พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
ในช่วงที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าของธุรกิจหลาย ๆ คน มีโอกาสได้ฟังสัมภาษณ์คนที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ ในประเทศ และมีโอกาสได้อ่านวิธีคิดจากหนังสือเล่มต่าง ๆ ซึ่งผมก็สังเกตเห็นได้อย่างหนึ่งว่าแต่ละคนเหล่านี้จะมีช่วงที่เป็นจังหวะพิเศษที่จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป โดยที่ไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป แล้วก็อีกข้อหนึ่งที่ผมได้สังเกตเห็นก็คือจังหวะพิเศษเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ครั้งเดียว แต่มันมีครั้งที่ 2 3 4 ตามมาอีก ซึ่งคนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ในประเทศ เท่าที่ผมได้ลองนับดู จะมีจังหวะพิเศษเหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 4-5 ครั้ง
ดังนั้น วันนี้ผมจะมาชวนเราคิดกันว่า ถ้าชีวิตของเราได้เจอกับจังหวะพิเศษที่จะต้องตัดสินใจ เราจะทำยังไงที่จะทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพราะการตัดสินใจของเราในอดีตนั้นผูกพันมาถึงปัจจุบัน ส่วนการตัดสินใจในปัจจุบันจะผูกพันไปถึงอนาคต ปรากฏการณ์ของชีวิตจะแตกต่างออกไปอย่างสินเชิง ตามแต่สิ่งที่เราเลือกและตัดสินใจทำมัน
เพราะฉะนั้นฉากชีวิตของเราแต่ละคนจะเป็นแบบไหน ก็ขึ้นกับการตัดสินใจในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อนั่นเอง” ซึ่งในวันนี้สิ่งที่ผมอยากจะมาแบ่งปันจะมีอยู่ 3 เรื่องคือ
A. อะไรคือคำว่าหัวเลี้ยวหัวต่อ
B. วิธีในการตัดสินใจ
C. วิธีคิดเมื่อตัดสินใจไปแล้ว
A. อะไรคือคำว่าหัวเลี้ยวหัวต่อ
1. Excitement – ตื่นเต้น กับสิ่งที่จะได้มา
ความตื่นเต้นมันคือภาวะของการที่เรารู้สึกมีสิ่งเร้า หรือแรงผลักดันภายใน ซึ่งอาจจะเป็นเหมือนพลังงานที่ผุดขึ้นมากลางอก ทำให้เราตื่นตัว หัวใจเต้นแรง และทำให้เราอยู่เฉย ๆ ไม่ได้แล้ว เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายที่สุดคือเหมือนเวลาที่ใครบางคนถูกหวย หรือเวลาที่เราได้เลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงาน มันเป็นความตื่นเต้นกับสิ่งที่ได้มา เป็นความดีใจ ความพึงพอใจ
2. Feel of fear – ตื่นกลัว กับสิ่งที่อาจจะเสียไป
คนเรามีได้ มีเสีย เวลาที่เราได้มาเราก็อาจจะดีใจ แต่เวลาที่เราจะต้องเสีย ก็แน่นอนว่าไม่มีใครต้องการ หรือหวาดกลัว เมื่อเราจะต้องสูญเสียมันไป เช่น เวลาที่เราได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้างาน ในขณะที่เราตื่นเต้นดีใจ เราก็อาจจะมีความกลัว หรือความกังวลแทรกเข้ามาพร้อม ๆ กันด้วยก็ได้เหมือนกัน เพราะบางคนอาจจะกลัวว่าจะต้องเสียเวลาของชีวิตบางส่วนไป พร้อมงานอาจจะหนักขึ้น ความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น
3. Fundamental change – เปลี่ยนพื้นฐานชีวิต
หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วทำให้ชีวิตพื้นฐานของเราเปลี่ยนแปลงไป เหมือนเจ้าของธุรกิจหลาย ๆ คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งจะมีจุดหนึ่งที่เขาเปลี่ยนพื้นฐานของธุรกิจ เช่น จากการที่เราเป็นเจ้าของธุรกิจเพียงคนเดียว ก็กลายเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทสำหรับมหาชน เป็นต้น
B. วิธีการตัดสินใจ
1. Ituition – ใช้สัญชาตญาณ
ในเวลาที่คนเราเจอกับจังหวะหัวเลี้ยงหัวต่อนั้น วิธีการตัดสินใจแบบแรกที่หลายคนใช้ ก็คือการใช้สัญชาตญาณเป็นตัวกำหนด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย เพราะเป็นการตัดสินใจแบบที่ไม่ได้ใช้ข้อมูลมากนัก เพียงแค่ใช้ประสาทสัมผัสว่ามันน่าจะเป็นอย่างไร น่าจะพุ่งไปในทิศทางไหนที่คิดว่าทำแล้วอนาคตมันจะดีขึ้น
ตอนที่ผมตัดสินใจจัดสัมมนาสำหรับผู้ฟัง 1,000 คน ครั้งแรกในชีวิต ซึ่งต้องนั้นร่วมจัดกันกับเพื่อนแค่ 3 คนเท่านั้น ซึ่งมีเพื่อนผมคนหนึ่งถึงกับตัดสินใจขายคอนโดจนได้เงินมาราว ๆ 1.5 ล้านบาท มาเพื่อใช้ในการจัดงานสัมมนา ซึ่งถ้าหากทำลงไปแล้วเกิดไม่ประสบความสำเร็จ เฉลี่ยแล้วก็จะเสียเงินกันไปคนละ 5 แสนเป็นอย่างต่ำ
ซึ่งพอจัดงานขึ้นมาแล้วปรากฏว่าเพื่อนผมคนแรกทำยอดขายได้ 1.5 ล้าน คนที่สองทำยอดขายได้ 1.2 ล้าน ส่วนตัวผมเองทำยอดขายได้แค่ 3 แสน เรียกได้ว่ามีผมเพียงคนเดียวที่ขาดทุน
นี่คือตัวอย่างของการตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณแล้วเกิดความเสียหายขึ้นมา แต่ผมก็ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของตัวเอง และพยายามเรียนรู้จากมัน จนกระทั้งผมได้จัดงานสัมมนาสำหรับผู้ฟัง 1,000 คนอีกครั้ง โดยในครั้งนั้น ผมก็พลิกกลับมาทำกำไรได้หลายล้านในการจัดงานแค่ครั้งเดียว
ซึ่งการตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณนั้นเป็นการตัดสินใจที่ไม่มีข้อมูลอะไรเลย ดังนั้น จึงที่โอกาสที่จะเป็นได้ทั้งความสำเร็จ หรือความล้มเหลว
แต่ถึงกระนั้น ถ้าเราได้ฝึกฝน และทำมันบ่อย ๆ เราจะค้นพบอะไรบางอย่างที่ช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งการตัดสินใจจัดสัมมนาระดับ 1,000 คนของผมในปีต่อ ๆ มานั้น ผู้รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งทำ ก็ยิ่งง่าย เพราะการที่เราทำมันบ่อย ๆ เราจะเก่งขึ้น และมันจะกลายเป็นมาตรฐานที่เราสร้างมันขึ้นมาใหม่ภายในตัวเอง
“ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการถูกหวยแล้วรวย
แต่เกิดจากฝึกตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ
จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา“
2. Feeling – ใช้ความรู้สึก
ทุกคนน่าจะเคยผ่านการตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึกมาแล้ว เช่น ไม่ชอบใจเจ้านายเลย เจ้านายขี้บ่น เจ้านายเรื่องมาก ถ้าแบบนี้ลาออกมันเลยดีกว่า ซึ่งก็มีหลาย ๆ คนตัดสินใจลาออกเพราะไม่ถูกใจเจ้านาย หรือบางครั้งเราอาจจะรู้สึกไม่ชอบลูกค้าคนนี้เลย ชอบให้แก้งาน เรื่องเยอะ ทำงานไปสักพัก ยกเลิกสัญญากันไปก็มี
หรืออีกกรณีหนึ่งจะเป็นการตัดสินใจภายใต้ความรู้สึกกลัวการสูญเสียสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่แล้ว หรือว่ากลัวจะทำได้ไม่ดีพอ จึงตัดสินใจปฏิเสธไม่รับตำแหน่งสำคัญ ๆ ไป
ซึ่งหลาย ๆ ครั้งการตัดสินใจด้วยความรู้สึกนั้น มักจะเป็นการตัดสินใจแบบชั่ววูบ พอเวลาผ่านไปแล้ว เรามีสติขึ้นมา ก็จะคิดว่าไม่น่าตัดสินใจไปแบบนั้นเลย
3. Decision matrix – ตารางถ่วงน้ำหนัก
เป็นรูปแบบการตัดสินใจ ที่ใช้เหตุผลค่อนข้างเยอะ คือมีการทำตารางถ่วงน้ำหนัก ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งผมได้รับมอบหมายจากผู้บริหารให้เป็นคนดีแลเรื่องการย้ายสำนักงาน โดยผมจะต้องเป็นคนไปหาสถานที่ โดยตอนนั้นมันมีความก้ำกึ่งกันมาระหว่างสถานที่แรก กับสถานที่ที่สอง ซึ่งตัดสินใจยากมาก ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ก็เลยมาสร้างตารางถ่วงน้ำหนัก
โดยการสร้างตาราง สร้างเกณฑ์ที่จะวัด สร้างการถ่วงน้ำหนักให้คะแนน สมมุติถ้าเราทำในตาราง Excel ในส่วนของ Column แรกเป็นก็จะเป็น ทางเลือกที่ 1, 2, 3 เช่น สถานที่ที่ 1, สถานที่ที่ 2, สถานที่ที่ 3
Column ที่ 2 เป็นเกณฑ์วัดที่ 1 เช่น การจราจร (รถไม่ติด)
Column ที่ 3 เป็นเกณฑ์วัดที่ 2 เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน (ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ปั้นน้ำมัน โรงพยาบาล)
Column ที่ 4 เป็นเกณฑ์วัดที่ 3 เช่น ระบบขนส่งมวลชนดี (รถไฟฟ้า, รถเมล์)
Column ที่ 5 เป็นเกณฑ์วัดที่ 4 เช่น ความสวยงามน่าอยู่ น่าทำงาน
Column ที่ 6 เป็นเกณฑ์วัดที่ 5 เช่น สังคมโดยรอบมีความปลอดภัย
พอทำเป็นตารางออกมาก็จะได้เป็นลักษณะแบบนี้
สถานที่ | การจราจร | สิ่งอำนวยความสะดวก | ระบบขนส่งมวลชน | ความสวยงาม | ความปลอดภัย |
A | |||||
B | |||||
C |
เสร็จแล้วเราก็จะมาให้คะแนน ในแต่ละช่องเพื่อถ่วงน้ำหนักดู เพื่อจะทำให้เรารู้ว่า ตัวเลือกไหนเป็นตัวเลือกที่เราควรตัดสินใจมากที่สุด ซึ่งการใช้ตารางถ่วงน้ำหนักนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือเราจะต้องมีความซื่อสัตย์ในตัวเอง มีเหตุผลที่หนักแน่น และต้องไม่ให้คะแนนอย่างลำเอียง เนื่องจากมีสิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบในใจอยู่แล้ว ซึ่งมันจะกลายเป็นการให้คะแนนด้วยอารมณ์ ไม่ใช่ให้คะแนนเพราะเหตุผลที่รองรับ
4. อะไรคือข้อดี อะไรคือ ข้อเสีย
วิธีการนี้ก็เป็นการตัดสินใจแบบที่ใช้เหตุผลอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีความง่ายกว่าแบบตารางถ่วงน้ำหนัก เพราะไม่ได้มีอะไรซับซ้อน นั้นก็คือให้เราลองลิสต์รายการออกมา เพื่อให้เห็นภาพ และก็วิเคราะห์ดูว่าข้อดี ข้อเสียมันคืออะไร แล้วเราจะตัดสินใจแบบไหนได้บ้าง เพื่อคงรักษาข้อดีเอาไว้ หรือหลีกเลี่ยงข้อเสียที่จะเกิดขึ้น
C. วิธีคิดเมื่อตัดสินใจไปแล้ว
1. ความลำบากอยู่ไม่นาน
หลาย ๆ คนที่จะตัดสินใจครั้งสำคัญแล้วจะเกิดภาวะที่ไม่กล้าตัดสินใจ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ผมก็อยากจะให้พวกเราคิดเสียว่าความลำบากอยู่ไม่นาน เช่น ถ้าเราตัดสินใจไปแล้วพลาด ทำให้ตัวเองต้องลำบาก ก็คิดเสียว่าความลำบากอยู่ไม่นาน เดี๋ยวมันก็ผ่านไป
ซึ่งผมเองก็เคยมีประสบการณ์ในการลาออกจากบริษัทแห่งหนึ่งที่ผมรักมาก เพื่อย้ายไปอยู่บริษัทอื่น แต่ปรากฏว่าไปแล้วรายได้มันหายไปเยอะเลย แถมกำลังเรียนปริญญาโทอยู่ด้วย ยิ่งต้องใช้เงินเยอะมาก ซึ่งตอนนั้นผมถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ทำให้ตัวเองต้องลำบากสุด ๆ ตอนนั้นก็คิดว่าตัวเองพลาดไป
แต่พอถึงวันนี้ที่มันผ่านมาสิบกว่าปีแล้วมองย้อนกลับไป ผมก็เข้าใจว่า ที่ผมมีวันนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะประสบการณ์ต่าง ๆ ในอดีตที่ได้เจอะมาทั้งนั้นแหละ
ดังนั้น ถ้าหากใครที่ตัดสินใจไปแล้ว สถานการณ์ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ก็ให้บอกตัวเองเถอะว่าความลำบากมันอยู่ไม่นาน แล้ววันหนึ่งมันจะผ่านไป
2. ความสำเร็จก็อยู่ไม่นานเช่นเดียวกัน
เมื่อตัดสินใจถูกต้อง หรือทำจนสำเร็จแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าเราจะแช่อยู่กับการตัดสินใจที่ถูกต้องเหล่านั้นตลอดไป เพราะความสำเร็จก็อยู่ไม่นานเช่นกัน และถ้าเรารู้สึกว่ามันมั่นคงปลอดภัยดีแล้ว ไม่อยากจะขยับไปไหนแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือชีวิตของเราจะไม่มีการก้าวต่อไป
ดังนั้น ถ้าหากใครได้ตัดสินใจแล้วมันถูกต้อง ก็ให้มองหาเป้าหมายถัดไป ไม่ใช่เพื่อชื่อเสียง หรือเงินทอง แต่เป็นเรื่องของการขยายความสามารถของเราให้ทำได้ดียิ่งขึ้น เหมือนกับคนที่ประสบความสำเร็จระดับประเทศ หรือระดับโลกส่วนใหญ่ ที่เขาไม่เคยหยุดนิ่งที่จะสร้างเป้าหมายใหม่ ๆ แม้ว่าเขาจะทำความสำเร็จมาแล้วมากมาย
3. คนมักเสียใจกับเรื่องที่ไม่ได้ทำ
หลาย ๆ คนที่ต้องตัดสินใจเรื่องยาก ๆ แล้วไม่ยอมตัดสินใจ และปล่อยเวลาให้ผ่านไป ซึ่งผมอยากจะบอกว่าการที่เราไม่ยอมตัดสินใจนั้น มันก็คือการตัดสินใจอย่างหนึ่งเช่นกัน และสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเรารู้สึกเสียใจมากที่สุด ก็คือการไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำตั้งแต่ตอนนั้น
ดังนั้น ผมสนับสนุนให้ทุกคนได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง ดีกว่าปล่อยให้โอกาสในการตัดสินใจนั้นผ่านไป โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะในทุกสถานการณ์ที่เราต้องเลือก หากเราไม่เป็นผู้เลือก สถานการณ์มันจะเป็นคนเลือก โดยที่เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย
4. ตัดสินใจผิดจะสอนให้รู้จักปรับแผน
การตัดสินใจถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี สำหรับผมแล้วมันไม่ใช่ปัญหา แต่คนที่สำเร็จเขาจะยอมรับผลที่เกิดขึ้นในทุกการตัดสินใจ ดังนั้น เมื่อตัดสินใจไปแล้ว ผลมันเกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เราทำได้ต่อจากนั้นก็คือการปรับแผน เหมือนกับการที่เราเตรียมตัวจะเข้าป่า เราก็เตรียมตัวได้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แต่พอเราได้เข้าป่าจริง ๆ มันก็อาจจะมีบางเรื่องที่เราจะต้องปรับแผนใหม่ เช่น อาจจะทิ้งของบางอย่างไป เพราะมันหนัก ทำให้เดินไปช้าเกินไป
ต่อให้วางแผนดีแค่ไหน แต่เวลาที่ลงมือทำ มันก็มีโอกาสที่เราจะต้องปรับแผนได้เหมือนกัน ดังนั้น ไม่ต้องซีเรียสมากนักกับการตัดสินใจ แต่หลังจากนั้นแล้วเราค่อยไปปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เผชิญหน้า
5. เมื่อเป้าหมายชัด ทางลัดก็จะปรากฏ
ถ้าเรามีการกำหนดเป้าหมายได้ชัด ในระดับ 5 – 10 ปี โดยเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลง เราจะพบทางลัดของสิ่งเหล่านั้นได้เอง
ซึ่งล่าสุดผมได้ไปช่วยวางกลยุทธ์ให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ต้องมีการ Transform ธุรกิจครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ขององค์กร ซึ่งบริษัทนี้ก่อตั้งมา 30 ปีแล้ว และต้องการที่จะเปลี่ยน scale ธุรกิจจากระดับ 1,000 ล้าน ไปเป็นระดับ 10,000 ล้านให้ได้ ผมก็เลยถาม CEO ท่านนี้ว่า อีก 10 ปีข้างหน้า เขาอยากจะเปลี่ยนบริษัทนี้ให้กลายเป็นอะไร ซึ่งมันก็คือการตั้งเป้าหมายให้ชัดนั้นเอง และถ้าเป้าหมายชัด ทางลัดก็จะปรากฏ
วัดนั้นผมก็เลยยก 2 สถานการณ์ให้เขาดูว่า ถ้าเขาเลือกแบบนี้แล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าเขาเลือกแบบนั้นแล้วจะเป็นอย่างไร พร้อมยกตัวอย่าง strategy ที่แตกต่างกันให้ฟัง ซึ่งสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับ CEO แล้วว่าจะตัดสินใจไปทางไหน
ดังนั้น วันนี้เราอยู่ในปี 2021 ชีวิตอาจจะลำบากอยู่ ธุรกิจอาจจะลำบาก ไปต่อไม่ได้เลย เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจใหม่ ว่าเราต้องการจะกลายไปเป็นอะไร
และทั้งหมดนี้ก็คือ ตัดสินใจอย่างไรในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางธุรกิจ ซึ่งถือเป็นแนวทางในการตัดสินใจกว้าง ๆ ที่ทำให้เรามองเห็นภาพรวมว่าจะมีแนวทางอย่างไร หากเราจะต้องตัดสินใจในช่วงสำคัญของธุรกิจ ซึ่งไม่ว่าเราจะเป็นใคร ไม่ว่าเราจะกำลังเผชิญกับอะไรอยู่ ตราบใดที่เรารู้ว่าเราคือผู้ตัดสินใจ นั้นคือการที่เราเป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเราเอง และจงกล้าหาญที่จะเป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเอง