พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
สิ่งที่จะทำให้มนุษย์เป็นคนที่ดีขึ้นได้ เกิดจากการที่เราไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เคยมีคนกล่าวเอาไว้ว่า โลกนี้จะไม่ได้ให้สิ่งที่เราอยากจะได้ แต่จะให้ในสิ่งที่เราเป็น ดังนั้นการที่เราอยากจะเป็นผู้ประกอบการที่ดีขึ้นได้นั้นอาจจะยังไม่พอ แต่เราจะต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้ประกอบการที่ดีขึ้น และถ้าเราเป็นผู้ประกอบการที่ดี โลกก็จะให้สิ่งที่เหมาะสมสำหรับเรา
ดังนั้น วันนี้ผมจะให้แนวทางว่า ทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้ประกอบการที่ดีขึ้น ตอนที่ 2 ซึ่งมีเนื้อหาต่อเนื่องกันจากในตอนที่ 1 ซึ่งเรื่องราวจะเป็นอย่างไร เราไปดูกันต่อเลย
10. Build a great team
เวลาที่เราพูดถึงการสร้างทีม หลายคนอาจจะพุ่งประเด็นไปที่การสร้างพนักงาน หรือลูกน้องที่จะมาทำงานให้เรา ซึ่งก็ไม่ได้ผิด แต่ในความเป็นจริง คำว่าการสร้างทีมยังร่วมไปถึงคนที่เป็นหุ่นส่วนทางธุรกิจ เป็นพันธมิตร เป็นพาร์ทเนอร์ เป็นคนที่ผลิตสินค้าให้เรา หรือแม้แต่ลูกค้าของเราก็สามารถที่จะดึงมาเป็นทีมของเราได้ ขึ้นอยู่กับบริบทของสินค้าที่เราทำ
11. Hire character & values
ในเวลาที่เราจะทำงานกับใครก็ตาม เวลาจะหาคนมาร่วมงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำ หรือฟรีแลนซ์ก็ตาม ถ้าเราอยากจะเป็นผู้ประกอบการที่ดี เราจะไม่ได้มองแค่เรื่องความสามารถของบุคคลนั้นเพียงอย่างเดียว แต่เราจะมองถึงทัศนคติของเขาด้วย ว่าเขาเป็นคนอย่างไร เพราะเรื่องนี้จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม รวมถึงถ้าเป็นคนที่ทัศนคติ หรือค่านิยมไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เรากำลังจะทำ ก็จะกลายเป็นอุปสรรคของการสร้างทีมด้วยเช่นกัน
12. Plan for raising capital
เงินไม่เคยหายไปจากโลกนี้ แต่คำถามที่สำคัญก็คือ เงินมันหมุนเวียนไปอยู่ที่ไหน ถ้าเราตอบคำถามนี้ได้แล้วพาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น เราก็จะเข้าถึงเงิน ถ้าเงินเปรียบเหมือนกระแสน้ำ การทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จก็คือการที่เราพาตัวเองไปขวางกระแสน้ำ เมื่อเราไปยืนอยู่ตรงจุดนั้น ไม่ว่าเราจะอยากเปียกหรือไม่ก็ตาม สุดท้ายเราก็ต้องเปียก
ดังนั้น วันนี้ถ้าเราจะทำธุรกิจ อย่าพาตัวเองเหมือนไปยืนอยู่กลางทะเลทราย แล้วฟูมฟายบอกว่าไม่เห็นมีน้ำเลย เพราะสุดท้ายแล้ว ที่เราไม่เจอน้ำ เพราะเราพาตัวเองไปอยู่ในที่ไม่ถูกควรต่างหาก
รวมถึง ถ้าหากเราต้องการจะมีทุน เราก็จะต้องมีแผนในการระดมทุนเอาไว้ด้วย เพราะหากว่าเรามีคุณสมบัติที่ดี มีทีมงาน มีระบบการทำงาน มีตลาดรองรับ สุดท้ายการที่เราจะระดมทุนก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะโลกนี้มีเงินอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด เพียงแต่เราจะเข้าไปยืนอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องได้หรือเปล่า
13. Setting goals
ในแต่ละปีเราควรจะมีเป้าหมายที่ท้าทายตัวเอง ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จในธุรกิจ เราจะต้องตั้งเป้าหมายให้ใหญ่เอาไว้ก่อน และเมื่อมีเป้าหมายที่ใหญ่แล้ว ก็จะนำไปสู่การมีกลยุทธ์ที่ใหญ่ด้วย เช่น เราอาจจะมีการตั้งเป้าเอาไว้ว่าปีนี้จะต้องมีงานใหญ่ที่สำเร็จ 3 งาน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนแบบก้าวกระโดด
ดังนั้น เป้าหมายกับการกระทำจะต้องสอดรับกัน ถ้าเรามีเป้าหมายยิ่งใหญ่ แต่การกระทำของเราเหมือนเดิม มันก็ไม่มีผลลัพธ์ที่แตกต่าง
14. Learn from mistakes
ผู้ประกอบการที่ดีจะต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดให้ได้ อย่าปล่อยให้ความผิดพลาดผ่านไป แล้วผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมเองก็เคยรู้จักกับญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์มาก ๆ ชอบทำธุรกิจ และมีไอเดียในการทำธุรกิจใหม่ ๆ เสมอ แต่ว่ากลับไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจเลย จนกระทั่งสุดท้ายก็เสียชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย โดยที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำเลย
สิ่งที่เราจะต้องยอมรับก็คือ สังคมไทยเราวันนี้ จะชื่นชมคนที่ประสบความสำเร็จ แต่จะทับถมคนที่ผิดพลาด ดังนั้น ถ้าเราคิดจะเป็นผู้ประกอบการที่ดีขึ้น ผมบอกได้เลยว่าอย่าไปใส่ใจกับการดูถูกของคนอื่น แต่เราควรจะเสียใจถ้าหากว่า เมื่อเราผิดพลาดแล้วไม่ได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งเหล่านั้นเลยต่างหาก
15. Know your customers
ผู้ประกอบการที่ดีจะไม่สนใจเพียงแค่สินค้าอย่างเดียว แต่เราควรจะฝึกฝนความสามารถในการปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา เรียนรู้ว่าลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าลูกค้าเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยน เราจะต้องใส่ใจลูกค้าเป็นอันดับแรก ถ้าเราใส่ใจลูกค้า เราก็จะรู้ว่ากระแสของเงินจะไหลไปที่ไหน เพราะเงินมาจากลูกค้า เราจึงต้องโฟกัสที่ลูกค้าของเรา
16. Ask for feedback
แม้ว่าเราจะเป็นผู้ประกอบการ มีลูกน้องเยอะแยะมากมาย แต่เราควรจะต้องถามความคิดเห็นจากลูกค้าบ้าง ไม่ใช่ฟังรายงานของลูกนองเพียงอย่างเดียว การที่เราถามความคิดเห็นจากลูกค้า จะทำให้เราไหวตัวทัน หากมีอะไรเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่รอจนปัญหามันเกิดแล้วเราค่อยมาตามแก้ เพราะถึงตอนนั้นธุรกิจอาจจะล้มไปแล้วก็ได้
รวมถึงการที่เราเข้าถึงลูกค้า ลูกค้าก็จะไว้วางใจเรา รักเรา ถ้าถึงขั้นนั้นได้ มันไม่ใช่เรื่องการค้าขายแล้ว แต่มันเป็นเรื่องมิตรภาพและความไว้วางใจกัน ซึ่งจะเป็นความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นมาก
17. Spend wisely
ระมัดระวังในการใช้เงิน แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว เช่น ใครวางบิลมาก็ดึงเวลาออกไป ไม่อยากชำระหนี้ แบบนี้ใช้ไม่ได้ แต่การระมัดระวังทางการเงิน หมายความว่าเราจะต้องรู้ว่าอะไรจำเป็นที่จะต้องจ่ายก็ต้องจ่าย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีในการทำธุรกิจ เราจะจ่ายในสิ่งที่ควรจะจ่าย และไม่ใช่จ่ายแบบไร้เหตุผล
9. Over deliver
ผู้ประกอบการที่ดีจะต้องเป็นพวกที่เรียกว่า “จ่ายร้อย เล่นล้าน” ซึ่งเรื่องนี้จะเน้นย้ำบ่อยมาก ถ้ามีใครเข้ามาขอคำปรึกษาหรือมาเรียนกับผม เพราะการที่เราหยิบยื่นสิ่งที่ดีให้คนอื่นจนเกินความคาดหมาย ไม่ได้แปลว่าเรากำลังเสียเปรียบ แต่ผมเชื่อว่าในวันหนึ่งสิ่งดี ๆ ที่เราทำเหล่านั้นจะย้อนคืนกลับมาหาเรา
ผมเองในช่วงนี้ก็เข้าใจว่าคนทำธุรกิจหลาย ๆ คนกำลังเผชิญกับปัญหา ก็เลยคิดว่าสิ่งที่ทำได้ก็คือการช่วยนำเสนอข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ในการทำธุรกิจ หลักสูตรบางอย่างที่ผมไปเรียนมาจากต่างประเทศ เสียเงินไปหลายแสนบาท แต่ผมเอามาแบ่งปันแบบฟรี ๆ หรือถ้าทำเป็นหลักสูตรก็สอนในราคาแค่หลักพัน เพราะอยากจะช่วยคนที่ประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้
ดังนั้น ถ้าวันนี้เราบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี มันก็ไม่ได้แปลว่าเราจะทำเรื่องดี ๆ ไม่ได้ ถ้าเราคิดจะเป็นผู้ประกอบการที่ดี เราจะต้องส่งมอบสิ่งดี ๆ ที่เกิดความคาดหมายให้กับลูกค้า
และทั้งหมดนี้ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้ประกอบการที่ดีขึ้น ตอนที่ 2 ซึ่งถือเป็นตอนจบของหัวข้อนี้ ที่ผมหวังว่าจะเป็นกำลังใจ และแรงบันดาลใจ ให้หลาย ๆ คนที่กำลังประสบปัญหา หรือกำลังจะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ ได้มีแนวทางในการที่จะนำพาให้ธุรกิจของเราดำเนินไปอย่างมั่นคง และไม่ว่าสถานการณ์แวดล้อมจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นการที่ทำให้เราเผชิญปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง