พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น เราจะเห็นได้ว่าเจ้าของกิจการต่าง ๆ ก็พยายามที่จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอดกันมาหลายรอบ ทั้งปรับรูปแบบการขาย ไปใช้ทางออนไลน์แทน หรือบางคนอาจจะเปลี่ยนสินค้าไปขายอย่างอื่นแทนเลยก็มี ซึ่งระยะเวลาปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นแล้วว่า การปรับตัวในระยะสั้น ๆ อาจจะไม่เพียงพอ ผมก็เลยตกผลึกทางความคิดและมองว่า เราควรที่จะต้องทำในสิ่งที่เรียกว่า “การปรับตัวในระยะยาว” ได้แล้ว เพราะวันนี้ โควิดคงไม่ได้หายไปจากเราง่าย ๆ ดังนั้น เราจะต้องมองแล้วว่า เราจะอยู่ยังไงกับโควิด
รวมถึง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต การทำธุรกิจ หรือการเป็นพนักงานประจำ เราจะปรับตัวกันยังไง จะต้องหาทักษะอะไรเพิ่มเติมที่จะมาช่วยให้เราอยู่รอดได้บ้าง เพื่อให้เราเป็นคนที่มีค่า และไปต่อได้ในระยะยาว
1. การลงทุนในนวัตกรรม
วันนี้เราจะต้องถามตัวเองแล้วว่า เราจะเอานวัตกรรมอะไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจของเราได้บ้าง เมื่อตอนที่ผ่านมา ผมได้เคยกล่าวถึง 11 อุตสาหกรรมที่โลกแห่งอนาคตต้องการ มาแล้ว ถ้าหากใครสนใจสามารถไปอ่านได้ ซึ่งเราจะต้องหยิบเอาสิ่งที่เป็นนวัตกรรมแห่งอนาคตมาเริ่มใช้ในธุรกิจของเรา ไม่เช่นนั้นธุรกิจของเราก็จะไม่มีอนาคตแน่นอน
ดังนั้น การวางแผนระยะยาวของวันนี้ เราต้องมองแล้วว่า เราจะปรับรูปแบบการทำงานของเราโดยนำเรื่องนวัตกรรมมาใช้ได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ธุรกิจของเราอยู่รอด และมีอนาคต ในระยะยาว
2. การนำธุรกิจสู่โลกออนไลน์
หลายคนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่า จะเอามาเล่าใหม่ทำไม เพราะทุกวันนี้ใคร ๆ ก็ทำธุรกิจออนไลน์กันอยู่แล้ว บางคนยิงโฆษณา บางคนใช้ Line OA ไว้ตอบลูกค้า บางคนก็มีเว็บเป็นของตัวเองแล้ว ผมก็เลยจะมาบอกว่า จริง ๆ แล้วทุกวันนี้ การทำธุรกิจออนไลน์ของคนไทยจะมีแล้วก็จริง แต่เราก็ไม่ได้ทำธุรกิจออนไลน์อย่างครบวงจร ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากฝรั่ง ที่เขาทำออนไลน์จริง ๆ แบบครบวงจร คือการใช้ระบบ Automation ทั้งหมด แต่ของประเทศไทยเรายังไม่ไปถึงจุดนั้น เพราะเรายังต้องใช้คนเข้าไปทำ ยิ่งขยายธุรกิจใหญ่ขึ้น ก็ยิ่งต้องเพิ่มคนให้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ถือว่ายังเป็นการออนไลน์แบบไม่ครบวงจร ซึ่งใครที่คิดจะทำออนไลน์ให้ได้ผลดีจริง ๆ จะต้องทำให้ถึงจุดที่แม้แต่เวลาที่เรานอนหลับ ธุรกิจของเราก็ยังไม่หยุดขาย ลูกค้ายังซื้อของและโอนเงินมาเข้าบัญชีเรา นี่คือธุรกิจออนไลน์ที่สมบูรณ์
3. ตอบสนองความต้องการลูกค้าให้ทัน
ลองนึกดูว่า เวลาที่เราแชทไปหาคนที่ขายของ แล้วเขาไม่ตอบเรา การรอแค่ 3 – 5 นาที ก็ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิด ไม่ทันใจ และไม่ซื้อในที่สุด ตรงนี้คือสาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ยอดขายหายไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น โลกในทุกวันนี้ ทุกอย่างต้องการความเร็ว ถ้าเราตอบสนองความต้องการลูกค้าไม่ทัน สุดท้ายลูกค้าก็จะไปใช้บริการเจ้าอื่น ด้วยเหตุนี้ เราจะต้องมองหาระบบเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นแชทบอท หรือระบบการทำงานของคนที่คอยกำกับดูแล ว่าเราจะทำอย่างไรให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
4. เปลี่ยนโมเดลธุรกิจ
ในจุดนี้หลายคนที่สู้มานาน ๆ ท่ามกลางวิกฤตการณ์น่าจะเข้าใจดี ถ้าเคยเปลี่ยนวิธีการขาย เปลี่ยนระบบการทำงาน เปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว แต่ก็ได้แค่พยุงระยะ ซึ่งถ้าโควิดไม่หาย ธุรกิจก็มีแต่จะถดถอยลงไป เมื่อมาถึงในจุดนี้ หลาย ๆ คนก็ตัดสินใจเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ
เช่น โรงแรม ก็เปลี่ยนมาเป็นสถานที่สำหรับเป็นสตูดิโอถ่ายทอดสด หรือบางแห่งก็เปลี่ยนไปเป็นสถานที่กักตัว หรือโรงบาลสนาม และจนถึงที่สุดแล้ว ถ้าโควิดมันไม่ไปสักที เราก็ต้องมองแล้วว่า ถ้าโควิดมันยังอยู่กับเราอีก 1 ปี หรือ 2 ปี เราจะเอายังไงต่อไปกับธุรกิจนี้ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ กับเจ็บหนักไปเรื่อย ๆ
ดังนั้น วันนี้ผมอยากให้เราถอยออกมา แล้วมองว่าธุรกิจของเรา ถือเป็นธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจขาขึ้น หรือขาลง ถ้าเป็นช่วงขาลง ก่อนที่มันจะลงไปจนสุด จนเราไม่เหลืออะไร เราเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นดีไหม ที่มันเป็นธุรกิจขาดขึ้น
5. เปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์
ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนเร็วมาก สมัยก่อนการทำแบรนด์ เราอาจจะทำครั้งหนึ่งแล้วอยู่ได้ยาว ๆ เลย แต่ทุกวันนี้มันอาจจะไม่ใช่อีกต่อไป เพราะพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน สถานการณ์โลกเปลี่ยน เราก็ต้องกลับมาทบทวนตัวเองเหมือนกันว่าในแต่ละช่วงเวลา ถ้ากระแสทางธุรกิจมันเปลี่ยน เราจะต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์ หรือจะต้องปรับรายละเอียดของเรา ให้ทันกระแสหรือไม่ เหมือนกับการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์รถยนต์ Volvo ที่จากเดิม เป็นรถของกลุ่มผู้ใหญ่ ก็ปรับมาเป็นรถยนต์สำหรับกลุ่มวัยรุ่น เป็นต้น ซึ่งก็ถือเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่ประสบความสำเร็จเลยทีเดียว
6. ปรับกลยุทธ์ทางการเงิน
ถ้าธุรกิจปรับแล้ว แต่ก็ยังดูเหมือนยังจะไปไม่รอด ก็อย่าลืมมาดูรูปแบบของรายได้ของเราด้วย ว่ารายได้กับรายจ่ายในยุคปัจจุบันท่ามกลางโควิดนี้มันสอดคล้องกันหรือเปล่า บางทีเราก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับระบบการเงินใหม่ ต้องดูว่าโครงสร้างการเงินเป็นอย่างไร เรื่องไหนที่สำคัญที่สุด เรื่องไหนที่พักไว้ก่อน เรื่องไหนที่ต้องตัดออกก็ควรจะตัด ไม่เช่นั้นถ้าเราไม่ปรับกลยุทธ์การเงิน องค์กรก็อยู่ต่อไม่ได้
7. สร้างลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
Lead generation หรือ ลุกค้ากลุ่มเป้าหมาย คือสิ่งที่เราจะต้องมี ผ่านกระบวนการสร้างรายชื่อผู้มุ่งหวัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรจะทำอยู่ตลอดเวลา แต่เจ้าของธุรกิจหลายคนไม่เคยทำเรื่องนี้ ถ้าใครสังเกตดูจะพบว่าผมทำเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ผ่านกิจกรรมการแจกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น PowerPoint|, Link YouTube หรือสิ่งต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้าง Lead generation ของผมนั้นเอง เพราะเมื่อผมได้รายชื่อของคนที่สนใจมาแล้ว ผมก็จะทำการจัดหมวดหมู่ของข้อมูลว่า แต่ละคนที่สนใจความรู้เหล่านี้ เป็นใคร มาจากไหน
ซึ่งถ้าหากเราไม่มีการสร้างรายชื่อผู้มุ่งหวัง หรือ รายชื่อของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ก็จะทำให้ค่าการตลาดของเราแพงขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งมันไม่คุ้มค่า และเป็นสิ่งที่ผมไม่แนะนำเลย แต่ถ้าใครที่ไม่รู้วิธีการสร้าง Lead generation ก็ควรจะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งผมเองก็มีหลักสูตรในการสอนเรื่องนี้อยู่
8. หาพันธมิตรธุรกิจ
ถ้าเราสังเกตดูจะเห็นได้เลยว่า แบรนด์ใหญ่ ๆ หลาย ๆ แบรนด์ ต่างพากันหาพันธมิตรเพื่อร่วมมือกัน แชร์ข้อมูลร่วมกัน หรือทำแคมเปญบางอย่างร่วมกัน เช่น บาร์บีคิวพลาซ่า จับมือกับ แสนสิริ ซึ่งถ้าดูในภาพของธุรกิจแล้วเรียกได้ว่าไปกันคนละทางเลย คนหนึ่งขายอาหาร อีกคนหนึ่งทำโครงการบ้านจัดสรร แต่ปรากฏว่าพวกเขาก็สามารถสร้างแคมเปญร่วมกันได้ และประสบความสำเร็จด้วย
ดังนั้น การทำธุรกิจคนเดียวไม่สู้การทำธุรกิจร่วมกัน โดยเฉพาะในยุคนี้การหาพันธมิตรทางธุรกิจเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำอย่างยิ่ง
9. ต้องคุยกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอด้วยตัวเอง
คนที่ทำธุรกิจ แต่ไม่เคยไปคุยกับลูกค้าเลย ถือเป็นสิ่งที่ผิดมาก เพราะถ้าเราปล่อยให้แต่ลูกน้องไปคุยกับลูกค้า เราจะไม่สามารถมองเห็นภาพอย่างแท้จริง บางครั้งข้อมูลบางอย่างที่สำคัญ อาจจะไม่มาถึงเรา ปัญหาบางเรื่องที่ลูกค้าเจอ เราก็อาจจะไม่รู้ โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤติแบบนี้ ผมแนะนำว่าคนทำธุรกิจจะต้องเข้าหาลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ เราจะมองเห็นสถานการณ์ของตลาด มองเห็นว่าลูกน้องของเราทำงานเป็นอย่างไร มองเห็นว่าลูกค้าต้องการอะไร และจะสามารถเก็บลูกค้าเอาไว้ได้ ก่อนที่จะเสียเขาไป
ดังนั้น ในวินาทีนี้ ผมบอกกับทุกคนเสมอ ที่มาปรึกษาผมว่า อย่ายึดติดวิธีการ อย่าคิดว่าเราเป็นหัวหน้า เป็นเจ้านาย จะลงไปทำงานนอกเหนือหน้าที่ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นธุรกิจจะไปไม่รอด เพราะนี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ
และทั้งหมดนี้ก็คือ ธุรกิจควรทำยังไง โควิดไม่ไปไหนสักที ซึ่งผมอยากจะบอกกับทุกคนว่า ทุกวันนี้การปรับตัวสำคัญที่สุด บางครั้งถ้าปรับแล้วมันยังไม่เข้าที่ เราก็ต้องปรับต่อไปอีก บางทีคำตอบมันอาจจะยังไม่ได้อยู่ที่ประตูบานถัดไป ถ้ามันยังไม่ใช่ เราก็ต้องเปิดประตูบานใหม่ไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะออกจากปัญหานั้นได้ เพื่อให้ธุรกิจของเราอยู่ได้ในระยะยาว