พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
สำหรับการทำธุรกิจนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่ใครคิดจะทำก็ทำได้ เนื่องจากต้องใช้ทักษะเฉพาะตัวหลาย ๆ ได้ โดยเฉพาะทักษะที่เรียกว่า “ภาวะผู้นำ” ซึ่งเจ้าของธุรกิจแต่ละคน ก็จะมีรูปแบบของภาวะผู้นำที่แตกต่างกัน และเมื่อธุรกิจมีการเติบโต หรือขยายตัวขึ้น เจ้าของธุรกิจก็จะต้องปรับเปลี่ยนภาวะผู้นำของตัวเองให้สอดคล้องกับบริบท ณ ปัจจุบันนั้นด้วย เพราะถ้าใครบางคนไม่เคยปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารธุรกิจเลย เคยทำแบบไหน ก็ยังยึดติดอยู่กับสิ่งนั้น ก็อาจจะกลายเป็นผู้นำที่ปฏิบัติตัวไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ได้
ดังนั้น วันนี้เรามาเรียนรู้ 5 วิธีในการเป็นผู้นำที่สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้ดีที่สุด
1. AUTHORITARIAN – ความเป็นผู้นำแบบเผด็จการ
เป็นรูปแบบของผู้นำที่ค่อนข้างจะปกติในโลกของการทำธุรกิจ เพราะในการทำธุรกิจนั้น การตัดสินใจต่าง ๆ นั้นจะชี้ขาดโดยเจ้าของธุรกิจ ถ้าบริษัทไหนที่มีเจ้าของธุรกิจที่มั่นใจในตัวเอง มีความสามารถสูง เด็ดเดี่ยว มั่นคง ก็มักจะบริหารธุรกิจแบบผู้นำเผด็จการ ไม่สอบถามความคิดเห็นของบุคคลทั่วไป ไม่สอบความต้องการของพนักงาน โดยที่ตัวเขาจะเป็นคนที่มีความรู้มากที่สุด และผู้อื่นมีหน้าที่ปฏิบัติตาม ถ้าผู้นำคนไหนมีความคิดสร้างสรรค์สูง เขาจะไม่ต้องการไอเดียจากคนอื่นเลย และไม่ต้องการความเป็นประชาธิปไตยใด ๆ เลย
ข้อดีของผู้นำเผด็จการก็คือ ประหยัดเวลาในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ตลอดจนการมีสายบังคับบัญชาที่จัดเจน ลูกน้องไม่เกิดความสับสน และไม่มีการตัดสินใจที่สร้างความสับสน หรือซ้ำซ้อนกันของหัวหน้าแต่ละสายงาน จึงทำให้การทำงานเป็นไปตามแผนที่ได้วางเอาไว้
แต่ข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ ลูกน้องอาจจะไม่พอใจ จนทำให้เกิดแรงต่อต้าน หรืออัตราในการลาออกมีมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน ทำให้ไม่เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ นอกจากนี้ ยังจะพทำให้ขาดความรู้สึกในการมีส่วนร่วมของการทำงาน
ซึ่งผู้นำแบบเผด็จการนั้นถือเป็นรูปแบบการบริหารที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง ควรจะนำมาใช้ในเหตุการณ์ที่มีความวุ่นวาย พนักงานไม่มีความสามารถมากนัก รวมถึงในสถานการณ์คับขันมาก ๆ เกิดความโกลาหลวุ่นวาย เป็นวิกฤตที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ก็จำเป็นที่จะต้องใช้รูปแบบของผู้นำเผด็จการ ในการที่จะนำองค์กรไปสู่ทางออกของการแก้ปัญหาได้
2. DELEGATION – ความเป็นผู้นำแบบมอบหมายภารกิจ
จะเป็นผู้นำที่มีความไว้วางใจในทีมงาน ไม่ว่าทีมงานคนนั้นจะเก่งหรือไม่เก่งก็ตาม แต่จะอาศัยความไว้วางใจและมอบหมายภารกิจให้ทีมงานคนนั้นได้ทำ ซึ่งเทคนิคนี้ใช้ได้ดีเฉพาะกับบุคลากรที่มีประสบการณ์ มีความสามารถสูง การมอบหมายแบบนี้จะทำให้บรรยากาศในการทำงานเป็นไปอย่างคล่องตัว ทีมงานก็รู้สึกว่ามีคุณค่าและความสำคัญ บรรยากาศก็จะเป็นไปในเชิงบวก รวมถึงยังมีโอกาสเกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะต่างคน ต่างก็จะใช้วิธีการขับเคลื่อนภารกิจที่ตัวเองได้รับนั้นให้สำเร็จลุล่วงได้หลายรูปแบบ
ซึ่งการนำองค์กรในลักษณะนี้ จะเห็นได้ชัดเจนมากในวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก ในตัวละครที่ชื่อว่าเล่าปี่ โดยตัวเล่าปี่นั้นอาจจะไม่ค่อยรู้รายละเอียดในการรบ กลยุทธ์การทำศึกสงครามมากนัก แต่เขาจะใช้วิธีการมอบหมายให้คนที่มีความสามารถในเรื่องนั้น ๆ เป็นผู้ไปทำแทน ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ
แต่ข้อเสียของผู้นำรูปแบบนี้ก็คือ การให้อำนาจพนักงานไปปฏิบัติภารกิจ ให้อำนาจในการตัดสินใจ โดยที่เราไม่มีวิธีการติดตามควบคุมกระบวนการ ก็จะทำให้เกิดความเสียหาย ถ้าพนักงานคนนั้นไม่เก่งพอ และถ้าไม่มีการกำหนดผลลัพธ์ และกระบวนการที่จัดเจน ความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานก็อาจจะพาออกทะเลไปได้
3. PARTICIPATIVE – ความเป็นผู้นำแบบมีส่วนร่วม
เป็นรูปแบบความเป็นผู้นำพที่มีรากฐานมาจากทฤษฎีประชาธิปไตย โดยมีสาระสำพคัญคือการให้สมาชิกในทีมมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งถ้าพูดกันตามตรง ก็กล่าวได้ว่าผู้นำลักษณะนี้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ต้องใช้การตัดสินใจที่รวดเร็ว แบบปัจจุบันทันด่วน เนื่องจากกระบวนการบริหารสถานการณ์ต่าง ๆ จะต้องใช้เวลานาน กว่าที่จะตัดสินใจได้ในแต่ละเรื่อง
ดังนั้น ผู้นำแบบประชาธิปไตย สามารถนำมาใช้ได้ในบางสถานการณ์ของการทำธุรกิจ ไม่ใช้สูตรสำเร็จที่จะนำไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีความยืดหยุ่น และรู้ว่าสถานการณ์ใด ควรที่จะใช้ภาวะความเป็นผู้นำแบบไหน
ข้อดีของผู้นำแบบประชาธิปไตย คือจะทำให้พนักงานมีความพึงพอใจในการทำงาน มีแรงจูงใจเพิ่มขึ้น เพราะเขาเองจะรู้สึกว่ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดการมีส่วนร่วมในการทำงาน ทำให้ทีมความแข็งแกร่ง แต่ข้อเสียก็คือเป็นการบริหารงานรูปแบบนี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในทุกเรื่อง เนื่องจากต้องใช้เวลานานในทุกกระบวนการตัดสินใจ นอกจากนี้ การเป็นผู้นำโดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมนั้น จะจัดการเรื่องความลับขององค์กรได้ยากมาก เพราะข้อมูลทุกอย่างจะต้องแชร์กัน ซึ่งบางครั้งคู่แข่งอาจจะส่งไส้ศึกแฝงตัวมาทำงานกับเรา เพื่อล้วงความลับ ดังนั้น ถือเป็นการบริหารงานที่ไม่ปลอดภัยมาก ๆ ถ้าไม่สามารถเก็บความลับขององค์กรเอาไว้ได้
4. TRANSACTIONAL – ความเป็นผู้นำแบบตบรางวัล
เป็นผู้นำที่มีการให้รางวัล และมีการลงโทษแบบชัดเจน โดยจะเหมาะกับการบริหารขาย เช่น ถ้าสามารถปิดยอดขายได้ตามเป้า ก็จะได้ค่าคอมฯ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าขายไม่ได้ ก็เหลือค่าคอมฯแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในลักษะนี้จะต้องมีเป้าหมาย วิธีการปฏิบัติ ขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน ก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูง เพราะพนักงานจะเกิดแรงจูงใจในการทำงานตามขั้นตอนที่กำหนดเอาไว้ให้ดีที่สุด เพื่อรางวัลต่าง ๆ ที่ตั้งเอาไว้
ข้อดีคือผู้นำรูปแบบนี้สามารถกำหนดผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน กำหนดระยะเวลาให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างชัดเจน โดยที่ไม่ต้องไปควบคุมมากนัก เพราะทุกคนต่างก็มีแรงจูงใจในการทำงานอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่ข้อเสียก็คือการทำให้พนักงานไม่สนใจเป้าหมายส่วนรวม ต่างแผนก ต่างบุคคลก็จะสนใจแต่เป้าหมายตัวเอง ทำให้การมีส่วนร่วมน้อยลง และในการทำงานทุก ๆ เรื่องจะต้องให้รางวัลตลอดเวลา ถ้าไม่มีรางวัล พนักงานก็จะไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน รวมถึงการบริหารองค์กรแบบนี้ ให้ระลึกเอาไว้ได้เลยว่า ถ้าหมดผลประโยชน์เมื่อไหร่ ลูกน้องก็หนี…
5. TRANSFORMATIONAL – ความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
เป็นผู้นำที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนในองค์กร อย่างหลาย ๆ บริษัทตอนนี้ก็ต้องการความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เติบโตและอยู่รอดต่อไปได้ โดยผู้นำความเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นผู้นำพสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ติดตามของเขาด้วยวิสัยทัศน์ ส่งเสริม และผลักดัน ให้อำนาจต่าง ๆ ตามสมควร เพื่อให้ผู้ตามทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กรไปได้อย่างบรรลุวัตถุประสงค์
อุปสรรค์สำคัญของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั้น ก็คือการที่บุคคลทั่วไปไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงคือสภาวะที่ไม่คงเดิม เช่น พนักงานจะต้องพัฒนาตัวเองให้มากกว่าเดิม หรือถ้าจังหวะที่เศรษฐกิจไม่ดี ก็จะต้องลดเงินเดือนลงไป เป็นต้น ซึ่งทั้งความเปลี่ยนแปลงแบบขึ้น หรือลงต่าง ๆ นั้น ไม่มีพนักงานคนไหนชอบสิ่งเหล่านี้ เพราะทุกคนชอบสถานการณ์ที่นิ่ง ๆ เนื่องจากเป็นความรู้สึกที่ปลอดภัย ซึ่งการที่จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กรได้จะต้องเปลี่ยนตั้งแต่วิธีคิดและวิธีทำ ซึ่งการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่บริษัทอาจจะต้องใช้เวลาเป็นปี หรือในบางกรณีก็ต้องมีการลดจำนวนพนักงานพ
แต่ข้อดีของการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงก็คือ ถ้าองค์กรสามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น สิ่งที่พนักงานจะได้รับก็จะดีขึ้นเช่นเดียวกัน และเมื่อพนักงานได้ประโยชน์จากองค์กร เขาก็จะรักองค์กร อัตราการลาออกของพนักงานจะลดลง ขวัญกำลังใจของพนักงานก็จะสูงขึ้น
ข้อเสียของการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงก็คือ จะต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่านนานพอสมควร และถ้าพนักงานคนไหนปรับตัวตามนโยบายไม่ได้ ก็จะหลุดออกจากองค์กรไป
และทั้งหมดนี้ก็คือ ผู้นำแบบไหนดีที่สุด สำหรับธุรกิจคุณ ซึ่งมีภาวะของผู้นำ 5 แบบให้เราได้เลือกใช้กัน และหยิบจับเอารูปแบบมาใช้ให้เหมาะสมกับจังหวะและโอกาสของการขับเคลื่อนองค์กรว่ากำลังอยู่ในภาวการณ์แบบใด รวมถึงถ้าใครอยากจะรู้ว่าตัวเองเป็นผู้นำ style ไหน หรือในสถานการณ์ที่กำลังทำธุรกิจอยู่นั้นได้ผลลัพธ์แบบไหน ก็สามารถทำแบบทดสอบ Identity Discovery Test ได้ที่ https://event.pay4tomorrow.com/identitytest