พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
เมื่อวานนี้ผมได้นั่งจัดเรียงเกี่ยวกับไฟล์ข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ของตัวเอง แล้วก็ได้ไปพบกับไฟล์ข้อมูลที่ผมไปเรียนสัมมนากับ Tony Robbins ที่นคร LAS VEGAS เมื่อปี 2018 ในหัวข้อที่มีชื่อว่า Business Mastery ซึ่งตอนขากลับก่อนขึ้นเครื่องบิน ผมก็ได้ไปเจอกับหนังสือ The Road to Recognition เขียนโดย Seth Price / Barry Feldman ผมก็เลยไปลองเปิดอ่านดูว่ามันเกี่ยวข้องกับอะไร
พอผมเอามาอ่านก็พบว่า เนื้อหาของเขาเขียนเกี่ยวกับว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง A-Z เพื่อให้เราสามารถสร้างแบรนด์เจ๋ง ๆ ได้ โดยเรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ A-Z
ดังนั้น วันนี้ผมก็เลยขอถือโอกาสเอาสาระตรงนี้มาบอกเล่าให้ทุกท่านได้รับทราบกัน…
- AUTHENTICITY – ความเป็นเนื้อแท้ หมายความว่าแบรนด์ของเรามีลักษณะแบบไหน เราต้องออกแบบ ว่าแบรนด์ของเราจะมีบุคลิกภาพอย่างไร ไม่ต่างอะไรกับการที่เราปั้นคนขึ้นมาหนึ่งคน แล้วทำให้ดูมีชีวิตชีวาอย่างแท้จริง โดยเราจะต้องทำให้ทุกคนมองเห็นว่าแบรนด์ของเรามีทักษะอะไรบ้าง จุดแข็งอะไร มีค่านิยม ทัศนคติอย่างไร โดยแสดงออกมาอย่างจริงใจ เป็นธรรมชาติ
- BLOG – เขียนบล็อก เนื่องจากแบรนด์มีทั้งแบรนด์บุคคล แบรนด์สินค้า แบรนด์องค์กร ซึ่งการเขียนบล็อกจะช่วยทำให้การสร้างแบรนด์เป็นที่รู้จัก และเหมาะกับคนธรรมดาที่ไม่ได้มีทีมงานในการพัฒนาเว็บไซต์ ก็สามารถที่จะนำเสนอตัวตนได้ผ่านการเขียนบล็อก โดยถ้าใครจะเขียนบล็อกก็ควรที่จะเขียนอย่างมีเป้าหมายว่าเราจะช่วยผู้คน หรือให้ผู้คนมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอะไร และต้องทำอย่างต่อเนื่องด้วย
- CONTENT – วิเคราะห์ความต้องการของเนื้อหา ควรจะทำเนื้อหาที่มีความแตกต่าง โดยเรียนรู้จากผู้นำในอุตสาหกรรมว่าเขาทำเนื้อหาประเภทไหนบ้าง แบบไหนทำแล้วดี คนเข้ามาดูเยอะ เราก็ควรจะเรียนรู้ว่าถ้าเราจะทำ เราควรจะไปในแนวทางไหน เลือก Tone ว่าเราจะให้ออกมาแบบไหน ถ้าจะให้มีสนุกสนานเหมือนคุยกับเพื่อน เราก็ต้องทำออกมาแบบนั้น แต่ถ้าเราจะทำแบบมืออาชีพ ไม่เล่น ไม่ขำ เราก็ต้องทำออกมาโดยคงไว้ซึ่ง Tone แบบนั้น และ Keyword ที่จะใช้ก็ต้องมีความสอดคล้องกับสิ่งที่เราเลือกจะเป็นด้วย
- DESIGN – ต้องมีการออกแบบไม่ว่าจะเป็น Logo โทนสี color palette ที่เราจะใช้ว่ามีสีอะไรบ้าง รวมถึงการเว้นช่องว่างให้เกิด space เรื่องของตัวอักษร รวมถึงควรที่จะทำ brand book เป็นของตัวเองด้วย
- EMAIL – ต้องบอกว่าหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในบริบทของต่างประเทศ ซึ่งในต่างประเทศนั้นจะมีการทำการตลาดในอีเมล์ด้วย แต่สำหรับในประเทศไทยอาจจะไม่ค่อยได้ใช้อีเมล์กันมากนัก แต่ก็มีอยู่บ้างเหมือนกันที่บางองค์กรทำการตลาดผ่านอีเมล์ และช่วยปิดการขายได้เหมือนกัน แต่อาจจะไม่มากนัก ดังนั้น เราก็ควรที่จะมีการเก็บฐานข้อมูลอีเมล์ค้าเอาไว้ด้วยเช่นกัน เพื่อทำการตลาดทางอีเมล์ในลักษณะข้อความอัตโนมัติ
- FOLLOWERS – ในแง่ของการทำธุรกิจ คนจะไม่ติดตามเรา ถ้าเราไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับผู้ติดตาม ดังนั้น ที่เรากล่าวมาแล้วในเรื่องของการทำบล็อก การทำคอนเท้นท์ ทำอีเมล์ ทำเว็บ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการที่เราจะสร้างผู้ติดตามที่สนใจในสิ่งที่เรานำเสนอ และเราต้องเข้าใจอยู่อย่างหนึ่งว่าผู้ติดตามนั้นไม่เหมือนกับลูกค้า บางคนอาจจะทำคอนเท้นท์เพื่อให้มีผู้ติดตามจำนวนเยอะ ๆ แต่ลูกค้าที่แท้จริงคือสปอนเซอร์ หรือผู้สนับสนุนรายการนั้นเอง
- GOOGLE – คุณควรจะค้นหาชื่อแบรนด์ตัวเองใน Google ว่ามันจะขึ้นข้อมูลอะไรมาบ้าง บางครั้งอาจจะขึ้นรายละเอียดของคู่แข่ง บางครั้งก็เป็นรายละเอียดสินค้าคู่แข่ง และพาเราไปในเว็บขายสินค้าออนไลน์ของเขา สิ่งเหล่านี้จะบอกเราว่าเราจะต้องพัฒนาอะไรบ้าง และคู่แข่งเขาทำอะไรดี ๆ ไว้บ้าง
- HELPING – ต้องหาวิธีคืนกำไรสู่สังคม เช่น สอนฟรี แจกอาหารช่วยสังคมและชุมชน Buy One Give One
- INFLUENCERS – คือผู้มีอิทธิพลทางความคิด ซึ่งเราจะต้องมีการติดตามผลงานของบุคคลเหล่านี้ โดยควรติดต่อกันให้เป็นธรรมชาติ อย่าเป็นการคบกันเพราะงานหรือเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวเพียงอย่างเดียว แต่ควรเข้าร่วมในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม ที่พูดคุย ช่วยเหลือ และเกื้อกูลกัน
- JOINING – อย่าลืมเอาแบรนด์ของเราไปเชื่อมโยงกับคนอื่น แบรนด์อื่น บริษัทอื่น หรือสังคมอื่น เพื่อเข้าร่วมและพัฒนาต่อไปเชิงบวก เช่น การเข้าไปเป็นวิทยากรของสมาคมการตลาด
- KEYWORDS – อย่าลืมเลือกคำที่สะท้อนความเป็นแบรนด์ของคุณ เช่นแบรนด์ Disney เขาก็จะมี Keywords ขึ้นมาว่า ครอบครัว สนุกสนาน รอยยิ้ม ความตื่นเต้น ซึ่งมันสะท้อนตัวตนของแบรด์ Disney โดยในแง่ของการสร้างแบรนด์ ถ้าเราพูดซ้ำ ๆ ถ้าเราทำให้เข้าใจ เห็นภาพได้แบบซ้ำ ๆ คนก็จะจำแบรนด์เราได้แม่น
- LINKED-IN ในเชิงของมืออาชีพ Linked-in ถือเป็นจุดเชื่อมโยงธุรกิจแบบ B2B เพราะเราจะได้เจอกับคนเก่ง ๆ ที่นี้ ดังนั้น เราก็สามารถใช้ Linked-in เป็นช่องทางหนึ่งของการทำการตลาดได้ด้วยเช่นกัน
- MEDIA – อย่าลืมใช้สื่อทั้งที่เสียเงินและไม่เสียเงิน ให้สังเกตว่าคู่แข่งไปที่ไหน เขาใช้พื้นที่ไหนบ้างที่ในการสื่อสารกับผู้บริโภค และมีการใช้พื้นที่สื่อตรงไหนที่คู่แข่งยังไม่เข้มแข็ง เราก็สามารถจะใช้พื้นที่นั้นในการทำการตลาดได้ ดังนั้น การใช้สื่อ อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะ ๆ เสมอไป เพียงแต่เราต้องมีหูตากว้างไกล และเข้าถึงสื่อที่คู่แข่งยังเข้าไม่ถึง
- NETWORK – เชื่อมโยงผู้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรม อาจจะทำคลับ ทำกลุ่ม เช่น ถ้าทำธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ตกแต่งรถ เราก็ต้องไปทำการตลาด ไปสนับสนุนคลับของคนขับรถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ เป็นต้น
- OFFER – การนำเสนอนำเสนอจะประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ 1. Content เพื่อให้ลูกค้าสนใจ, 2. Magnet เป็นสิ่งที่เราจะแจกลูกค้าเพื่อได้ระยะเวลาที่ลูกค้าเชื่อมต่อกับเรา, 2. Offers เพื่อแลกกับเงิน
- PODCAST – ถ้าเราไม่ได้จัดรายการเอง เราก็ต้องดูว่าเรามีโอกาสได้ออกไปให้สัมภาษณ์หรือเปล่า และบางคนอาจจะยังไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากนัก ยังไม่มีใครเชิญ เราก็สามารถจะสร้างรายการของตัวเองได้เช่นกัน
- QUESTIONS – ออกไปหาคำถามที่กลุ่มเป้าหมาย ว่าเขาอยากรู้อะไร บางทีอาจะเป็นเรื่องง่ายๆ หรือมุมมองที่เรานึกไม่ถึงมาก่อน ถ้าเราเข้าใจสิ่งที่ลูกค้าคิด เราก็จะขายสินค้าให้กับลูกค้าได้ง่ายขึ้น
- RECOGNIZING OTHERS – จดจำผู้คนได้ ช่วยเหลือเกื้อกูล ตอบแทนบุญคน ขอบคุณ ยินดี ชื่นชม ให้เกียรติ การทำแบรนด์ที่ดีก็ควรจะมีเรื่องเหล่านี้เช่นกัน
- STORY – มีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง ถ้าแบรนด์เราไม่มีเรื่องเล่ามันก็จะเป็นอะไรที่จับต้องและจดจำได้ยาก เพราะไม่สามารถเชื่อมโยงกับผู้คนได้
- TARGET – เลือกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เราจะทำแบรนด์เพื่อขายใคร
- UNIQUE – อย่าลืมค้นหา Treasure chest ของเรา ว่ามีดีอะไรที่คนอื่นทำซ้ำไม่ได้ หรือลอกเลียนแบบได้ยาก
- VIDEO – การนำเสนอด้วย VDO ด้วยในยุคนี้ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับคนที่คิดจะสร้างแบรนด์
- WEBSITE – แม้ว่าสุดท้ายแล้ว เราต้องไปทำการตลาดบน Social Media ก็ตาม แต่มันก็เหมือนกับการที่เราไปเช่าบ้านเขาอยู่ ถ้าเราอยากจะทำการตลาดแบบยาว ๆ เราควรจะมีบ้านเป็นของตัวเอง วันดีคืนดีถ้าบ้านเช่าเขาปิดตัวไป เราก็ยังมีบ้านที่เป็นของเราเอง และยังสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าได้อยู่ ดังนั้น เราต้องมีเว็บไซต์ และมีฐานลูกค้าของเราเอง อย่าฝากทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้กับคนอื่น
- EXAMINE – ตรวจสอบ Stat ต่าง ๆ ดูสถิติ Social media, website, sales, traffic ต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร
- WHY – You do what you do? ทำไปทำไม มีจุดประสงค์อะไรในการทำแบรนด์นี้
- ZEAL – เราต้องจบเกม ต้องตัดสินใจว่าเราจะทำอะไรบ้าง ไม่ทำอะไรบ้าง แล้วออกไปลุยมันซะ
และทั้งหมดนี้ก็คือ ท่อง A-Z ได้ ก็สร้างแบรนด์เจ๋งๆ ได้เหมือนกัน ซึ่งถือเป็นหลักการหรือข้อคิดสำหรับคนที่กำลังคิดจะสร้างแบรนด์ หรือคนที่มีแบรนด์เป็นของตัวเองแล้ว ซึ่งถือเป็นสิ่งง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถนำเอาไปปรับใช้ให้การสร้างแบรนด์ของตัวเองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ไม่ยาก