พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
ตัวผมเองมีโอกาสได้ทำงานกับหลาย ๆ บริษัท ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีกฎ กติกา มารยาท ที่แตกต่างกัน แต่หลาย ๆ บริษัทที่ประสบปัญหานั้น ไม่ได้มีความชัดเจนเท่าที่ควรว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ “จะไม่ทน…”
ซึ่งการที่เราบริษัท ก็เหมือนกับการที่เราปลูกต้นไม้ บางครั้งเราจะต้องมีการตัดแต่งกิ่งก้านสาขาให้เข้ารูปเข้าทรงที่เราต้องการ รวมถึงอาจจะมีการกำจัดวัชพืชต่าง ๆ ที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ แถมยังเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตขององค์กร
ดังนั้น วันนี้เราจะต้องมีความชัดเจนว่า พฤติกรรมพนักงานแบบไหน ที่เราจะไม่เก็บเอาไว้ และพฤติกรรมแบบไหนที่เราจะต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นเยอะ ๆ ซึ่งผมเองจะมาแบ่งปันเรื่องราวในหัวข้อที่ว่า พฤติกรรมพนักงานแบบไหน…ควรไล่ออกทันที เพื่อเป็นแนวทางในการวางกติกา เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของเรา ดังต่อไปนี้
1. มาสายตลอดกาล
พฤติกรรมการไม่ตรงต่อเวลาแบบนี้ ถ้าเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำ สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นมาทำงานสาย ส่งงานสาย เข้าห้องประชุมสาย ถ้าพฤติกรรมของพนักงานเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานโดยรวม เราก็ควรที่จะเชิญชวนให้เข้าไปทำงานที่อื่น อาจจะไปทำงานอิสระ หรือไปทำงานในบริษัทอื่นที่มีรูปแบบตารางเวลาสอดคล้องกับพฤติกรรมของเขา
เพราะถ้าหากเราปล่อยให้คนนี้ยังอยู่ในบริษัทของเราได้ต่อไป โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย คนที่มีพฤติกรรมดี ๆ ตรงต่อเวลา เขาก็จะรู้สึกว่าเดทไลน์ หรือการตรงต่อเวลาไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป จนทุกคนในองค์กรจะทำงานช้า ไม่ยึดถือเรื่องการตรงต่อเวลา จนกลายเป็นโรคระบาดที่ส่งต่อพฤติกรรมไปสู่พนักงานคนอื่น ๆ ทำให้วัฒนธรรมขององค์กรตกต่ำในที่สุด
ถ้าเรามีพนักงานที่ทำอะไรก็สายไปหมด พอถึงจังหวะสำคัญ ๆ ก็จะเกิดความเสียหายได้ เพราะบางครั้งเราอาจจะมีการทำสัญญากับลูกค้าเอาไว้ มีการกำหนดเงื่อนไขเรื่องเวลา ซึ่งการตรงต่อเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ดังนั้น เราควรที่จะมีการวางกติกาที่ชัดเจน ถ้าใครมาสายก็จะต้องมีการตักเตือน ครั้งแรกอาจจะเตือนด้วยวาจา ครั้งต่อไปก็ออกเป็นจนหมายเตือนอย่างเป็นทางการ ว่าการไม่ตรงต่อเวลาของเขานั้นสร้างผลกระทบอะไรกับบริษัท และถ้าเรามีการเก็บข้อมูลหลักฐานเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ ถ้าพนักงานคนนั้นยังไม่ปรับปรุงพฤติกรรม เราก็สามารถใช้หลักฐานตรงนี้เป็นเหตุผลบอกกับกรมแรงงานได้ ว่าพนักงานคนนี้มีพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายให้กับบริษัทอยู่ตลอดเวลา สามารถเชิญออกไปอยู่ที่บ้านได้
2. สร้างบรรยากาศเป็นพิษ
เป็นพฤติกรรมประเภทที่ชอบนินทาว่าร้าย ใส่ร้ายคนอื่น หรือหาเรื่องแกล้ง ซึ่งผมเองเคยได้มีโอกาสเข้าไปทำงานกับหลากหลายบริษัท ได้พบเจอกับเพื่อนพนักงานหลากหลายรูปแบบ บางคนก็อยากจะโดดเด่นคนเดียว อยากจะเป็นลูกน้องที่เจ้านายโปรดปราน แล้วเที่ยววางยา กลั่นแกล้งคนอื่นไปทั่ว จนทำให้บรรยากาศการทำงานถดถอยไปเลย
ผมเองก็เคยได้มีโอกาสเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง เรื่องก็มีอยู่ว่าน้องชายเจ้าของบริษัทได้เข้ามาแทรกแซงบทบาทหน้าที่ภายในองค์กร ทำให้หัวหน้างานที่มีอำนาจหน้าที่ตรงดูแลเรื่องนั้นจริง ๆ ไม่สามารถจะทำงานได้อย่างเต็มที่ โดนบั่นทอนอำนาจไป เนื่องจากเวลาที่เขาสั่งงานอะไรผู้ใต้บังคับบัญชาไป น้องชายเจ้าของบริษัทก็จะมาสั่งในสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน จนทำให้พนักงานไม่กล้าทำอะไร และสายบังคับบัญชาเกิดความสับสน ทำให้บริษัทเกิดความเสียหายในที่สุด
ดังนั้น ถ้าพนักงานคนไหนมีพฤติกรรมที่เป็นพิษ จนทำให้บรรยากาศในการทำงานมีปัญหา เราก็ควรที่จะไม่ปล่อยเอาไว้ให้ลุกลามใหญ่โตขึ้น โดยเราอาจจะทำเป็นคู่มือพนักงาน เพื่อบอกว่าอะไรคือพฤติกรรมของพนักงานที่บริษัทจะสนับสนุน และอะไรคือพฤติกรรมของพนักงานที่บริษัทจะไม่ได้รับการสนับสนุน แถมจะออกจดหมายเตือนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
ซึ่งการที่เรามีคู่มือพนักงานที่บอกรายละเอียดอย่างชัดเจน หากว่าเกิดปัญหาใด ๆ ขึ้นมา เราก็สามารถที่จะอ้างอิงจากคู่มือพนักงานเล่มนี้ได้เลย
3. ปฏิเสธความรับผิดชอบ
เป็นพนักงานประเภทที่ชอบโบ้ย โยนงานไปให้คนอื่นทำ ซึ่งพฤติกรรมประเภทนี้จะทำให้ระบบการทำงานเกิดปัญหาได้ เพราะในระบบการทำงานนั้น พนักงานแต่ละคนก็มีงานที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ ถ้าพนักงานคนไหนที่ชอบปัดภาระ โยนงานให้คนอื่นเป็นประจำ แม้ว่างานนั้นเป็นหน้าที่รับผิดชอบของตัวเอง พนักงานแบบนี้ก็ใช้ไม่ได้
ดังนั้น ในการวางระบบงาน เราจะต้องมี แบ่งเส้นความรับผิดชอบให้ชัดเจน ว่าพนักงานแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบเรื่องอะไรบ้าง แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าพนักงานจะทำแต่งานของตัวเองอย่างเดียว งานอื่นไม่สนใจ แบบนี้ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน เพราะในบางจังหวะ ในบางโอกาส แม้ไม่ใช่งานรับผิดชอบโดยตรง แต่หากเป็นเหตุสุดวิสัยที่เพื่อนร่วมงานต้องการความช่วยเหลือ ก็ต้องยืนมือเข้าไปช่วยด้วย
4. งานยุ่งตลอดเวลา แต่ไม่มีผลงาน
พนักงานบางคนขยันมาก ทำงานจนหัวหมุน แต่ผลงานไม่มี แบบนี้ก็ใช้ไม่ได้ ซึ่งเราคงจะเคยได้ยินคำกล่าวของคนโบราณที่ว่า ในยามรบทัพจับศึก มีทหารอยู่ประเภทหนึ่งที่จะถูกนำไปตัดหัว นั้นก็คือ “คนที่ขยันแต่โง่” เพราะว่าทหารพวกนี้จะนำความพินาศมาสู่กองทัพ
เพราะฉะนั้น การที่เราทำธุรกิจก็เหมือนกัน พนักงานคนไหนที่งานยุ่งตลอดเวลา ขยันมาก ๆ แต่ผลงานไม่มีเลย แบบนี้เราก็ต้องมาดูแล้วว่างานของเขาที่ได้ต่ำกว่ามาตรฐานหรือเปล่า พัฒนาตัวเองหรือเปล่า ถ้าไม่สามารถทำผลงานให้ได้ตามมาตรฐาน แบบนี้ก็ไม่ควรจะเก็บเอาไว้ในองค์กร
แต่ถ้าเขาสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ มีการฝึกฝน เรียนรู้ ไม่หยุดนิ่ง แบบนี้ก็เก็บเอาไว้ได้ เพราะจริง ๆ ความขยันก็เป็นคุณสมบัติที่ดี
5. เจ้านายไม่อยู่ หนูร่าเริง
พนักงานประเภทนี้คือจะต้องมีเจ้านายดูแลตลอดเวลา ถ้าเจ้านายไม่อยู่ก็เถลไถล ไม่ทำงานทำการ ซึ่งพนักงานลักษณะนี้จะทำให้เราทิ้งบริษัทไม่ได้ ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นธรรมดาที่เวลาเจ้านายไม่อยู่บริษัท พนักงานก็จะรู้สึกผ่อนคลาย สบาย ๆ แต่ก็ไม่ใช้ว่าจะผ่อนคลายจนไม่ทำอะไรเลย แบบนี้ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน
6. ไม่ทำตามนโยบายบริษัท
ข้อนี้สำคัญมาก เพราะถ้ามีใครสักคนไม่ทำตามนโยบายบริษัท แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็จะทำให้ทุก ๆ เลียนแบบ แล้วถ้าพนักงานจำนวนมากไม่ปฏิบัติตามนโยบาย บริษัทก็จะขับเคลื่อนการทำงานต่อไปไม่ได้ ซึ่งการไม่ทำตามนโยบายนั้น ก็เช่น หลบลี้หลีกหนี ไม่เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท, พูดจาคุกคามทางเพศ หรือนินทาว่าร้ายคนอื่น, จับกลุ่มตั้งภาคี เป็นก๊กเป็นเหล่า สร้างความขัดแย้งภายในองค์กร เป็นต้น
และทั้งหมดนี้ก็คือ พฤติกรรมพนักงานแบบไหน ควรไล่ออกทันที ซึ่งก็คงเป็นแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะพฤติกรรมของมนุษย์นั้นมีอยู่มากมายหลอกหลายรูปแบบ ดังนั้น คนที่เป็นเจ้าของบริษัทจะต้องมีการวางโครงสร้างกติกาในการอยู่ร่วมกันให้ชัด เพราะเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ขึ้น