พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
มีศัพท์ทางจิตวิทยาอยู่คำหนึ่งคือ EF (ExecutiveFunction) ซึ่งในด้านการทำธุรกิจนั้น เราก็สามารถเชื่อมโยงเรื่องของ EF ให้เข้ากับทักษะของผู้ประกอบการได้ด้วยเหมือนกัน เพราะสิ่งนี้จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการทำงานต่าง ๆ ในทุกมิติ รวมถึง EF นั้นยังเป็นสิ่งที่เราสามารถฝึกได้ ซึ่งถ้าใครได้ฝึกมันจนชำนาญ ก็จะเท่ากับว่าเป็นการอัพเกรดสมองของผู้บริหารมืออาชีพมาไว้ในตัวเลยทีเดียว
เนื่องจากการเป็น CEO หรือเป็นผู้บริหารองค์กรน้อง สมองจะต้องมีศักยภาพสูงมาก เพราะต้องรองรับความกดดัน ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องรู้วางแผน จัดลำดับขั้นตอนก่อนหลัง ต้องรู้วิธีแก้ปัญหา รวมถึงต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบและถูกต้อง
ดังนั้น ผมจะมาเล่าให้ฟัง ว่าเราจะฝึกสมองยังไง ให้มีสมองแบบ CEO มืออาชีพได้ ซึ่งทักษะที่ว่านั้นจะประกอบด้วย 9 ข้อ ดังนี้
1. ริเริ่มลงมือทำ (Initiating)
พื้นฐานที่สำคัญของ CEO คือการเป็นคนที่มีความคิดริเริ่ม และมักจะเป็นผู้นำทางความคิด มีไอเดียใหม่ ๆ และลงมือทำนำหน้าคนอื่น เราอาจจะเห็นว่า CEO เหมือนไม่ค่อยได้ทำอะไร แต่น้อยคนจะเข้าใจว่า สมองของ CEO นั้นถูกฝึกมาให้คิดอยู่ตลอดเวลา และสามารถที่จะเริ่มโปรเจ็คใหม่ ๆ ได้อย่างที่ใครคาดไม่ถึง
ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องฝึกก็คือ การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์แล้วลงมือทำ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง และเนื่องจากอาจจะเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน เราก็จะต้องพร้อมที่จะเป็นผู้บุกเบิก
2. วางแผนดำเนินการ (Plan&Organizing)
สมองของ CEO จะถูกฝึกให้เป็นนักวางแผน และรู้จักบริหารจัดการงานต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยมีแผนแล้วก็ยังต้องมีกระบวนการในการทำงานด้วย เพื่อให้ทีมงานสามารถมาทำงานร่วมกันได้ตามบทบาทหน้าที่ ผ่านระบบการทำงาน ซึ่งมีการตรวจสอบประเมินผลอย่างเป็นระบบ ซึ่งในกระบวนการทำงานนั้น CEO ไม่จำเป็นจะต้องรู้รายละเอียดปลีกย่อยทั้งหมดก็ได้ แต่จะต้องรู้รายละเอียดในภาพรวมทั้งหมด และกำหนด KPI ชี้วัดในตอนท้าย เพื่อจะทำให้เกิดการบริหารจัดการที่ง่ายขึ้น โดยที่ CEO ไม่ต้องลงไปดูในทุกขั้นตอน
ดังนั้น เราจะต้องฝึกที่จะทำงานอย่างมีเป้าหมาย วางแผน จัดระบบ ดำเนินการ และประเมินผล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นทักษะที่จะทำให้เรากลายเป็นนักบริหาร คือทั้งบริหารภารกิจ และบริหารคนด้วยนั้นเอง
3. มุ่งเป้าหมาย(Goal-directed persistence)
อันนี้ก็เป็นทักษะของสมองอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือ CEO จะเป็นคนที่มุ่งมั่นในเป้าหมาย มีความพากเพียรวิริยะ และมีมุมมองที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ จนกว่าจะไปถึงเป้าหมายได้
ดังนั้น เราเองจะต้องฝึกตนให้เป็นรู้จักอดทนต่อปัญหาและอุปสรรค มีความมุ่งมั่นในการที่จะก้าวไปสู่เป้าหมาย เพราะในการทำงาน การอดทนพากเพียรถือเป็นกุญแจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราผ่านพ้นปัญหาและอุปสรรคไปได้ โดยไม่ยอมแพ้หรือถอดใจไปเสียก่อน
4. จดจ่อใส่ใจ (Focus/Attention)
ทักษะของการมีจิตที่จดจอ ถือเป็นอีกคุณสมบัติสำคัญของ CEO เพราะถ้าหากไม่มีจิตใจที่จดจอแน่วแน่พอ การคิดการตัดสินใจต่าง ๆ ก็ผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากว่าในแต่ละวันจะต้องปะทะกับเรื่องราวที่หลากหลาย ซึ่งถ้าหากขาดสมาธิการคิดหรือการทำก็อาจจะผิดพลาด
ดังนั้น เราจะต้องฝึกให้ตัวเองมีสมาธิ มีสติ มีความแน่วแน่มั่นคง โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ ซึ่งมีสิ่งต่าง ๆ มาดึงดูดความสนใจของเรามากมาย เช่น สื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่จะดึงดูดความสนใจของเราไป จนทำให้กลายเป็นคนสมาธิสั้นได้ นอกจากนี้ เรายังจะต้องฝึกฝนให้ตนเองมีจิตใจไม่โลเล เพราะหลาย ๆ คนที่มีความคิดหรือไอเดียเยอะ ๆ พอเจอเรื่องอะไรที่ยาก ๆ หรือเจออุปสรรค ก็มักจะหันไปทำอย่างอื่นแทน แล้วก็เปลี่ยนสิ่งที่ทำเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็ทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง ด้วยเหตุนี้ เราจะต้องฝึกตนให้มีความสมดุล ทั้งความคิดและการกระทำ ต้องจดจอใส่ใจ
5. ควบคุมอารมณ์ (Emotional control)
การคุมอารมณ์ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญข้อหนึ่งของคนที่เป็น CEO หรือผู้บริหารองค์กร เพราะถ้าหากผู้บริหารอารมณ์เสียง่าย ลูกน้องก็จะรู้สึกไม่ดี และเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่สนิทใจในการที่จะทำงานร่วมกัน ผิดกับผู้บริหารอีกประเภทหนึ่งที่มีการควบคุมอารมณ์ได้ดี มีความฉลาดทางอารมณ์ คนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้อง ก็จะรู้สึกสนิทใจ มีความรู้สึกที่ดี และอยากจะร่วมงานด้วย
ดังนั้น เราจะต้องฝึกในเรื่องของการจัดการอารมณ์ได้เหมาะสม ไม่ใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา รวมถึงต้องแสดงออกอย่างเหมาะสมกับกาลเทศะ
6. ประเมินตนเอง (Self monitoring)
ผู้บริหารจะต้องมีมุมมองในการยอมรับข้อผิดพลาด และประเมินตนเองบ่อย ๆ เนื่องจากว่า เมื่อเราเติบโตขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งระดับสูงขององค์กรแล้ว ก็มีน้อยคนมากที่จะกล้ามาชี้แนะเรา หรือบอกข้อด้อยของเรา ดังนั้น ทักษะในการประเมินตัวเอง ถือเป็นอีกข้อหนึ่งที่ CEO จะขาดไม่ได้ รวมถึงยังจะต้องเปิดใจกับคำแนะนำต่าง ๆ ที่คนอื่นสะท้อนขึ้นมาด้วย เพื่อให้เราสามารถแก้ไขข้อบกพร่องและพัฒนาตัวเองต่อไปได้
ดังนั้น ในมุมของการฝึกฝน เพื่อให้เรามีคุณสมบัติแบบ CEO มืออาชีพ เราจะขาดเรื่องนี้ไปไม่ได้เลย เราจะต้อง ทบทวนตัวเองบ่อย ๆ และเรียนรู้ แก้ไข ปรับปรุงให้ดีขึ้น
7. จำเพื่อใช้งาน (Working memory)
คุณสมบัตินี้ถือเป็นคุณสมบัติของคนที่มีความชำนาญในการทำงานจนกลายเป็นสัญชาตญาณก็ว่าได้ คล้าย ๆ กับคนที่พิมพ์ดีดได้โดยที่ไม่ต้องมองแป้น เนื่องจากว่าเขาฝึกทำมันจนชำนาญ กลายเป็นความทรงจำของร่างกายไปแล้ว
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า CEO เก่ง ๆ จะมีทักษะแบบ Working memory ด้วยกันทั้งสิ้น คือเป็นคนที่ทำงานเก่งอย่างเป็นธรรมชาติ ดูแล้วเหมือนไม่ต้องใช้ความพยายามมากนั้น แต่ก็จัดการเรื่องยาก ๆ ได้หมด ซึ่งสิ่งนี้เกิดจากการฝึกฝนและประสบการณ์ในการทำงาน บ่มเพาะจนเชี่ยวชาญ และดึงเอาศักยภาพต่าง ๆ ที่มีในตัวออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในเวลาคับขันที่ต้องตัดสินใจอย่างเร่งด่วน หรือในเวลาที่ต้องแก้ปัญหาอย่างปัจจุบันทันด่วน CEO เก่ง ๆ จะสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างดีเยี่ยม และเป็นธรรมชาติ
ดังนั้น การฝึกฝนของเราก็คือ เราจะต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงาน รู้จักสังเกต จดจำ และจัดการกับข้อมูลที่ได้รับ แล้วนำมาคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงหาเหตุผล จากนั้นก็ลงมือทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะการฝึกฝนวิธีคิดอย่างเป็นระบบนั้น ท้ายที่สุดจะทำให้เราทำงานเก่ง และมีทักษะแบบ Working memory
8. ยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory control)
การแสดงออกของ CEO ถือว่าเป็นสิ่งที่จะสร้างแรงสั่นสะเทือนได้มาก ทั้งในเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดีก็ตาม ดังนั้น CEO ที่เป็นมืออาชีพ เราจะเห็นได้ว่า ก่อนที่เขาจะตัดสินใจ หรือทำอะไรลงไป เขาจะพยายามรับข้อมูลให้ครบถ้วน แล้วนำมาคิดไตร่ตรองเป็นอย่างดี ก่อนจะตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ
รวมถึง ในบางเรื่อง เขาก็อาจจะยับยั้งตัวเองเอาไว้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับลูกน้องได้ลงไปจัดการ เพราะ CEO ไม่จำเป็นต้องลงไปแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่ควรปล่อยให้ลูกน้องได้เรียนรู้บ้าง เพื่อให้เขาได้ฝึกพัฒนาตัวเอง และเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบที่ทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ ไม่ใช่เรื่องอะไรก็รอแต่ให้เจ้านายคิดอย่างเดียว
ดังนั้น ถ้าเราจะฝึกฝนในทักษะนี้ เราจะต้องฝึกที่จะ หยุด..เพื่อคิดไตร่ตรองก่อนทำหรือพูด รู้จักยับยั้งชั่งใจ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมตามจังหวะและโอกาส
9. ยืดหยุ่นความคิด (Cognitive flexibility)
สิ่งนี้ถือเป็นลักษณะสำคัญของ CEO มืออาชีพเลยทีเดียว เพราะทักษะของความคิดที่ยืดหยุ่น จะช่วยให้เกิดช่องทางใหม่ ๆ ในการก้าวไปสู่เป้าหมาย บางครั้งเราก็จำเป็นที่จะต้องทำอะไรนอกกรอบ เรื่องบางอย่างถ้าไปทางตรงไม่ได้ ก็ต้องลองหาทางอื่นดู เหมือนกับการที่เรากำหนดเป้าหมายเอาไว้อย่างมั่นคงไม่แปรเปลี่ยน แต่ยุทธวิธีสามารถที่จะปรับปรุงยืดหยุ่นได้ เพื่อให้การทำงานสำเร็จลุล่วงไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
ดังนั้น ในข้อนี้เราก็จะต้องฝึก ความคิดที่ยืดหยุ่น มองสถานการณ์ให้เห็นในหลากหลายมุมมอง และเปิดรับความคิดใหม่ ๆ ไม่ว่าจะมาจากใครก็ตาม เนื่องจากความคิดใหม่ ๆ นั้นสำคัญมาก บางอย่างเราก็อาจจะคิดไม่ถึง ดังนั้น การเปิดรับความคิด หรือไอเดียใหม่ ๆ ก็จะทำให้เกิดโอกาสในการต่อยอดพัฒนาความคิด และหลุดออกไปจากกรอบจำกัดต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ได้
และทั้งหมดนี้ก็คือ ฝึกสมองอย่างไรให้เป็น CEO มืออาชีพ ซึ่งถ้าหากว่าใครอยากเป็น CEO หรือผู้บริหารองค์กรเก่ง ๆ ก็ต้องเริ่มฝึกฝนเสียแต่วันนี้เลย แม้ว่าบางคนอาจจะยังไม่ได้เป็นผู้บริหารก็ตาม เพราะทักษะทั้ง 9 ข้อนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียงชั่วข้ามคืน แต่จะต้องใช้เวลาบ่มเพาะฝึกฝนสะสมประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ทักษะต่าง ๆ ที่ว่ามานี้เจริญงอกงามอยู่ในเนื้อในตัวเรา
รวมถึง หลักการทั้งหมดที่ว่ามานี้ เรายังสามารถเอาไปใช้ได้ในการทำงานทุกระดับ ไม่จำกัดเฉพาะแค่ในภาระงานของผู้บริหารเท่านั้น แต่มันจะเป็นผลดีต่อการทำงานของเราอย่างแน่นอน ถ้าหากเรามีทักษะทั้ง 9 ข้อนี้อยู่ในตัว ไม่ว่าตอนนี้เราจะเป็นเจ้านาย หรือลูกน้องก็ตาม