พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด การทำงานของบริษัทต่าง ๆ นั้น จะเป็นในลักษณะของการรักษาระยะห่าง ลดการปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ดังนั้น ในหัวข้อที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้ก็คือ สร้างพลังงานบวกอย่างไรในที่ทำงาน อาจจะไม่ได้หมายถึงการกลับไปอยู่รวมกันในที่ทำงานก็ได้ และเมื่อที่บ้านกลายเป็นที่ทำงาน เราเองก็จะต้องสร้างพลังบวกให้เกิดขึ้น
ซึ่งวิธีการที่จะสร้างพลังงานบวก ในทุกหนทุกแห่งที่เราทำงาน ก็มีดังนี้
1. ชื่นชมทันทีที่มีใครทำงานถูกต้อง
สมัยที่ผมเรียนจิตวิทยา ก็จะมีการกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า Reinforcement ซึ่งก็เป็นการเสริมกำลังใจ เพื่อให้ใครก็ตามที่ทำเรื่องดี ๆ เขาได้ทำเรื่องนั้นต่อไปอีก คล้าย ๆ กับตอนที่เราเป็นเด็ก เวลาที่เราทำอะไรถูกต้อง ทำอะไรดี ๆ พ่อแม่ของเราก็จะชื่นชม ปรบมือ หรือให้ของรางวัล สิ่งเหล่านี้ก็คือ Reinforcement เช่นกัน
ซึ่งเวลาที่เราชื่นชมบุคลากรของเราเวลาที่เขาทำสิ่งดี ๆ เราก็ควรจะต้องชื่นชมในที่สาธารณะ และอย่างลืมให้เหตุผลด้วยว่าทำไมถึงชื่นชม เพราะว่าในวันหลังเขาจะสามารถทำซ้ำได้ เนื่องจากว่าเวลาคนทำดีนั้น มันอาจจะเป็นการทำโดยที่เขาไม่รู้ตัว รวมถึงการให้เหตุผลนั้น ยังเป็นการทำให้คนอื่น ๆ ทราบด้วยว่า จะสามารถทำตามได้อย่างไร
รวมถึง การที่เรามีการชื่นชมสิ่งดีงามบ่อย ๆ ทุกคนจะรู้สึกถึงคุณค่าในสิ่งที่กำลังทำร่วมกัน
“อย่าลืมให้เหตุผล ว่าทำไมคุณถึงกล่าวคำชม”
2. ให้ความเชื่อมั่นกับคนในทีม
การที่เราให้ความไว้ว่างใจกับทีมงานนั้น ในทางอ้อมจะทำให้ทีมงานรู้สึกมั่นใจในตัวเอง บางครั้งทีมงานของเราอาจจะพึ่งได้มีโอกาสทำงานใหญ่เป็นครั้งแรก แต่ดันทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น ซึ่งนอกจากงานจะเสียแล้ว พนักงานก็จะทำให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเองไปด้วย
ดังนั้น เทคนิคเล็ก ๆ ที่ผมใช้ก็คือการที่เราให้ทีมงาน ได้มีโอกาสทดลองทำงานชิ้นเล็ก ๆ ก่อน พอทีมงานมีความมั่นใจว่าเขาทำได้ เราก็ค่อย ๆ ขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ยากขึ้นเรื่อย ๆ ทีละขั้น
เพราะตามหลักจิตวิทยานั้น มนุษย์จะมองเห็นขีดความสามารถของตัวเองได้น้อยกว่าความเป็นจริงเสมอ ซึ่งจริง ๆ แล้วทีมงานของเราอาจจะเป็นคนที่มีความเก่งในตัวอยู่แล้ว แต่การที่เราให้เขาทำงานง่าย ๆ ก่อน ก็เพื่อเสริมสร้างให้เกิดความมั่นใจขึ้นมาเสียก่อนนั้นเอง
นอกจากการที่เราไว้ใจทีมงานแล้ว เรายังจะต้องเรียนรู้วิธีคิดของคนในทีมเราอีกด้วย เพราะต่อให้คนที่เติบโตในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน อยู่ในครอบครัวเดียวกัน เรียนโรงเรียนเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีการตัดสินใจของเขาจะเหมือนกัน 100 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องศึกษาพฤติกรรมการตัดสินใจของทีมงาน เพื่อประเมินว่ามีอะไรเป็นสิ่งที่ดี อะไรเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา โดยที่เราจะต้องให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาอยู่เสมอ เพื่อให้ทีมงานรู้ว่าการตัดสินใจแบบไหนเป็นสิ่งที่ดี และเป็นสิ่งที่ได้รับคำชื่นชม
แต่ถ้าหากมีทีมงานคนใด ตัดสินใจแล้วเกิดความผิดพลาดขึ้นมา สิ่งแรกที่ควรทำไม่ใช่การไปดุด่าว่ากล่าว แต่เราจะต้องศึกษาว่าเพราะเหตุใด เขาจึงเลือกที่จะตัดสินใจแบบนั้น เพราะการที่เข้าลงลึกไปถึงระบบการคิดของทีมงาน เราจึงจะสามารถให้คำปรึกษาได้
ถ้าเราคิดจะไว้ใจทีมงาน เราก็ต้องวางใจให้เป็น และต้องกำหนด KPI ใช้ระบบติดตาม ให้ความช่วยเหลือ แล้วทีมงานของเราก็จะเกิดความเชื่อมั่น ตลอดจนบรรยากาศในการทำงานจะดีขึ้นด้วย
“ถ้าเราคิดจะไว้ใจทีมงาน เราก็ต้องวางใจให้เป็น”
3. สร้างวัฒนธรรมการเฉลิมฉลอง
สร้างบรรยากาศดี ๆ ด้วยการเฉลิมฉลองร่วมกันเมื่อมีลูกค้าเข้ามาใหม่ โดยวิธีการนี้ถือเป็นการปลุกพลังงานบวก ให้ทุกคนเกิดความปิติยินดีร่วมกัน ซึ่งแนวคิดนี้ผมได้รับมาจาก Bartercard Thailand ซึ่งเป็นบริษัทของเพื่อนผมเอง โดยวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทแห่งนี้น่าสนใจ และน่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างมาก
นั้นก็คือ บริษัทแห่งนี้จะมีระฆังใบใหญ่ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของพื้นที่ทำงาน และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีรายได้เข้าบริษัท หรือมีลูกค้าใหม่ ก็จะมีคนไปตีระฆัง และเมื่อทุกคนในบริษัทใดยินเสียงระฆัง ทุกคนจะยืนขึ้น โห่ร้อง ปรบมือ เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จรวมกันด้วยความปิติยินดี
ซึ่งเทคนิคนี้เราสามารถที่จะประยุกต์ไปในแบบอื่น ๆ ก็ได้ เพราะไม่ใช้ทุกบริษัทจะสามารถเอาระฆังมาตีได้ เนื่องจากข้อจำกัดเฉพาะตัวต่าง ๆ โดยในบริษัทของผมก็ได้มีการประยุกต์ใช้เทคนิคนี้เช่นกัน แต่เป็นการส่งข้อความเฉลิมฉลองความสำเร็จร่วมกันใน Line กลุ่ม ในเวลาที่ปิดยอดขายได้
4. ทำให้ตัวเองมีพลังงานบวก
เวลาที่เราเดินเข้าในสถานที่ใดแล้วเราเคยรู้สึกไหมว่ามันมีพลังงานดี ๆ หรือบรรยากาศดี ๆ ที่ทำให้เราสัมผัสได้ ทำให้รู้สึกได้ถึงพลังบวก แต่บางสถานที่เวลาเราเดินเข้าไป แล้วจะรู้สึกถึงพลังงานลบ เช่น กดดัน รู้สึกเครียด รู้สึกหดหู่ เป็นต้น
คำถามก็คือ ถ้าให้เราเลือกเข้าไปนั่งทำงาน เราจะเลือกเข้าไปนั่งทำงานในสถานที่ซึ่งให้พลังงานและความรู้สึกแบบไหน เพราะพลังงานมันเป็นโรคติดต่อ เวลาที่เราไปอยู่ในสถานที่แบบใด เราก็จะติดพลังงานแบบนั้นมาด้วย
ดังนั้น การที่เราทำให้ตัวเองมีพลังงานบวก พลังงานนี้ก็จะไปหนุนให้เพื่อนร่วมงานของเรามีพลังงานบวกด้วยเช่นกัน และที่ควรระวังมีที่สุดคือ อย่าเผลอทำให้ตัวเองเป็นตัวปล่อยพลังงานลบให้กับเพื่อร่วมทีม หรือถ้ามีใครในทีมที่กำลังตกอยู่ในพลังงานลบ เราก็ควรที่จะฉุดเขาขึ้นมาจากอารมณ์และความรู้สึกตรงนั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนแค่หนึ่งคนในทีม มันจะส่งผลถึงคนอื่น ๆ ด้วย ไม่ทางตรง ก็ทางอ้อม
“เพราะพลังงานเป็นโรคติดต่อ มันแพร่กระจ่ายไปสู่คนอื่นได้
ไม่ว่าจะเป็นพลังงานบวก หรือพลังงานลบก็ตาม”
5. สร้างสังคมที่ดีในที่ทำงาน
เราออกจากบ้านใช้เวลาสองสามชั่วโมง และระยะเวลาที่กลับบ้านเท่ากัน และทำงานอยู่ในบริษัท 8 ชั่วโมง แสดงว่าเวลาที่เราทุ่มเทไปให้กับการหาเงินนอกบ้านมากกว่า 10 ชั่วโมง ถ้าสังคมในที่ทำงานเป็นสังคมที่ไม่ดี มันต่างอะไรกับการที่เราเผาพลาญชีวิตในแต่ละวันของเราให้หมดไปในขุมนรก
ดังนั้น สังคมที่ดีเริ่มต้นจากตัวเราเอง ด้วยเหตุนี้สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือการสร้างสังคมที่ดีในรูปแบบที่เราพอจะทำได้ ถ้าเราเปลี่ยนภาพใหญ่ไม่ได้ เราเริ่มจากที่เล็ก ๆ คือสร้างสังคมที่ดีในกลุ่มของเรา เพื่อนของเรา ทำให้มันเป็นสังคมที่ดี
6. เปลี่ยนบรรยากาศ
ควรมีการเปลี่ยนบรรยากาศ โดยหากิจกรรมมาทำร่วมกัน เป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานผ่อนคลาย เช่น เล่นกีฬา เล่นเกม ไปเที่ยง กินเลี้ยงสังสรรค์ เข้าแคมป์ เป็นต้น
ธรรมชาติของคนเราจะจดจำรายละเอียดในการทำงานไม่ได้ แต่สิ่งที่เราจะไม่ลืมเลยคือบรรยากาศในการทำงาน ดังนั้น เราควรจะเป็นผู้เริ่มต้นหากิจกรรมมาทำร่วมกัน เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ ไม่ใช่วัน ๆ ทำแต่งาน ตกเย็นแยกย้ายกลับบ้าน ซึ่งการเจอกันแบบนี้มันเป็นเรื่องที่น่าเบื่อมาก
“ความทรงจำที่ยาวนานที่สุด
ไม่ใช่รายละเอียด แต่คือบรรยากาศ”
7. การให้รางวัล
การให้รางวัลก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่จะทำให้พฤติกรรมดี ๆ สามารถเกิดขึ้นได้แบบซ้ำ ๆ ซึ่งการที่เราจะให้รางวัลกับทีมงานนั้น เราอาจจะทำแบบสุ่มก็ได้ โดยไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัวว่าใครจะได้รางวัล หรือทำอะไรแล้วจะได้รางวัล เพื่อให้ทีมงานไม่สามารถจะคาดเดาได้ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เราสามารถสร้างพฤติกรรมในเชิงบวกที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
รวมถึง การที่รางวัลนั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ จะไม่ทำให้พนักงานมีความคาดหวังว่าจะได้รางวัล เพราะถ้าหากเกิดความคาดหวังขึ้นมา แล้วปรากฏว่าเขาไม่ได้รับรางวัล มันจะทำให้เขาไม่ทำอะไรดี ๆ อีกเลย เพราะถึงทำไปก็ไม่ได้รางวัล
8. ช่วยเหลือกันในวันลำบาก
การที่ทีมงานมีการช่วยเหลือกันและกัน คือสิ่งที่จะทำให้ลดความเครียด ความกังวล เพราะคนที่ทำงานเดียว มาคนเดียว ไปคนเดียว ไม่คบหาสมาคมกับใครเลย ไปทำงานเหมือนกับเดินเข้าสู่สงครามกลางเมือง ที่ตัวเองจะต้องทำทุกวิธีทางให้ตัวเองรอดชีวิต โดยที่ไม่สนใจความเป็นความตายของคนรอบข้างเลย ไม่คิดที่จะยืนมือช่วยเหลือใคร เพราะรู้สึกเป็นภาระ ความคิดแบบนี้ไม่ควรที่จะให้เกิดขึ้นในที่ทำงานเป็นอย่างยิ่ง
ไม่ว่าเราจะเป็นเจ้าของบริษัท หรือจะเป็นเพียงพนักงานธรรมดา ๆ ทุกคนควรที่จะช่วยกันกำจัดพลังงานลบออกไป สร้างบรรยากาศในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ถ้าบรรยากาศของการช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่เกิดในบริษัท มันจะกลายเป็นบรรยากาศที่ต่างคนต่างเอาตัวรอด และทุกคนจะไม่ค่อยกล้าทำอะไร เพราะกลัวผิดพลาด
“ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการทำให้ที่ทำงานมีระบบช่วยเหลือกัน
เพราะการทำงาน…คือการเล่นเป็นทีม”
9. ยิ้มให้กัน
ในข้อนี้ถือเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด และควรที่จะทำให้ได้ด้วย เนื่องจากการยิ้มคือการแบ่งปันความสุข ความรู้สึกดี ๆ ที่ง่ายที่สุด ประหยัดที่สุด และผู้รับรู้สึกได้ชัดที่สุด เพราะการยิ้มคือการถ่ายทอดความรู้สึกของมนุษย์ที่ส่งผ่านมาในเผ่าพันธุ์ของเราตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ การยิ้มคือภาษาสากลที่คนทั่วโลกเข้าใจความหมาย หรือแม้แต่การที่เราพูดคุยกันผ่านโทรศัพท์แบบไม่เห็นหน้ากัน ถ้าเราพูดด้วยรอยยิ้ม อีกฝ่าจะรับรู้ได้อย่างน่าอัศจรรย์
การยิ้มถือเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่เราอาจจะหลงลืมไป เพราะฉะนั้นวันนี้ กลับมาเตือนตัวเองว่า อย่าลืมยิ้มให้กับเพื่อนร่วมงาน การกระทำเล็ก ๆ ที่ส่งผ่านความอ่อนโยนไปสู่คนรอบข้าง สิ่งนี้คือวิธีการสร้างพลังงานบวนในการทำงานที่ง่ายที่สุด
และทั้งหมดนี้ก็คือ สร้างพลังงานบวกอย่างไรในที่ทำงาน ซึ่งผมเชื่อว่า ถ้าหากเราได้อ่านแล้วนำไปปรับใช้ในวิถีการทำงานของตนเอง บรรยากาศในที่ทำงานของเราจะเปลี่ยนไป และจะทำให้เราและคนรอบข้างมีความสุขในการทำงานมากยิ่งขึ้น