่วยให้พนักงานไม่หมดแรง
- ใช้ SMART GOALS ในการวางแผนการทำงาน
- Specific เจาะจง
- Measurable วัดได้
- Actionable ทำได้ มีขั้นตอน
- Realistic สมเหตุผล
- Timeline กำหนดระยะเวลา
- ฟังมากกว่าพูด ฟังให้ได้ยินสิ่งที่เขาไม่ได้พูด
เวลาเราฟังต้องฟังให้ลึกซึ้ง ฟังจากบริบทของเขา ฟังจากกรอบความคิดของเขา เขาเป็นพนักงานระดับไหน เจอเจ้านายแบบไหนมา ฟังความรู้สึกของเขา ไม่ใช่ฟังแค่ประเด็นที่เขาพูด และต้องฟังให้ออกว่าเขาอยากได้อะไร ฟังให้ได้ยินในสิ่งที่เขาไม่ได้พูด
ซึ่งทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งที่คนเป็นหัวหน้าควรไปฝึกฝนเลยก็คือ Facilitation conversation เพื่อให้การสนทนามีความลื่นไหลมายิ่งขึ้น
- พูดขอบคุณให้ติดปาก
มนุษย์ทุกคนอยากจะเป็นที่ต้องการ อยากได้รับการยอมรับ อยากภาคภูมิใจในตัวเอง อยากมีคุณค่า ดังนั้น จงพูดคำว่า “ขอบคุณ” ให้ติดปาก เพื่อให้พนักงานมีความสุขที่เรามองเห็นคุณค่าในตัวเขา
แต่มันไม่ใช่การหลอกใช้พนักงาน ให้มาทำงานเพื่อเรา ให้มาภักดีต่อเรา แต่มันคือการฝึกความมีเมตตา ซึ่งคุณธรรมของนี้ ผู้นำทุกคนควรจะมี เพราะความเมตตาจะนำความสุขมาสู่ทั้งผู้ให้และผู้รับ ก่อนที่เราจะไปชนะคู่แข่งที่อยู่ข้างนอก เราชนะใจตัวเองแล้วหรือยัง และก่อนที่เราจะให้พนักงานของเราออกไปสู้กับคู่แข่ง เราชนะใจพวกเขาแล้วหรือยัง
และทั้งหมดนี้ก็คือ ดึงศักยภาพทีมงานอย่างไรให้ดีมากขึ้น ซึ่งเทคนิคที่ผมให้ทั้ง 12 ข้อนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถจะนำเอาไปใช้ได้เลย เพื่อให้พนักงานของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะทำให้องค์กรมีคนเก่งเกิดขึ้นมาอีกมากมาย อันเกิดจากการอบรมบ่มเพาะของเราเอง