พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
ผมเองก็เคยเป็นคนหนึ่งที่คิดสร้างการทำธุรกิจคือการหาเงินให้เยอะ ๆ แล้วก็คิดว่าจะหาเงินยังไง หาลูกค้ายังไง แล้วเราก็ตั้งเป้าหมายในการทำงานแบบนั้น จนกระทั่งเมื่อหลายปีก่อนผมก็มีโอกาสได้ยกระดับความคิด และยกระดับวิธีการทำธุรกิจของตัวเอง จากการได้ไปเรียนสัมมนาที่ต่างประเทศ จึงได้เข้าใจคำว่า Business valuation หรือการประเมินค่าทางธุรกิจ
ถ้าเราจะประเมินมูลค่าของธุรกิจว่ามีค่าเท่าไหร่ มันไม่ใช่การคิดคำนวณจากยอดขายเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ต้องคิดจะมีอยู่ 3 วิธีหลัก ๆ ด้วยกัน
ถ้าเป้าหมายธุรกิจไม่ยอดขาย สิ่งที่ต้องโฟกัส ได้แก่
1. ธุรกิจจะขายได้ไหม
เกือบทุกคนที่เริ่มต้นทำธุรกิจ ไม่มีใครคิดว่าจะขายธุรกิจ แต่แทบทุกคนจะคิดว่าธุรกิจที่สร้างขึ้นมาเป็นเหมือนแก้วตาดวงใจ ที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตา จะขายไม่ได้เด็ดขาด ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ก็ไม่ผิด แต่ถ้าเราจะยกระดับการทำธุรกิจขึ้นไปอีกขั้น เราจะต้องโฟกัสว่า ณ วันใดวันหนึ่งในอนาคตเราจะขายธุรกิจที่เราสร้างมาได้ไหม
2. เราจะระดมทุนได้ไหม
ธุรกิจของเราจะต้องมีความน่าสนใจมากพอ เพราะถ้าธุรกิจที่ไม่น่าสนใจ ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะไม่ดึงดูดนักลงทุนได้ และถ้าอยากให้คนอื่นมาลงทุนเราจะต้องมาพิจารณาว่าเราควรจะทำอย่างไร เพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุนเหล่านั้น
3. ถ้าไม่มีเราธุรกิจมันอยู่ต่อได้ไหม
เราจะเห็นได้ว่าบางบริษัทมีอายุยืนเป็นร้อยปี แต่บางบริษัทอยู่ได้ไม่กี่ปีก็ต้องปิดตัวลง ดังนั้น ในการทำธุรกิจเราควรที่จะต้องถามตัวเองในทุก ๆ วันว่าถ้าไม่มีฉันแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ทีมงานจะทำได้ไหม ถ้าเรามีมุมมองแบบนี้ วิธีการทำงานของเราจะเปลี่ยนแปลงไป เราจะไม่ใช่คนที่ตัดสินใจในทุก ๆ อย่าง แต่เราจะสร้างระบบที่ช่วยในการตัดสินใจ และถ้าเราอยากให้ทีมงานของเราเก่งขึ้น เราจะต้องมีการมอบหน้าที่ให้ทีมงานของเรามีโอกาสในการเจรจาต่อรองในขอบเขตความเสียหายที่ควบคุมได้
เมื่อเราโฟกัสที่ 3 เรื่องนี้ วิธีในการทำธุรกิจของเราก็จะเปลี่ยนแปลงไป เพราะจะไม่ได้สนใจในการวิ่งไล่ล่าเงินเพียงอย่างเดียว และเมื่อเราโฟกัสที่ 3 อย่างนี้ สิ่งที่จะมาชี้วัดว่าธุรกิจของเรามีความก้าวหน้าก็คือการทำ Business Valuation
Business Valuation
1. Business based valuation
การประเมินมูลค่าทางธุรกิจจากทรัพย์สินที่มีอยู่ จะช่วยให้เราโฟกัสว่าเวลาเราทำธุรกิจใช้จ่ายเงินทั้งหมดจะช่วยในการสร้างทรัพย์สินหรือไม่ ถ้าหากว่าช่วยในการสร้างสร้างทรัพย์สินมากขึ้นในธุรกิจก็จะทำให้มูลค่าทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เช่น เราซื้อตึกเป็นของตัวเอง บริษัทก็จะมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะขายธุรกิจ หากเรามีทรัพย์สินในธุรกิจเท่ากับ 100 ล้าน แล้วคุณมีหนี้สินอยู่ในงบการเงินอีก 30 ล้าน ก็จะเหลือ 70 ล้าน ดังนั้น ก็จะหมายความว่าเรามีมูลค่าบริษัทเท่ากับ 70 ล้าน
แต่สมมุติว่า ถ้าเรามีทรัพย์สินอยู่ 100 ล้าน ในเวลาที่เราขายนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะขายได้ 100 ล้านเสมอไป เหมือนกับเวลาเราซื้อโต๊ะ เก้าอี้ มาใช้ในบริษัท อาจจะซื้อมา 1,000 แต่ตอนขายก็อาจจะขายได้ 300 ก็ได้ ดังนั้น เราจะต้องมาพิจารณาในเวลาที่ขายว่าจริง ๆ แล้วมันขายได้เท่าไหร่ เพราะบางเทคโนโลยี บางเครื่องจักร ซื้อมาใช้งานแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปมูลค่ามันก็จะลดลง อาจจะเกิดจากความเสื่อมโทรมหลังการใช้งาน หรือมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาแทนที่ เราก็จะต้องไปวัดกันที่เวลาขาย
ถ้าใครที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ ผมก็แนะนำว่าให้เราไปเรียนหลักสูตรการบัญชีทางธุรกิจเพิ่มเติม
2. Earning valuation
การประเมินรายได้ ความสามารถในการหาเงินที่มาจากอนาคต เช่น ถ้าในอนาคตบริษัทสามารถที่จะทำยอดขายได้ 100 ล้านบาท ก็เอาค่าเฉลี่ยหารด้วย 5 เปอร์เซ็นต์ (Capitalization Rate) ก็จะเท่ากับ 2,000 ล้าน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการประเมินอีกแบบคือการประเมินจากเงินที่จะได้รับในอนาคต เช่น ถ้าเป็น Netflix เขาก็จะเอาจำนวนสมาชิกไปคำนวณ ถ้ามีคนสมัครสมาชิก 1 ปี ตอนนี้พึ่งใช้ไปได้แค่ 1 เดือน ก็แสดงว่าบริษัทยังจะมีรายได้เข้ามาอีก 11 เดือน เขาก็จะมีการคิดคำนวณโดยจะมีหักอัตราเงินเฟ้ออะไรต่าง ๆ ออกไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการการเงิน การธนาคาร การลงทุน และเครดิต
ซึ่งถ้าเราที่ใช้วิธีนี้ในการประเมินมูลค่าทางธุรกิจ เราก็จะไม่ได้มุ่งที่จะหาเงินก้อนโตในปัจจุบัน แต่สิ่งที่เราสนใจคือการทำให้ลูกค้าซื้อสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง อาจจะเป็นเงินก้อนเล็ก ๆ ก็ได้ แล้วสามารถขายได้เรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์รายได้ในอนาคตว่าจะมีความสม่ำเสมอ
3. Market value approach
ในตลาดเขาซื้อขายกันเท่าไหร่ ถ้าบริษัทที่ใกล้เคียงกับเราขายกันมูลค่า 1,000 ล้าน โครงสร้างคล้าย ๆ กับเรา จำนวนลูกค้าพอ ๆ กัน รายได้พอ ๆ กัน มูลค่าในตลาดก็จะพอ ๆ กับเรา
การสร้างมูลค่าทางธุรกิจของเราให้เพิ่มขึ้น
- ทำธุรกิจที่มีเป้าประสงค์ยิ่งใหญ่มากพอที่จะทำให้การทำธุรกิจนั้นมันมีคุณค่า มูลค่า และคนอยากจะเข้ามาทำธุรกิจด้วย ทำให้เราสามารถทิ้งตำนานเอาไว้ได้
- มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง บริษัทที่ซื้อมาขายไปเพียงอย่างเดียวมูลค่าไม่เท่ากับบริษัทที่มีนวัตกรรมภายในองค์กร ดังนั้น เราควรโฟกัสที่การสร้างนวัตกรรม
- จ้างทีมงานที่ใช้ เพราะทีมงานที่ใช่จะสามารถทำงานแทนคุณได้ บางครั้งการทำ Valuation เราดูไปถึงผู้บริหารด้วยว่า ใครเป็นผู้บริหาร
- ต้องมีระบบในการหาลูกค้าใหม่ได้ทุกวัน ถ้าไม่มีมูลค่าทางธุรกิจจะลดลง
- กระจายรายได้ มีรายได้หลายทาง พยายามอย่าให้ธุรกิจมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือมีรายได้เยอะ ๆ แค่บางเดือน แล้วรายได้หายไปในอีกหลายเดือน
- มีกระบวนการในการลดค่าใช้จ่ายคงที่
- มีความสามารถในการเพิ่มราคาในทุก ๆ ปี ถ้าเราไม่สามารถขึ้นราคาได้ในทุก ๆ ปี สินค้าของเราขายเท่าเดิม แต่ต้นทุนในการผลิตจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้กำไรบริษัทลดลงไปเรื่อย ๆ
ดังนั้น สรุปว่าการทำธุรกิจ เราจะต้องสร้างทรัพย์สิน และความสามารถที่จะหาเงินในอนาคต ถ้าเกิดว่าเราทำได้นักธุรกิจก็จะอย่างมีส่วนร่วมลงทุนในการทำธุรกิจของเรา ถ้าวันนี้เรายังไม่มีจุดขายในธุรกิจของเรา เราก็จำเป็นที่จะต้องสร้างมันขึ้นมา