พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
เชื่อได้ว่าเกือบทุกคนที่เริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง มักจะเริ่มต้นด้วยใจมาเป็นอันดับแรก แต่ในหลาย ๆ ครั้ง ก็จะมีคนมาบ่นกับผมว่า เขาได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ และธุรกิจของเขาก็ดูเหมือนว่าจะไปได้สวย แต่เมื่อถึงสิ้นปีทีไร ผลกำไรกลับไม่เหลือ เมื่อผมได้ฟังแล้ว ก็เข้าใจในทันทีเลยว่าจะต้องมีข้อผิดพลาดอะไรบางอย่างในการทำธุรกิจแน่ ๆ และถ้าเราแก้ไขมันได้ ก็จะถือเป็นทางออกในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ธุรกิจเติบโต และผลกำไรก็ไม่หดหายไปไหน
ดังนั้น เรามาดูสาเหตุของการ ทำธุรกิจด้วยใจ แต่ทำไมกำไรไม่เหลือ! กันเลย…
1. ต้นทุนไม่สะท้อนความจริง
การคิดคำนวณต้นทุนถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้เราสามารถตั้งราคาขายได้อย่างสมเหตุสมผล แต่คนจำนวนมากมักจะมีความผิดพลาดในขั้นตอนนี้ นั้นก็คือ การไม่บวกเงินเดือนของตัวเองเข้าไปในการคำนวณต้นทุนสินค้า เพราะคิดว่าเงินของบริษัทก็เป็นเงินของเราอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินค่าจ้างตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป ถ้าหากเราจะนำมาใช้ในการทำธุรกิจ
เนื่องจากบริษัทถือเป็น นิติบุคคล ซึ่งแปลว่าเป็น บุคคลตามกฎหมาย ดังนั้น วิธีการที่ถูกต้องในการทำธุรกิจ เราจะต้องแยกบริษัทกับตัวเราออกจากกัน รวมถึงจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณค่าจ้างของตัวเราเอาไว้ด้วย ไม่ใช่นำไปปะปนกับรายได้ของบริษัท เพราะถึงแม้ว่าเราจะเป็นเจ้าของบริษัท แต่ในการทำธุรกิจ เราก็ถือเป็นพนักงานคนหนึ่งของบริษัท หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัว ที่เขามาช่วยงานเรา พวกเขาก็ถือเป็นพนักงานเหมือนกัน ดังนั้น จะต้องมีการจัดสรรงบประมาณค่าจ้างไว้ให้อย่างสมเหตุสมผล
ถ้าการทำธุรกิจไม่มีการจัดสรรเงินเดือนของตัวเองเอาไว้ สิ่งที่จะตามมาก็คือภาวะ “ต้นทุนไม่สะท้อนความจริง” ทำให้ในเวลาที่เราตั้งราคาสินค้า เราจะไม่มีการบวกต้นทุนค่าใช้จ่ายตรงนี้เข้าไปด้วย ทำให้สินค้าของเรามีราคาต่ำกว่าความเป็นจริง และในท้ายที่สุด ความคุ้มทุนในการขายก็ไม่เกิด หรือขายได้แต่ไม่มีกำไรนั้นเอง
รวมถึง ถ้าหากว่าเราไม่มีการตั้งเงินเดือนของตัวเองเอาไว้อย่างสมเหตุสมผล ตรงตามความเป็นจริง เพราะคิดว่าธุรกิจนี้เป็นของเราอยู่แล้ว จึงตั้งเงินเดือนให้กับตัวเองต่ำมาก ๆ แต่การทำงานนั้นหนักมาก ทุ่มเทสุด ๆ คิดแต่เรื่องงานตลอดเวลา ไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เพราะรักในธุรกิจนี้ แต่ถ้าถึงวันหนึ่งข้างหน้าเราทำไม่ไหวแล้ว อยากจะพัก เราก็จะต้องจ้างคนอื่นมาทำงานแท้เรา ซึ่งปัญหาที่จะตามมาก็คือ ภาระงานในบทบาทหน้าที่ของเราจะไม่สมดุลกับค่าจ้างนั้นเอง จนสุดท้ายต้องไปปรับโครงสร้างของการจัดสรรงบประมาณกันใหม่
2. ตั้งราคาไม่เผื่อภาษี
ภาษีถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง ที่เราไม่มีวันหนีพ้น แต่สำหรับบางคนเมื่อเริ่มทำธุรกิจใหม่ ๆ ก็มักจะดำเนินธุรกิจโดยไม่เผื่อภาษี รวมถึงบางคนยังพยายามหากลวิธีต่าง ๆ เพื่อหลบหลีกการจ่ายภาษีไปเลยก็มี เพราะมองว่าภาษีเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เราไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งได้ แต่การคิดแบบนี้ ถือว่าผิดพลาดมาก เพราะถ้าวันหนึ่งบริษัทของเราเติบโตจนยอดขายเกินฐานภาษีที่กฎหมายกำหนดไว้ สุดท้ายเราก็หนีไม่พ้นอยู่ดี แถมดีไม่ดีอาจจะโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังอีกด้วย
ดังนั้น ในการเริ่มต้นทำธุรกิจ เราควรจะต้องบวกต้นทุนด้านภาษีเข้าไปด้วย เพราะการดำเนินธุรกิจด้วยระบบแบบแผนที่ถูกต้องตั้งแต่วันแรก จะมีผลดีในระยะยาว คือเมื่อธุรกิจของเราโตขึ้น ปัญหาเรื่องของภาษีจะไม่มากระทบกับการบริหารจัดการงบประมาณของบริษัท
รวมถึงการตั้งราคาสินค้าต่าง ๆ โดยได้เผื่อค่าภาษีเข้าไปด้วย จะทำให้เราได้ต้นทุนของสินค้าที่แท้จริง และสามารถกำหนดราคาของสินค้าได้อย่างถูกต้อง ทำให้เกิดความคุ้มทุนในการขายสินค้า
นอกจากนี้ในการทำธุรกิจ เป็นสิ่งสมควรอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการทำบัญชีมาเป็นที่ปรึกษา เพราะการมีที่ปรึกษาซึ่งมีความชำนาญ จะทำให้เราสามารถวางแผนด้านภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ตั้งราคาไม่เผื่อการพัฒนา
หลายคนพยายามที่จะทำธุรกิจต่าง ๆ ด้วยตัวเอง หรือพยายามใช้พนักงานแค่ไม่กี่คนในการทำงาน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ในระยะยาวเมื่อบริษัทเติบโตขึ้น เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเพิ่มพนักงาน หรือเพิ่มเทคโนโลยีผ่อนแรงต่าง ๆ เข้ามาในระบบงานของเราได้
รวมถึงการที่ธุรกิจจะเติบโตขึ้นได้นั้น ภายในองค์กรจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นส่วนหนึ่งในระบบการทำงานที่ทุกบริษัทจะต้องมี ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคน หรือพัฒนาเทคโนโลยีก็ตาม ดังนั้น เราควรจะมีการตั้งงบประมาณที่ชัดเจนสำหรับการพัฒนาธุรกิจ โดยที่งบประมาณในส่วนนี้ จะไม่ใช่การลงทุนครั้งเดียวแล้วจบ เพราะเทคโนโลยีต่าง ๆ ย่อมมีการปรับตัวอยู่เสมอ หรือแม้แต่ในส่วนของพนักงานเองก็เช่นเดียวกัน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน และจะต้องมีการทำเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่ทำครั้งเดียวแล้วจบ
ดังนั้น เมื่อเรารู้ต้นทุนด้านการพัฒนาธุรกิจแล้ว เราก็ต้องนำไปบวกเป็นต้นทุนของตัวสินค้าด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งราคาที่สมเหตุสมผล ตรงตามต้นทุนที่แท้จริงนั้นเอง
5. ตั้งราคาไม่เผื่อค่าการตลาด
ถ้าหากเราอยากจะให้ธุรกิจเติบโตมีผลกำไร เราจะต้องให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายด้านการตลาดอย่างขาดไม่ได้ ผมขอยกตัวอย่างร้านขายก๋วยเตี๋ยว ซึ่งปัจจุบันนี้มีหลายร้านที่ผันตัวเองไปใช้บริการแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ในการนำส่งอาหารให้ไปถึงมือลูกค้า แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายร้านที่มองว่าการใช้บริการแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้นทุนที่แพงเกินไป หักต้นทุนแล้วแทบไม่เหลือกำไร
ซึ่งความผิดพลาดของแนวคิดนี้คือ เจ้าของธุรกิจต้องเข้าใจก่อนว่า การที่ลูกค้าสั่งซื้อผ่านระบบเดลิเวอรี่นั้น เขามีความคาดหวังเป็นพิเศษ คืออยากให้เอาอาหารไปส่งที่ให้บ้าน แม้ว่าจะต้องจ่ายแพงเขาก็ยอม ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว เราก็สามารถจะบวกค่าต้นทุนตรงนี้เข้าไปในราคาขายได้ โดยถือเป็นค่าการตลาดอย่างหนึ่งนั้นเอง
และถ้าหากเรามาพิจารณาร้านก๋วยเตี๋ยวสองแบบที่กล่าวมาข้างต้น ก็เดาได้ไม่ยากว่าร้านที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ จะมีโอกาสในการขายมากกว่า และมีโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต ขยายสาขา และมีผลกำไรมากกว่า เนื่องจากการสร้างความร่วมมือกันในการทำธุรกิจ จะถือเป็นสิ่งที่ช่วยขยายขอบเขตความสามารถในธุรกิจให้มีความกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น จนทำให้เกิดยอดขายและผลกำไรเพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย
ดังนั้น การทำธุรกิจ เราจะต้องคิดให้ใหญ่ และคิดให้ไกล คือคิดเผื่อหลาย ๆ ทาง สำหรับการทำการตลาดเพื่อที่จะเพิ่มยอดขายและสร้างผลกำไร และที่สำคัญที่สุด คือเรื่องของการจัดสรรงบประมาณด้านการตลาด ถ้าเรามีความชัดเจนมากพอ เราจะสามารถนำเอาต้นทุนในส่วนนี้ ไปบวกเป็นต้นทุนการผลิต และกำหนดเป็นราคาขายที่สมเหตุสมผลได้นั้นเอง
5. การทำธุรกิจแบบตั้งรับ
สิ่งที่ผมไม่สนับสนุน คือการทำธุรกิจแบบตั้งรับ เพราะการทำธุรกิจแบบนี้มีโอกาสที่จะล้มเหลวได้มาก เนื่องจากเป็นการทำธุรกิจที่ไม่มีแบบแผน ไม่มีกลยุทธ์ เป็นการทำไปแบบเรื่อย ๆ ถ้าวันไหนมีลูกค้าก็ดีใจ ถ้าวันไหนลูกค้าไม่มีก็เสียใจ
ซึ่งในมุมมองของผม ความเชี่ยวชาญและความมั่นใจของผมในการทำธุรกิจนั้น จะเกิดมาจากการวางแผนทั้งสิ้น ในทุก ๆ กระบวนการ เราจะมีแผนเตรียมเอาไว้ล่วงหน้าเสมอ ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เราจะสามารถปรับตัวได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ถ้าวันหนึ่งข้างหน้าธุรกิจของเรา เจอปัญหายอดขายตก เพราะเศรษฐกิจไม่ดี เราจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร จะใช้กลยุทธ์อะไรในการกระตุ้นยอดขาย จะจัดสรรงบประมาณอย่างไร จะต้องตั้งราคาขายมากน้อยแค่ไหน และเราจะต้องมีการเตรียมทั้งแผนหลัก และแผนสำรองเอาไว้ไว้หลาย ๆ ทาง ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจเช่นนี้ ถือเป็นการทำธุรกิจที่มีความปลอดภัย มีวิสัยทัศน์ มีหลักการ และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าการทำธุรกิจแบบตั้งรับนั้นเอง
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือ วิธีการแก้ไขข้อผิดพลาดของการ ทำธุรกิจด้วยใจ แต่ทำไมกำไรไม่เหลือ! และแม้ว่าจะเป็นเพียงสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่การที่เราสามารถปรับเปลี่ยนข้อผิดพลาดต่าง ๆ เหล่านี้ ให้กลับเข้ามาอยู่ในลักษณะที่ถูกต้องได้นั้น ก็จะถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราทำธุรกิจได้อย่างราบรื่น มีความสุขใจ และมีผลกำไรเป็นสิ่งตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็น