พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
การซื้อแฟรนไชส์ถือเป็นวิธีการเริ่มต้นธุรกิจที่หลาย ๆ คนมองว่าเป็นทางลัดอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใกล้ความสำเร็จได้เร็วกว่าการเริ่มต้นจากศูนย์หรือลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง แต่ทั้งนี้เราก็จำเป็นที่จะต้องมีวิธีการเลือกซื้อแฟรนไชส์ที่ถูกต้อง เพื่อให้สิ่งนี้เป็นทางลัดของการทำธุรกิจ ไม่ใช่เส้นทางลัดที่พาเราหลงทางไปนั้นเอง
ดังนั้น ในวันนี้ผมจะมาอธิบายว่า ทำไมต้องซื้อแฟรนไชส์ ? และเราจะมีวิธีการตัดสินใจเลือกแฟรนไชส์อย่างไร รวมถึงจะอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สำหรับใครหลาย ๆ คนที่กำลังมองหาทางลัด
1. Product (สินค้าที่ได้รับการพิสูจน์)
การซื้อแฟรนไชส์ หมายความว่าเราได้เลือกที่จะก้าวไปสู่การทำธุรกิจ โดยสินค้าของธุรกิจนั้น ๆ ได้รับการพิสูจน์มาแล้วในระดับหนึ่งว่ามันโอเค…แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในการเลือกซื้อแฟรนไชส์ เราก็ควรทดลองเองด้วย ซึ่งถ้าเป็นอาหารเราก็จะต้องลองรับประทานเอง แล้วพิจารณาดูว่าอร่อยไหม ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นการพิสูจน์อย่างง่ายที่สุดว่าแฟรนไชส์ที่เรากำลังจะซื้อนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าพอที่เราจะเอามาทำเป็นธุรกิจหรือเปล่า
2. Branding (การสร้างแบรนด์ ชื่อ สี โลโก้)
เมื่อเราซื้อแฟนไชส์ มันหมายถึงการที่เราซื้อแบรนด์ และทุก ๆ องค์ประกอบของธุรกิจนั้น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ ชื่อธุรกิจ การตกแต่งร้าน โทนสี เครื่องแบบพนักงาน และสิ่งอื่น ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของการดำเนินธุรกิจ
ผมเองคลุกคลีอยู่ในแวดวงของการสร้างแบรนด์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้มีโอกาสสร้างแบรนด์ให้กับหลาย ๆ องค์กร จึงทำให้ทราบดีว่าการสร้างแบรนด์นั้นเป็นสิ่งที่จะต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่าย เพราะว่าการสร้างแบรนด์ไม่ใช่แค่การออกแบบโลโก้ แต่จะต้องมีกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยการสร้างแบรนด์ SME ขนาดเล็กนั้น เฉลี่ยค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสบบาท แต่สำหรับบริษัทใหญ่ ๆ ที่ขายแฟรนไชส์ไปทั่วประเทศนั้น จะมีค่าใช้จ่ายในการสร้างแบรนด์ประมาณ 3 – 5 แสนบาทเลยทีเดียว
ดังนั้น ในเวลาที่เราซื้อแฟรนไชส์ มันหมายถึงการที่เราซื้อแบรนด์(ที่เจ้าของแฟนไชส์เขาทำไว้ให้แล้ว) เราจะต้องประเมินเลยว่า มันคุ้มค่ากับราคาที่เราจะจ่ายเงินซื้อแฟรนไชส์ของเขาไหม
3. Reputation (ชื่อเสียงที่คุณไม่ต้องสร้างเอง)
การซื้อแฟรนไชส์ไม่ใช่แค่การซื้ออุปกรณ์ เพราะมันหมายถึงการซื้อชื่อเสียงของเขาด้วย ถ้าเราเปิดร้านมินิมาร์ทเราอาจจะลงทุนประมาณ 5 แสน แต่ถ้าเราเปิดแฟรนไชส์ของ 7-Eleven เราจะต้องใช้เงินประมาร 3 – 5 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การเปิดร้าน 7-Eleven แพงกว่ามาก แต่ทว่าเราไม่ต้องมาเสียเงิน เสียเวลา เพื่อการสร้างชื่อเสียงใด ๆ อีกแล้ว เพราะต้นสังกัดเข้าได้สร้างชื่อเสียงมาจนลูกค้ารู้จักกันดีอยู่แล้ว
4. Training (การอบรมที่ได้มาตรฐาน)
เวลาที่เราจะตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ เราจะต้องถามเลยว่ามีการ Training ให้หรือไม่ และการ Training ครอบคลุมหัวข้ออะไรบ้าง และมีครอบคลุมระยะเวลาเท่าไหร่ เช่น 30 วัน หรือ 45 วัน หรือ 6 เดือน เพราะการซื้อแฟรนไชส์มาแล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะมาทำได้เลย แต่ต้องได้รับการฝึกอบรมจากเจ้าของแฟรนไชส์เสียก่อน ซึ่งแฟรนไชส์นั้น ๆ ก็ควรที่จะมีมาตรฐานในการส่งมอบทักษะหรือฝึกอบรบจนคนที่ซื้อแฟนไชส์ไปสามารถทำได้ดีตามมาตรฐานของต้นสังกัด
ดังนั้น เวลาที่เราจะซื้อแฟรนไชส์ เราจะต้องดูว่าเขามีระบบการฝึกอบรมให้อย่างไรบ้าง และมีระยะเวลาในการ Training ให้เราอย่างสมเหตุสมผลกับความซับซ้อนของเนื้องานนั้น ๆ หรือไม่
5. Process (กระบวนการทำงานที่พิสูจน์มาแล้ว)
การซื้อแฟรนไชส์ คือการซื้อกระบวนการในการทำธุรกิจ เราไม่ไดซื้อแค่ร้านเพียงอย่างเดียว ดังนั้น แฟรนไชส์ที่ดีเขาจะมีกระบวนในการดำเนินธุรกิจที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าใช้ได้จริง ทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีปัญหา และเราไม่ต้องมาเสียเวลาลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง
ซึ่งการทำธุรกิจนั้น เรื่องกระบวนการเป็นสิ่งสำคัญมาก ตอนผมอายุ 26 ผมเคยบริษัทที่บริหารจัดการร้านขายน้ำบนสถานีรถไฟฟ้า 10 สถานี ซึ่งในช่วงแรก ๆ ต้องเหนื่อยมาก เพราะระบบยังไม่สมบูรณ์ เราจะต้องเจอปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น พนักงานขาดงานกะทันหัน และไม่มีคนไปเปิดร้านแทน ทำให้เสียรายได้ไปวันละ 10,000 บาท รวมถึงยังไม่มีระบบป้องกันการทุจริตของพนักงาน ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ซึ่งกว่าที่เราจะมีระบบที่รัดกุมและสมบูรณ์จะต้องเสียเวลา เสียรายได้ไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น การซื้อแฟรนไชส์จึงเป็นเหมือนการที่เราได้ซื้อกระบวนการในการทำธุรกิจ ที่ผ่านการพิสูจน์และยืนยันมาแล้วว่าจะต้องทำอย่างไร อะไรบ้าง โดยที่เราไม่ต้องไปค้นหาด้วยตัวเอง ซึ่งแฟรนไชส์ที่ดีจะต้องมีกระบวนการมาให้เราด้วย
6. Revenue model (รูปแบบการหารายได้)
การซื้อแฟรนไชส์ คือการซื้อรูปแบบการหารายได้ ซึ่งก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อ เราสามารถตรวจสอบได้ โดยไปดูงบการเงินของบริษัทนั้น ๆ เสียก่อนว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ดังนั้น เราควรเลือกซื้อแฟรนไชส์ที่มีการจดจัดตั้งบริษัทอย่างถูกต้อง เพื่อการันตีได้ถึงความโปรงใสของธุรกิจ และสามารถเข้าไปดูข้อมูลของงบการเงินได้
นอกจากนี้ เราควรที่จะรอสักประมาณ 1 ปี เพื่อดูว่างบการเงินของเขาดำเนินไปอย่างไร เขาทำกำไรได้จริงอย่างที่เขานำเสนอหรือเปล่า เพราะมีบางเจ้าเหมือนกัน ที่พึ่งจะเปิดร้านอาหารแค่ไม่กี่เดือน แค่เริ่มพอจะมีชื่อเสียง ก็รีบเปิดขายแฟรนไชส์เสียแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีกระบวนการดำเนินธุรกิจที่สมบูรณ์ ยังไม่มีระบบการฝึกอบ หรือบางเจ้ายังไม่มีแบรนด์ด้วยซ้ำ ซึ่งแฟรนไชส์ในลักษณะนี้ควรหลีกเลี่ยงที่สุด
7. Consulting (ได้ที่ปรึกษาธุรกิจ)
การที่เราซื้อแฟรนไชส์ สิ่งที่เราจะได้นอกจากตัวธุรกิจ นั้นก็คือเราจะได้ที่ปรึกษาทางธุรกิจด้วย ซึ่งถ้าคนที่เคยทำธุรกิจด้วยตัวเองจะรู้ว่า เราจะต้องใช้เวลานานกว่าที่จะพบรูปแบบหรือกระบวนการ และเราจะต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเองทั้งสินกว่าที่เราจะขายและทำกำไรได้
ดังนั้น ก่อนซื้อแฟรนไซส์ เราต้องถามกับเจ้าของแฟรนไซส์ก่อนเลยว่าในระหว่างที่เราทำธุรกิจ เขาจะให้ทำปรึกษาเราด้วยหรือไม่ และให้เราสังเกตดี ๆ ว่าระหว่างที่เขาคุยกับเรา เขาโฟกัสที่จะแก้ไขปัญหาให้เราหรือเปล่า หรือมีแต่ความมุ่งมั่นที่จะขายของให้กับเราอย่างเดียว
แฟรนไซส์ที่ดี เจ้าของแฟรนไซส์ควรที่จะมีทักษะในการเป็นที่ปรึกษาด้วย ต้องรู้จักจุดดี จุดด้อย ของธุรกิจ และให้กำแนะนำเราได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ที่มาซื้อแฟรนไซส์เกิดข้อผิดพลาดต่าง ๆ ในการทำธุรกิจ
8. Software (ระบบการคิดเงิน ซอฟแวร์ที่พัฒนา)
แฟรนไซส์ที่ดีควรจะมีซอฟแวร์ต่าง ๆ มาช่วยให้การทำธุรกิจของเราเป็นไปอย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ระบบกล้องวงจรปิดต่าง ๆ หรือระบบบริหารจัดการสต๊อกสินค้า หรือระบบการคิดเงิน ระบบบัญชีรายได้ รวมไปจนถึงระบบที่ช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการทีมงาน เช่น ระบบการเช็ค ขาด ลา มาสาย ต่าง ๆ ซึ่งความพร้อมเหล่านี้จะช่วยให้เราทำงานได้ง่าย และประหยัดเวลามากขึ้น
9. Peer (ได้เพื่อนที่ทำอาชีพเดียวกัน พูดคุยปรึกษา)
การที่เราซื้อแฟรนไซส์ จะทำให้เรามีโอกาสได้เพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน ซึ่งอาจจะทำอยู่ในสาขาอื่น สถานที่อื่น ๆ โดยเราจะสามารถที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ หรือกระทั่ง ก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อแฟรนไซส์ เราอาจจะไปลองคุยกับคนที่เขาซื้อก่อนเราก็ได้ ว่าซื้อมาทำแล้วดีไหม มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไร เพื่อเป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ โดยอย่าพึ่งเชื่อการนำเสนอของเซลล์ที่พยายามโน้มน้าวจะขายเราเพียงอย่างเดียว
ซื้อถูกหรือซื้อแพงอะไรดีกว่ากัน
สำหรับแฟรนไซส์ที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 9 ข้อ ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้ว มักจะเป็นแฟรนไซส์ที่มีราคาแพง โดยอาจจะมีราคาสูงถึงหลักล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าแพงเกินไป แต่ในมุมมองของผม การลงทุนซื้อแฟรนไซส์ในราคานี้ และได้คุณสมบัติครบถ้วนทั้ง 9 ข้อ ผมเปรียบเสมือนว่ามันคือการซื้อธุรกิจ ซึ่งเราจะเข้าไปเป็นผู้บริหารงาน โดยธุรกิจนี้มีระบบ มีกระบวนการ มีทีมงานมาทำงานให้ และเราคุณไม่ต้องทำเองในทุกขั้นตอน ซึ่งต่างจากการที่คุณซื้อแฟรนไซส์ราคาถูก ที่อาจจะเป็นในลักษณะของการซื้ออาชีพ โดยคุณยังต้องลงมือทำงานด้วยตัวเองในทุกขั้นตอน
ข้อจำกัดของแฟรนไชส์
- ต้นทุนคงที่ ในแฟรนไชส์บางประเภท เราจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบได้ เช่น เวลาที่เราซื้อแฟนไชส์ร้านอาหาร แม้ว่าเราจะได้สูตรในการปรุงอาหารมาแล้วก็ตาม แต่วัตถุดิบต่าง ๆ เราจะต้องซื้อกับเจ้าของแฟนไซส์เท่านั้น หรือเครื่องปรุงบางอย่าง ต้นสังกัดก็อาจผสมมาเรียบร้อยแล้ว ใส่ซองมาให้เรา เรามีหน้าที่เพียงฉีกซองแล้วเทลงประกอบอาหารเท่านั้น โดยที่เราไม่ทราบด้วยซ้ำว่าในนั้นมีส่วนผสมอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “ต้นทุนคงที่” ซึ่งเราไม่สามารถที่จะลดต้นทุนสินค้าได้อีกแล้ว เพราะถูกผูกขาดโดยเจ้าของแฟรนไชส์นั้นเอง
- รูปแบบตายตัว โดยข้อจำกัดนี้ ทำให้เราไม่สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ หรือปรับเปลี่ยนอะไรได้เลยในการทำธุรกิจ เช่น ถ้าเราซื้อแฟนไชส์จากร้านอาหารชื่อดังของอเมริกามาเปิดในประเทศไทย ซึ่งรสชาติอาหารอาจจะไม่ถูกปากคนไทย แต่ต้นสังกัดอาจจะไม่อนุญาตให้มีการปรับเปลี่ยนสูตรการปรุงอาหารใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อรักษามาตรฐานอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา
- ผลกระทบจากคนอื่น การซื้อแฟรนไชส์ หมายความว่าจะมีอีกหลาย ๆ คนที่ซื้อแฟรนไชส์เหมือนกับเรา ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะมีความพร้อม หรือความเป็นมืออาชีพแตกต่างกันไป ดังนั้น ถ้าหากมีบางรายได้ทำข้อผิดพลาดบางอย่าง จนเสียชื่อเสียงขึ้นมา ผลเสียนั้นจะส่งผลมาถึงเราด้วยเช่นกัน เรามีแบรนด์เดียวกัน โดยสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราเลยทีเดียว ดังนั้น ถ้าจะเลือกซื้อแฟนไชส์ เราจะต้องประเมินเลยว่าต้นสังกัดที่เป็นเจ้าของแฟนไชส์นั้นได้มีระบบมาตรฐานในการดูแลจัดการเรื่องนี้หรือไม่
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของ ทำไมต้องซื้อแฟรนไชส์ ? รวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ที่จะทำให้การเริ่มต้นทำธุรกิจของคุณ เป็นการใช้ทางลัดที่ปลอดภัยและยังยืน ไม่ใช่ทางลัดที่พาหลงทาง จนต้องเสียเงิน เสียเวลา เสียความรู้สึก ไปกับการลงทุนครั้งนี้