พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์ ทั้งเกี่ยวกับการคัดเลือกคนที่จะมาทำงานให้ หรือแม้แต่ตัวผมเองก็ทำดิจิทัลเอเจนซี่ด้วย ก็ต้องบอกเลยว่าความหลากหลายของธุรกิจวันนี้ ได้ทำให้เกิดดิจิทัลเอเจนซี่ขึ้นมาเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด โดยปัจจุบันนี้เรียกได้ว่ามีการแตกแขนงและเชี่ยวชาญในแต่ละด้านแตกต่างกันเยอะแยะมากมาย
วันนี้เราจะมาเรียนรู้วิธีการทดสอบ วิธีการเลือกดิจิทัลเอเจนซี่ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ควรจะต้องใช้วิธีใดบ้าง ซึ่งผมได้นำเอาแนวทางมาฝาก 8 ข้อด้วยกัน ซึ่งถือเป็นแนวท้างหลักที่เราจะนำมาใช้พิจารณา เพราะจริง ๆ มีเยอะกว่านี้ โดยแนวทางดังกล่าว เป็นแนวทางที่ผมใช้เองด้วย ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่ผมไปนำเสนอลูกค้า หรือนั่งเป็นที่ปรึกษาทางการตลาด
8 อย่างที่คุณไม่ควรตัดสินใจพลาด และเสียเงินหลักล้านไปฟรี ๆ
1. เลือกจากชื่อเสียง
ถือเป็นการตัดสินใจเลือกที่ผิดมาก ๆ เพราะจริง ๆ แล้ว เอเจนซี่อาจจะไม่ได้เหมาะกับงานของเราก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่มีงบประมาณในการทำการตลาดออนไลน์ ปีละ 1 ล้านบาท แต่ว่าเราไปเลือกเอเจนซี่ที่มีชื่อเสียง Billing อาจจะอยู่ที่ 1 พันล้าน ซึ่งบางคนอาจจะแปลกใจว่าทำไมค่าใช้จ่ายถึงเยอะจัง ผมก็ต้องบอกว่าในสมัยก่อนนั้นเอเจนซี่อาจจะซึ่งโฆษณาทีวี วิทยุ หรือเวลาจัดคอนเสิร์ต ลูกค้าก็จะจ่ายเงินผ่านเอเจนซี่ เอเจนซี่ก็จะเป็นคนบริหารจัดการ เพราะฉะนั้น เวลาจัดอีเว้นท์ครั้งหนึ่งจะใช้เงิน 50 – 100 ล้านก็เป็นเรื่องปกติ ถ้าเอเจนซี่มีลูกค้าเจ้าใหญ่ในมืออยู่ 10 – 20 ราย การมียอดขาย Billing เป็นหลักพันล้านก็เป็นเรื่องธรรมดา
แต่พอมาถึงในยุคปัจจุบันก็คล้าย ๆ กัน คือเอเจนซี่รับซื้อแอดโฆษณาให้ด้วย แล้วเวลาจ่ายเงินก็จะจ่ายผ่านเอเจนซี่ ก็ทำให้เอเจนซีมียอดขาย Billing เป็นร้อย ๆ ล้าน พอถามเจอะลึกเข้าไปค่าบริการจริง ๆ ปีหนึ่งไม่กี่ล้าน เพราะฉะนั้น บริษัทที่มีชื่อเสียงก็ไม่ได้ความว่าเขาจะบอกกับเรา
เพราะเวลาที่มี Billing เยอะ ๆ ถ้าเรามีทำการตลาดออนไลน์แค่ปีละ 1 ล้าน แสดงว่าธุรกิจของเรานั้นมียอดขายแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายที่เขาต้องการ ดังนั้น ส่วนใหญ่เขาก็จะไม่ค่อยอยากทำ เพราะมันเสียเวลา เนื่องจากกินเวลาที่เขาจะไปหารายได้ที่มีมูลค่ามากกว่านี้ ตามที่เขาต้องการ พอธุรกิจของเราเป็นขนาดเล็ก เอเจนซี่เขาก็จะไม่ค่อยสนใจอยากทำงานกับเราเท่าไหร่
หรือในอีกกรณีนี้หนึ่ง ทุกวันนี้ช่องทางในการทำตลาดออนไลน์มันมีเยอะมาก และเอเจนซี่แต่ละเจ้าก็จะมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน เวลาลูกค้าจ้างเพิ่ม ถ้าในบ้างช่องทางที่เขาไม่ชำนาญ สุดท้ายเขาก็ต้องไปจ้างมือที่สามมาทำงานช่วยอยู่ดี และแน่นอนว่ามันก็จะมีค่าบริหารจัดการต่าง ๆ ตามมา ดังนั้น วันนี้เราต้องถามตัวเองให้ดีว่าเรายอมที่จะจ่ายค่าบริหารจัดการไหม ถ้าเกิดว่าตัวเราไม่พร้อมที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้ แสดงว่าเอเจนซี่เจ้านั้นอาจจะยังไม่เหมาะกับเราก็ได้
2. เลือกเพราะประทับใจการนำเสนอ
ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่มักจะเผลอใจเลือก เพราะความประทับใจในการนำเสนอ พื้นฐานผมชอบทีมที่เวลานำเสนอแล้วมีอารมณ์ร่วม เล่นใหญ่ จัดเต็มแบบชุดใหญ่ไฟกระพริบ และผมจะชอบเอเจนซี่ที่มีความเข้าใจเรื่องธุรกิจ ถ้าเจ้าไหนมาคุยแต่เทคนิค ผมก็จะไม่อยากคุยด้วย และเขาเองอาจจะไม่เข้าใจเรื่องการตลาดพอ เวลาทำงานด้วยแล้วก็จะยาก
หรือในบางกรณี ก็เลือกเพราะเคมีเข้ากันก็มี แต่บางทีก็ผิดพลาดได้ เพราะคนที่เข้ากันได้ดีมันไม่ได้หมายความว่าเขาจะมาทำงานให้เราได้ดี ดังนั้น เราก็ต้องเช็คประวัติให้ดี ๆ ด้วยว่าเขาเป็นคนยังไง มีทัศนคติแบบไหน อดทนใจสู้ไหม หรือไปแอบนินทาลูกค้าในเฟสบุ๊คส่วนตัวหรือเปล่า เป็นต้น
รวมถึงเราต้องดูการแชร์ข้อมูลความรู้ในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ความถี่ของข้อมูลมากน้อยแค่ไหน ถ้าทีมไหนเขาทำดี ทำเป็นประจำ อัพเดทเนื้อหาองค์ความรู้อย่างสม่ำเสมอ แบบนี้ก็น่าจะเป็นการเลือกที่รอบคอบขึ้น
ดังนั้น การเลือกเพราะความประทับใจในการแสดงตรงหน้านั้น อย่างเดียวอาจจะไม่พอ ต้องเช็คประวัติย้อนหลังด้วยเช่นกัน
3. เลือกจากผลงานที่ผ่านมา
เวลาผมนั่งพิจารณาเอเจนซี เลือกมา 3-5 เจ้า หลายคนจะออกตัวก่อนเลยว่าเคยทำงานให้กับบริษัทใหญ่ ๆ ดัง ๆ เยอะแยะมากมาย และปิดท้ายด้วยคำว่า “จ้างผมเถอะครับ!”
จริง ๆ ต้องบอกว่า…ไม่ว่าคุณจะเป็นคนธรรมดา ที่ไปสัมภาษณ์งานเพื่อให้ได้งาน คุณจะต้องทำการบ้านก่อน แต่ในกรณีนี้คือการไปนำเสนอเพื่อให้ได้เงินเป็นสิบล้านแบบนี้ คุณยิ่งจะต้องทำการบ้านให้ดี ต่อให้ลูกค้าไม่ได้ให้โจทย์อะไรเลย คุณก็ต้องทำการบ้าน ค้นหาข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ที่ควรจะรู้
ผมเคยเจอ ถามว่า “บริษัทเราทำธุรกิจอะไรบ้าง ขายที่ไหนบ้าง มีอะไรบ้าง…” พอถามไปแล้ว ถึงกับอึ้ง ตอบไม่ได้ เราก็คิดในใจว่าทำไมไม่มีการเตรียมตัวมาบ้างเลย แล้วแบบนี้เวลาทำงานด้วยกันจะทำการบ้านมาก่อนไหม
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะเลือกเอเจนซี ถ้าเจ้าไหนมานำเสนอโดยไม่มีการทำการบ้าน ไม่มีการเตรียมตัว ให้เราตัดทิ้งไปได้เลย เนื่องจากอย่างน้อย ๆ ก็ต้องทำการบ้านมาบ้าง แสดงศักยภาพของทักษะความคิดด้วย อย่าเลือกเฉพาะผลงานที่ผ่านมา เพราะเป้าหมายในการทำการตลาดออนไลน์มันไม่เหมือนกัน งบประมาณก็ไม่เท่ากัน บางคนออกตัวว่าทำให้เจ้านั้นแล้วประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แต่หารู้ไม่เบื้องหลังแล้วเจ้านั้นเขาอาจจะอัดฉีดเงินลงไปเยอะ เลยทำให้คนจำได้ หรือบางครั้งทีมงานอาจจะเป็นคนละทีมก็ได้
4. เลือกจากรางวัลที่เขาเคยชนะ
จริง ๆ คนที่ชนะรางวัลได้นี้ก็เก่งนะ ผมไม่ได้บอกว่าไม่เก่ง…
จากประสบการณ์ของผม เคยพบเลยว่าบางเอเจนซี่เขามีแผนกล่ารางวัลเลยนะ เพราะสมัยก่อนเวลาที่ใครได้รับรางวัล เข้ารอบการแข่งขัน ได้เข้าชิงรางวัลต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ บริษัทใหญ่ ๆ ในระดับประเทศเขาจะชอบเลือกใช้เอเจนซี่พวกนี้ บางครั้งเป็นนโยบายที่มาจากบริษัทแม่ในต่างประเทศเลยทีเดียว
แต่บางรางวัลที่ได้ เราไม่รู้ว่าได้มาด้วยเหตุผลกลใด บางครั้งอาจจะเป็นเพื่อน ๆ กัน โปรโมทกันเอง จ่ายเงินแล้วได้รางวัลมา ผมก็เคยเจอสินค้าบางตัวพึ่งออกมา สินค้ายังขายไม่ได้เท่าไหร่เลย แถมลูกค้าก็ยังไม่เยอะ แต่ไม่รู้ได้รางวัลได้ยังไง
ดังนั้น เราก็ต้องไปหาขอมูลดูว่ารางวัลไหนตัดสินด้วยผู้บริโภค ไม่ใช่ตัดสินด้วยการซื้อโหวต หรือโมโมทกันเองในกลุ่มเพื่อน ๆ กัน ด้วยเหตุนี้ การได้รับรางวัลของเอเจนซี่ ไม่ใช่ประเด็นหลักที่เราจะเอามาเป็นตัวชี้วัดในการตัดสินใจ
5. เลือกในสิ่งที่เขาทำเป็น
ในบางอุตสาหกรรม มันมีเครื่องมือ หรือโปรแกรมเยอะแยะมากมายเลยที่เราเคยได้ยินมา และเราอยากจะใช้ ซึ่งเอเจนซี่เจ้านั้นใช้เครื่องมือเป็น แต่ไม่เข้าใจโจทย์ทางธุรกิจ
ดังนั้น การที่เราจะจ้างคนเก่ง ๆ ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาและทำงานให้เราโดยเฉพาะ สิ่งที่เราพลาดไม่ได้เลย ก็คือ
- ทีมนั้นเขามีทีม Commercial เป็นคนที่เข้าใจเรื่องการตลาด การขาย หรือเปล่า
- ทีมนั้นเข้ากระโดดลงมาทำในอุตสาหกรรมของคุณจนเขามีความเข้าใจที่ดีพอ หรือเปล่า
- ทีมนั้นเขาลงตลาดไปกับคุณหรือเปล่า
ผมเองก็เคยได้ไปแข่งงานกันเอเจนซี่ระดับประเทศ ส่วนผมเองเป็นเอเจนซี่ระดับบ้าน ๆ สุดท้ายเฉือนชนะกันตรงที่ทีมผมลงพื้นที่มากกว่า อีกทีมหนึ่งเขาก็เก่ง แต่เขาเป็นประเภทที่นั่งหาข้อมูลอยู่บนโต๊ะ ไม่ได้ลงตลาดมากนัก ซึ่งจะสู้ทีมที่ลงตลาดจริง ๆ ไม่ได้ หยิบคำที่ลูกค้าพูดจริง ๆ มานำเสนอ ทั้งคำด่า คำชม ความประทับใจต่าง ๆ พอเรานำเสนอออกมา ก็ทำให้ชนะงานนั้นมาได้
ดังนั้น เวลาที่เราจะเลือกเอเจนซี่ เราควรดูว่าเอเจนซี่เจ้านั้นเขาได้ลงพื้นที่หรือเปล่า ถ้าเขาไม่ลงพื้นที่ก็ได้ แต่จะต้องเป็นเทพจริง ๆ ในอุตสาหกรรมด้านนั้น มีลูกค้าอยู่ในระบบ ทำเรื่องนั้น ๆ มาอย่างยาวนาน เข้านอกออกในมาอย่างทะลุปรุโปร่ง
6. เลือกใช้เพราะราคาไม่แพง
อันนี้เป็นสิ่งที่คนทั่ว ๆ ไปเขาคิดและทำกัน ผมเองก็เลือกเอเจนซี่เจ้าไหนที่มันเมคเซ้นส์ เพราะเราก็ไม่ได้มีบ่อน้ำมันหลังบ้าน แต่การเลือกเราไม่ได้ดูที่ราคาอย่างเดียว ว่าเป็นเจ้าที่มีราคาไม่แพง แต่เราต้องดูองค์ประกอบอย่างอื่นด้วยว่าเขาแตกงานหรือเปล่า
บางเจ้าชอบคิดราคาแบบเหมาะ ๆ ผมเคยเจอเจ้าหนึ่งคิดราคาประมาณ 170,000 บาท เขียนรายละเอียดมาประมาณ 10 บรรทัดว่าทำอะไรบ้าง ผมก็บอกว่าให้ไปแตกราคามาก่อน เพราะว่าถ้าในอนาคตมีปัญหาขึ้นมา เราจะไม่รู้เลยว่ารายละเอียดในส่วนไหนมีมูลค่าเท่าไหร่ เราจะไม่สามารถตรวจรับงานได้
ดังนั้น ผมจ้างเอเจนซี่ ก็เหมือนเวลาที่ผมจ้างสถาปนิกที่มาทำบ้านให้ผม ก็คือมีสเปคงานบอกหมดว่ารายละเอียดแต่ละส่วนเป็นอย่างไร เช่น
- Copywriting คิดราคาเท่าไหร่ต่อเดือน
- Graphic Design คิดราคาเท่าไหร่ต่อเดือน
- ยิ่งโฆษณาเท่าไหร่ต่อเดือน
- ค่าโฆษณาโดยตรงที่จะจ่ายให้กับ Facebook เท่าไหร่ต่อเดือน
- ค่าใช้จ่ายที่จะจ้าง Influencer เท่าไหร่ต่อเดือน แล้วแต่ละคนจะต้องทำอะไรบ้าง
- ฯลฯ
เราจะต้องลงรายละเอียดทั้งหมดเลย เพราะว่าถ้าหากเกิดปัญหาขึ้นมา เราอยากจะยกเลิกบางอย่าง มันก็ทำไม่ได้ และมันไม่แฟร์ด้วย เพราะอันไหนถ้าเอเจนซี่ทำไม่ดี เราก็ควรจะตัดเรื่องนั้นทิ้งได้ ทำงานเป็นเรื่อง ๆ ยอมรับและสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา และต้องกำหนดผลลัพธ์ของงานด้วยว่ามันจะเป็นยังไง เวลาแจกงานเราต้องแจกแจงให้ชัดเจนว่างานมันจะเป็นยังไง ผลลัพธ์มันจะเป็นยังไง
7. เลือกเซ็นสัญญาระยะยาวเพราะได้ดิวดี
มีอยู่เจ้าหนึ่งเสนอสัญญามา 10 ล้าน ก็บอก “ถ้าพี่ซื้อผม 10 ล้านต่อปี เดี๋ยวผมแถมอีเว้นท์สปอนเซอร์ชิพระดับประเทศเลย มูลค่าอีเว้นท์ 5 ล้าน” ฟังดูมันเจ๋งมาก ซื้อ 10 ล้านแถม 5 ล้าน เลยทีเดียว แต่พอดูไส้ในมันไม่ไหว มันไม่ตรงกัน ถ้าใช้ไปอาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่
ดังนั้น วิธีการแก้ตรงนี้ คือให้ลองเซ็นสัญญาณระยะสั้นก่อน ลองงานชิ้นเล็ก ๆ 2 – 3 งาน หรืองานระยะสั้น ๆ แค่ 1 เดือน พอลองทำด้วยกันแล้วมันโอเค ก็ค่อยตัดสินใจว่าจะทำงานด้วยกันยาว ๆ เพราะเรื่องเอเจนซี่นี้เลือกผิดคิดจนตัวตายเหมือนกัน
8. เลือกเพราะเอเจนซี่ดูฉลาดดี
อย่าคิดว่ามันไม่มีนะครับ…
ผมเองก็เคยอยู่ในบริษัทหนึ่งที่มียอดขายปีละ 3-4 ร้อยล้าน โตขึ้นไปเป็น 2 พันล้าน ภายในระยะเวลาแค่ 3 ปี ผมเคยอยู่ในบริษัทนี้ พอบริษัทโตเร็ว ๆ แบบนี้ ปัญหาหนึ่งคือเงินมันเหลือ พอเงินเหลือเราก็จ้างเอเจนซี่ที่ดีกว่าเดิม เพราะคิดว่ามันน่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมกับเรา
บางเจ้ามานำเสนอ ใช้คำศัพท์ ใช้คีย์เวิร์ดที่เราไม่รู้จักเลย บางเจ้าพูดเหมือนคนเก่งมาก ๆ เลย มีคำศัพท์เทคนิคมากมายเต็มไปหมด ชอบใช้คำพูดเทพ ๆ เวลาไปนั่งฟังขนาดผมเป็น Brand manager ผมรู้สึกว่าผมกลายเป็นคนโง่ไปเลย
เพราะฉะนั้นแล้ว อย่าเลือกแค่สิ่งที่เขาพูดมันฟังดูฉลาด ดูเทพ เอาเป็นว่า คนเก่งจริง เขาจะพูดเรื่องยาก ให้มันเข้าใจง่าย ๆ เหมือนกับที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยบอกว่า “ถ้าคุณไม่สามารถอธิบายเรื่องยาก ๆ ให้ฟังง่าย ๆ ได้ แสดงว่าคุณยังไม่เข้าใจมันมากพอ”
หรือมีคำพูดของนักการตลาดที่ว่า “ลูกค้าไม่สนใจหรอกว่าคุณเป็นใคร แต่ลูกค้าจะสนใจว่าคนที่แคร์ลูกค้า” เพราะฉะนั้นการที่เอเจนซี่พูดภาษาง่าย ๆ ลูกค้าฟังแล้วเข้าใจตรงกัน นั้นคือสิ่งที่จะลูกค้าต้องการ และรู้สึกได้ว่าคุณกำลังแคร์เขาอยู่
และทั้งหมดนี้ก็คือ ระวัง! เลือกดิจิทัลเอเจนซี่ผิด คิดจนตัวตาย ถ้าหากว่าใครเคยเลือกผิดก็ให้เลือกใหม่ซะ หรือถ้าหากใครเป็นเอเจนซี่แล้วทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ก็ให้เลิกทำซะ เพื่อให้คุณภาพงานและความคาดหวังของลูกค้า เป็นสิ่งที่จะสามารถมาบรรจบกันได้อย่างลงตัว