พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
หลาย ๆ คนอาจจะสังเกตว่า ในตอนเริ่มต้นทำธุรกิจในช่วงแรก ๆ แม้จะเติบโตได้ดี แต่พอไปจนถึงจุดหนึ่งแล้วกลับไปต่อไม่ได้ ซึ่งผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่พยายามจะหาคำตอบในเรื่องนี้ว่ามันมีสาเหตุมาจากอะไร และจะเอามาแบ่งปันให้พวกเราได้อ่านกันว่า ทำไม 90% ของธุรกิจขยายกิจการแล้วล้มเหลว
1. Human Skills
ในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยทักษะหลาย ๆ อย่างผสมผสานเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการพูดคุยสื่อสาร ทักษะการทำงานเป็นทีม การเข้าถึงจิตใจผู้กัน ตลอดจนวิธีการบริหารจัดการต่าง ๆ ที่มนุษย์แต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะธุรกิจที่เติบโตและมีการขยายตัว จะต้องมีการรับพนักงานเข้ามาเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีคนมากขึ้น มีหลายฝ่ายมาทำงานร่วมกัน วิธีการทำงานจะเปลี่ยนไป แต่ถ้าเจ้าของธุรกิจไม่สามารถบริหารจัดการความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ที่มาอยู่รวมกัน และไม่สามารถทำให้ทุกคนเข้าใจเป้าหมายของการทำงาน ธุรกิจก็ไม่สามารถจะเติบโตต่อไปได้ เพราะธุรกิจที่เติบโต รูปแบบการทำงานจะไม่เหมือนกับตอนที่ก่อตั้งบริษัทที่มีพนักงานไม่กี่คน
“คนน้อย…พลังก็น้อย
คนเยอะพลังก็เยอะ แต่ถ้าบริหารจัดการไม่ได้
พลังนั้นก็จะย้อนกลับมาทำลายตัวเอง”
ซึ่งทักษะทั้งหลายเหล่านี้ เราอาจจะเรียกว่าเป็น Human Skills ก็ได้ ซึ่งถือเป็นทักษะที่ไม่ได้มีการสอนในสถานบันการศึกษาโดยตรง แต่เราจะศึกษาและเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ในการทำงาน หรือไปเรียนในหลักสูตรการสัมมนาทางธุรกิจต่าง ๆ ที่สอนกันโดยคนที่เคยประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ
2. alignment
หน้าที่ของผู้บริหารคือการประสานงานให้ทุกคนในทีมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว โดยสอดประสานการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละคน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถมุ่งไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ แต่ในหลาย ๆ บริษัทจะมีปัญหาตรงนี้ คือเมื่อบริษัทเริ่มขยายตัว แล้วแบ่งแยกการทำงานออกไป ยิ่งแบ่งแยกกลับทำให้ยิ่งห่างเหินกันไป ต่างคนต่างทำงาน แต่ละแผนกแต่ละฝ่ายไม่ได้คุยกัน ไม่รู้เลยว่าที่ทำกันอยู่นี้มันสิ่งผลเชื่อมโยงถึงกันอย่างไร
ดังนั้น ก็ต้องย้อนกลับมาที่หน้าที่ของผู้บริหาร ก็คือการสร้างระบบงานที่ทุกคนในบริษัทสามารถที่จะเข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำคืออะไร ทำไปเพื่ออะไร จะส่งผลกระทบต่อแผนกใดไป รวมถึง รู้ภาพรวมว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นมีส่วนขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่เป้าหมายในภาพใหญ่ขององค์กรอย่างไร
3. Season changes
นักการตลาดทุกคนจะต้องเคยได้เรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า Product Life Cycle (PLC) หรือวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งในจุดเริ่มต้นของเส้นกราฟที่เป็นแกน X กับ แกน Y นั้น ยอดขายของธุรกิจก็จะยังไม่เยอะ เพราะเป็นช่วงตั้งต้นของธุรกิจ แต่เมื่อธุรกิจได้เติบโตเรื่อย ๆ มีคนรู้จักเยอะขึ้น ลูกค้าเข้าใจ ใช้เป็น ยอดขายก็เติบโตขึ้น และเมื่อธุรกิจโตไปถึงระดับหนึ่งแล้ว สุดท้ายยอดขายก็จะตกลงมาเรื่อย ๆ เพราะธรรมชาติของธุรกิจ ถ้าทำอะไรแล้วดี ก็จะมีคู่แข่งมาทำด้วย จึงแบรนด์ใหม่มาแย่งลูกค้าไป หรือในอีกกรณีหนึ่งก็อาจจะมี Solution ใหม่ ๆ มาทดแทนแบบเดิม
ดังนั้น จึงมีหลายคนที่ไม่เข้าใจสถานการณ์ โดยไปยึดติดในกระบวนท่าเดิม ๆ ในช่วงที่ยอดขายดี ๆ ว่ามันเป็นสิ่งที่ดี และไม่ยอมเปลี่ยนกระบวนท่าใหม่ ซึ่งในความเป็นจริงโลกของการทำธุรกิจไม่เคยหยุดนิ่ง สิ่งที่เคยดีที่สุดในช่วงเวลาหนึ่ง มันอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีในอีกช่วงเวลาหนึ่ง การวางแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ จึงต้องให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในแต่ละจังหวะเวลา ไม่ว่าจะเป็นในช่วงที่เส้นกราฟพุ่งสูงขึ้น หรือช่วงที่เส้นกราฟทรงตัวเป็นแนวนอน ตลอดจนเส้นกราฟของยอดขายกำลังดิ่งลงเหว คนทำธุรกิจจะต้องมองให้ทะลุในสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นภายใต้เหตุปัจจัยที่ไม่เหมือนเดิม
“ฤดูกาลเปลี่ยน แต่ยังใช้กลยุทธ์เหมือนเดิม
ก็เหมือนกับการใส่เสื้อกันฝน ออกจากบ้านในฤดูหนาว”
คนที่ทำธุรกิจ จะต้องพร้อมที่จะเผชิญความท้าทายในทุก ๆ สถานการณ์ เพราะโอกาสจะมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง เราจะไม่กลัวความเปลี่ยนแปลง ถ้าเราเข้าใจว่ามีความก้าวหน้าซ่อนอยู่
4. Scaling too fast
หลาย ๆ ธุรกิจประสบกับปัญหาในการที่ขยายธุรกิจเร็วเกินไป ซึ่งเราเรียกว่า “ค่าใช้จ่ายมาเร็วกว่ารายได้” เนื่องจากผู้ประกอบการหลายคนมองโลกในแง่ดี และรู้สึกฮึกเหิมลำพองใจ เห็นว่ายอดขายดี ๆ แบบนี้ ควรที่จะขยายตัว เพื่อทำให้ได้ผลกำไรเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อขยายธุรกิจ ก็ต้องมีการรับคนเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้น ขยายฐานการผลิต ซื้อเครื่องจักรเข้ามาเพิ่ม จึงทำให้รายจ่ายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าหากเกิดวิกฤติบางอย่างที่ทำให้ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า ปัญหาก็จะใหญ่ขึ้นตามรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น ถ้าเราจะประเมินยอดขาย ก็ไม่ควรที่จะดูเพียงแค่ระยะสั้น ๆ ไม่กี่เดือน แล้วคิดว่าเดือนต่อไปยอดขายก็จะคงดี หรือดีเหมือนเดิม เพราะโลกวันนี้มีแต่ความไม่แน่นอน
5. Full customization
หลายคนเวลาทำธุรกิจอาจจะมีลักษณะที่ตามใจลูกค้าจนเกินพอดี ลูกค้าอยากได้อะไรจัดให้หมด สร้างสินค้าใหม่ไปเรื่อย ๆ จนทำให้มีสินค้าเยอะเกินไป บางบริษัทมีสินค้าเป็นร้อยตัว แต่ที่ขายดี มีไม่ถึงสิบตัว ดังนั้น เราจะต้องมีการบริหารจัดการเรื่องสินค้าด้วย ถ้าตัวไหนมันขายไม่ดีเราก็จำเป็นที่จะต้องตัดทิ้ง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนสูง เสียเวลาในการดูแล รวมถึงตัวเราเองก็ขาดการโฟกัสเนื่องจากว่ามีสินค้าเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เคยขายของอย่างเดียว พอขยายธุรกิจจะต้องมีการอ่านตัวเลข อ่านรายงานให้เป็น หรือถ้าทำไม่เป็นก็ควรที่จะจ้างคนมาทำรายงาน มาวิเคราะห์ประเมินผลของสินค้าแต่ละตัว
6. No budget set for marketing
บางคนไม่เคยคิดถึงเรื่องการตั้งงบการตลาด เพราะคิดว่าสินค้าดีจะขายตัวมันเอง เป็นการทำธุรกิจแบบปากต่อปาก ซึ่งจะทำแบบนี้ก็ได้ แต่มันก็ไม่ใช่การทำธุรกิจที่ถูกต้อง เพราะเหมือนกับการที่เราปล่อยให้ธุรกิจเติบโตไปตามยถากรรม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แม้แต่ธุรกิจ SME ก็ควรที่จะมีการตั้งงบการตลาดเอาไว้ด้วย เพราะการที่เราเริ่มต้นทำธุรกิจอย่างถูกต้องมาตั้งแต่แรก มันจะง่ายกว่าการที่เรามาปรับให้มันถูกในภายหลัง
เราจะต้องมีการตั้งงบการตลาดเอาไว้เลยประมาณ 30-40 % เพื่อทำการตลาด เพื่อการสร้างแบรนด์ และในวันหนึ่งที่แบรนด์ของเราได้รับการจดจำแล้ว ลูกค้าจะเป็นคนพูดแทนเรา ในวันนั้นธุรกิจของเราจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน
“การสร้างธุรกิจก็เหมือนกับการมีลูก
ถ้าเราปล่อยให้ลูกเติบโตแบบตามมีตามเกิด
เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาจะโตขึ้นมาเป็นคนที่ดีมีค่า”
7. No budget for developing people
ในฐานะผู้ประกอบการ เราอยากให้คนเก่ง ๆ มาช่วยเราทำงานไหม หรือว่าเราแค่ต้องการคนไม่เก่งมาทำงานกับเรา จ้างถูก ๆ แล้วปวดหัวกับการทำงานที่ไม่เป็นไปตามเป้า เพราะเราไม่ได้จ่ายค่าความคิดให้กับพนักงาน เราเลยจะต้องเป็นคนคิด เพราะฉะนั้นเราควรจะพัฒนาพนักงานของเราด้วย
บริษัทผมจะให้พนักงานต้องไปเรียนสัมมนา 6 หลักสูตร เพราะเราอยากพัฒนาทีมงาน เราอยากรู้ว่าคนเหล่านี้มีค่านิยมตรงกับเราไหม ถ้าดูแล้วค่านิยมไม่ต้องกัน ก็ไม่ทำงานด้วยกัน
ดังนั้น ควรจะต้องกำหนดงบประมาณในการพัฒนาบุคลากรด้วย ดังนั้น ในทุก ๆ บาทที่เราตั้งราคาขายสินค้า เราะต้องกำหนดไว้เลยว่าเราจะเอามาใช้ในการพัฒนาบุคคลากรของเรากี่เปอร์เซ็นต์
จ้างคนธรรมดามาทำงานด้วย ธุรกิจก็เลยธรรมดา ถ้าอยากคนเก่งๆ มาทำงานด้วย ตัวเจ้าของ ตัวสินค้า หรือตัวบริษัท ต้องมีจุดขายที่ดึงดูดให้คนอยากทำงานด้วย
8. Sales automation
การทำธุรกิจก็เหมือนกับการที่เรารองรับน้ำฝนในเวลาที่ฝนตก ซึ่งบางบริษัทจะมีแค่ขัน กะละมัง หม้อ รองน้ำฝนเท่าที่ได้ แต่บางบริษัทสร้างระบบรองรับน้ำฝนที่เป็นเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ ทำให้มีน้ำฝนใช้ทั้งปี
ดังนั้น ระบบรองรับน้ำฝนในการทำธุรกิจที่ดีที่สุด ก็คือ ระบบการขายของอัตโนมัติ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะต้อง โดยเฉพาะธุรกิจที่เราคาดหวังว่าจะทำให้มันเติบโต และมีความยั่งยืนในระยะยาว เราควรจะต้องสร้างเครื่องผ่อนแรงในการทำธุรกิจที่สามารถทำให้เกิดรายได้แบบอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องควบคุมสั่งการในทุกเรื่อง
9. คุณไม่ยอมปล่อยวาง
เวลาที่เราทำธุรกิจ เราอาจจะรู้สึกว่าเราเป็นคนที่เก่งที่สุดในบริษัท แต่เมื่อธุรกิจเติบโต งานทุกอย่างจะต้องถูกกระจายไปให้คนอื่นมาช่วยทำ เป็นการกระจายความรับผิดชอบ ซึ่งแน่นอนว่า มันจะต้องมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ไม่ได้ดั่งใจเรา บางเรื่องลูกน้องอาจจะสร้างความเสียหายด้วยซ้ำ
ดังนั้น ไม่ว่าเงินจะหายากแค่ไหน แต่ถ้าความสูญเสียนั้นมันสร้างบทเรียนให้กับพนักงานของเรา ทำให้เขาได้เรียนรู้ ทำให้เขาเก่งขึ้น รอบคอบขึ้น เราก็ควรที่จะปล่อยวาง เพราะมันคือต้นทุนอย่างหนึ่งในการพัฒนาคน
จงจำเอาไว้เสมอว่า เมื่อเราทำธุรกิจไปจนถึงจุดหนึ่ง คนที่ทำงานกับเราควรจะต้องเก่งกว่าเรา แต่ถ้าเราทำธุรกิจไปนาน ๆ แล้ว แต่ทั้งบริษัทเรายังเก่งที่สุดอยู่คนเดียว นี้คือสัญญาณของหายนะเลยทีเดียว เพราะมันหมายความว่าเราจะไม่มีวันได้พักไปตลอดชีวิต
“ลูกน้องที่เก่งอยากจะมีพื้นที่ในการลองผิดลองถูก
ถ้าเราใจไม่กว้างพอที่จะให้ลูกน้องได้ผิดพลาด
สุดท้ายเขาจะไปเติบโตที่อื่น ในที่ซึ่งมีพื้นที่ให้เขาได้เรียนรู้ผิดถูก”
ดังนั้น ถ้าคุณคิดจะขยายธุรกิจ คุณจะต้องขยายจิตใจของตัวเองให้กว้างขึ้นด้วย ต้องยอมรับความผิดพลาดให้ได้ด้วย ถ้าเราใจกว้างมากพอ ลูกน้องก็จะได้เรียนรู้ เมื่อคุณให้พื้นที่เพื่อลูกน้องเก่งขึ้น สุดท้ายธุรกิจของคุณก็จะขยายตัว
และทั้งหมดนี้ก็คือ ทำไม 90% ของธุรกิจขยายกิจการแล้วล้มเหลว ซึ่งทุกอย่างมันมีคำตอบในตัวมันเอง เพราะการทำธุรกิจไม่มีเรื่องบังเอิญ หรือไม่มีคำว่าฟลุค และถ้าใครอยากจะเรียนรู้วิธีการเพิ่มเติม ว่าจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้มากขึ้นได้อย่างไร เราจะมีเวลาไป enjoy กับชีวิตได้มากขึ้นได้อย่างไร ในขณะที่ธุรกิจก็เติบโตไปด้วย เหมือนกับที่ผมสามารถหนีไปเที่ยวได้ปีละ 30 วัน โดยที่ธุรกิจก็ยังดำเนินไปได้ด้วยตัวมันเอง ก็สามารถทักเข้ามาได้ที่ไลน์โอเอ @paulnathasit ซึ่งใน Rich menu ปุ่มขวาสุดจะเป็น INCOME STRATEGY ก็สามารถมาเรียนรู้เรื่องเหล่านี้กันได้