พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
ที่ผ่านมาผมมักจะได้รับคำถามจากผู้ประกอบการหลาย ๆ คนว่า หน้าที่อันสำคัญของ CEO นั้นคืออะไรกันแน่ เพราะว่าคนส่วนใหญ่เมื่อธุรกิจเริ่มขยายตัวเติบโตไปเรื่อย ๆ ก็มักจะประสบปัญหาเดียวกัน นั้นก็คือตัวเองจะต้องทำงานหนักขึ้นเรื่อย ๆ เรียกได้ว่าทำ “สากกะเบือ ยันเรือรบ” เลยทีเดียว
ดังนั้น ผมจะมาถอดรหัสให้ดูว่าคนที่เป็น CEO เก่ง ๆ เขาบริหารจัดการธุรกิจอย่างไร ที่จะทำให้เมือธุรกิจเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่งานก็ไม่ได้หนักขึ้นจนล้นมือ ซึ่งก่อนที่เราจะไปดูกัน ผมจะขอปูพื้นฐานให้เราเข้าใจกันก่อนว่า ในหลักการที่ผมจะอธิบายต่อไปนี้ ผมได้แบ่งบทบาทของการเป็น CEO ออกเป็น 5 Stage โดยในแต่ละ Stage นั้น คนที่เป็น CEO จะต้องโฟกัสในสิ่งที่แตกต่างกัน ดังนี้
Stage 1: Chief innovation executive (PRODUCT)
สำหรับคนที่เป็น CEO ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ สิ่งที่จะต้องโฟกัสเลยก็คือ เราจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ มีไอเดียใหม่ ๆ รวมถึงเราจะต้องพิสูจน์ด้วยว่าไอเดียที่เราคิดนั้นดีจริง ซึ่งคำว่าดีจริงคือ ต้องเอามาทำเป็นธุรกิจได้ด้วย คือพอทำสินค้าออกมาแล้วคนจะต้องซื้อ
ซึ่งการพิสูจน์ไอเดียนั้น เราจะเรียกว่าการ Proven Concept โดยผมได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้แล้วในบทความที่มีชื่อว่า ขั้นตอนสู่ยอดขาย 100 ล้าน ถ้าใครที่ยังไม่ได้อ่านก็สามารถไปอ่านได้ครับ
สำหรับการพิสูจน์ไอเดียนั้น ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นวิธีการซึ่งช่วยหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เมื่อเราเริ่มต้นที่จะทำธุรกิจในระยะแรก
ผมขอยกตัวอย่างเพื่อนผมคนหนึ่ง ซึ่งเขาเป็นคนที่อยู่ในสายงานด้านโปรดักชั่น มีความสามารถในการตัดต่อ ถ่ายทำ วิดีโอต่าง ๆ เก่งมาก ๆ โดยผลงานของเขา เมื่อนำขึ้นสู่ออนไลน์ เรียกได้ว่ามีคนดูรวมกันเป็นหลักร้อยล้านวิวเลยทีเดียว ซึ่งต่อมาเขาได้แรงจูงใจในการทำธุรกิจมาอย่างนึ่ง เริ่มมาจากตอนที่เขาสระผมให้ลูก แล้วแชมพูมันเข้าตา จึงทำให้เด็กแสบตา เขาก็เลยหาวิธีการแก้ปัญหาจนไปเจอกับแชมพูยี่ห่อหนึ่งเป็นของเกาหลี เมื่อเอามาทดลองใช้แล้ว ก็พบว่าได้ผลดีมาก ๆ
เขาก็เลยเกิดไอเดียขึ้นมาว่า ถ้าหาเขาแก้ปัญหาของตัวเองได้ เขาก็ต้องสามารถแก้ปัญหาให้กับคนอื่นได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เขาจึงไม่รีรอ…ที่จะสั่งสินค้าตัวนี้เข้ามาล็อตใหญ่ ในมูลค่าล้านกว่าบาท โดยในตอนแรกเขาวางแผนเอาไว้ว่าจะใช้ทักษะเกี่ยวกับการถ่ายทำวิดีโอที่ตัวเองมี เพื่อไปโปรโมทสินค้า เพราะเขาก็คิดว่ายังไงก็คงจะขายหมด เนื่องจากกำหนดราคาไว้ว่าลูกค้า 1 ราย ซื้อแพ็คคู่ 2 กระปุก ราคา 500 บาท เขาต้องการลูกค้าแค่ 2 พันรายเท่านั้นเอง แต่ทว่าพอทำออกมาจริง ๆ กลับขายได้เพียง 200 กว่ากระปุกเท่านั้น
ซึ่งความคิดพลาดในกรณีนี้ก็คือ แม้ว่าจะมีแนวคิดที่ดีหลายอย่าง แต่ไอเดียต่าง ๆ ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามันดีพอสำหรับคนอื่นหรือไม่ เพราะอย่างน้อย ๆ เราจะต้องลองหาคนที่อยากซื้อสินค้าของเราจริง ๆ สัก 100 คนแรกให้ได้ก่อน ถ้าเรายังขายให้กับ 100 แรกไม่ได้ มันก็ยากถ้าจะสั่งสินค้าล็อตใหญ่เข้ามาขาย
และที่บอกว่าต้องขายให้ได้ 100 คนนั้น ก็เพราะลูกค้า 30 คนแรกมักจะอยู่มักจะอยู่ในแวดวงคนรู้จัก อาจจะเป็นญาติ เป็นเพื่อน ซึ่งเขาอาจจะซื้อเพราะเกรงใจ หรือซื้อเพราะอยากจะให้กำลังใจก็ได้ แต่ในการทำธุรกิจจริง ๆ นั้น เราจะต้องขายสินค้าให้กับคนที่เขาเป็นลูกค้า ขายให้กับคนที่มีความต้องการจะเอาสินค้านั้นไปแก้ปัญหาของตัวเอง ไม่ใช่ซื้อเพราะความเกรงใจหรืออยากให้กำลังใจเรา
ด้วยหลักการนี้ เมื่อตอนที่ผมนำเข้าโดรนมาขายในประเทศไทยช่วงแรก ๆ ผมก็ใช้เทคนิคนี้เช่นเดียวกัน คือการพิสูจน์ไอเดียเสียก่อน คือ ถ้าใครอยากจะได้สินค้านี้ จะต้องทำการมัดจำพรีออเดอร์ไว้ก่อน ซึ่งถ้าลูกค้าเขาอยากได้จริง ๆ เขาจะยอมวางตังค์ อันนี้ก็ถือเป็นการ Proven Concept อย่างหนึ่ง
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องระวังที่สุดคือ CEO จะต้องไม่คิดว่า “สินค้าดี มันจะขายได้ด้วยตัวมันเอง” อันนี้ถือเป็นความเชื่อที่อันตรายมาก อย่าบุ่มบ่าม เพราะน้อยมากที่สินค้าจะดีจนขายตัวมันเองได้ ยกเว้นเป็นสินค้าที่ขาดแคลน และเกี่ยวพันกันความเป็นความตายของมนุษยชาติจริง ๆ เช่น วัคซีนโควิด เราจะเห็นได้ว่า ถึงไม่มีคนไปขาย ลูกค้าก็วิ่งไปจองกันจนโรงงานผลิตไม่ทัน
Stage 2: Chief sales executive (NEEDS)
เมื่อเราผ่าน Stagae ที่ 1 มาแล้ว คือมีไอเดียที่ดี มีการพิสูจน์แล้ว มีสินค้าแล้ว ในขั้นนี้ CEO จะต้องเป็นนักขาย เพราะการขายคือหัวใจของการทำธุรกิจ ดังนั้น CEO ใน Stage ที่ 2 นี้จะต้องโฟกัสเรื่องของการขายเป็นหลัก ถ้า CEO ขายไม่เป็น ก็ยากที่ธุรกิจจะก้าวต่อไปได้ เราไม่มีทางหนีการขายไปได้ ไม่ว่าจะเป็นขายให้ลูกค้า ขายให้นักลงทุน หรือขายให้พาร์ทเนอร์ ทุกอย่างจะต้องใช้การขายทั้งสิ้น
ผมอยากจะให้เรามีทัศนคติใหม่ สำหรับใครที่ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่ถนัดเรื่องการขาย เพราะการขายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว การขายไม่ใช่อาชญากรรม และการขายไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหน้าที่ของนักขายคือถามคำถามลูกค้า ไม่ใช่การพูดไปเรื่อยเปื่อย ซึ่งถ้าหากเราตั้งคำถามได้ถูกลูกค้าก็จะสนใจ แล้วเราจะขายของได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปยัดเยียดสินค้าให้กับผู้บริโภค
ซึ่งในการทำธุรกิจช่วงต้น ๆ ที่เรายังไม่มีเงินทุนมากนัก เราจะต้องเป็นนักขายด้วย แต่ถ้าธุรกิจเราเริ่มเติบโตไปสักระยะหนึ่ง เมื่อถึงเวลานั้นเราจะจ้างนักขายเข้ามาช่วยก็ได้
ดังนั้น การหน้าที่ของ CEO ใน Stage นี้ จะต้องโฟกัสเรื่องการขายมาก ๆ โดยเน้นวงรอบการขายที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอให้ได้ โดยคนที่จะเป็น CEO ใน Stag นี้ เวลาทำงานจะต้องหาลูกค้าอยู่ตลอดเวลา “ห้ามคิดว่าของดีอยู่แล้วเดียวลูกค้าก็วิ่งเข้ามาหา” เด็ดขาด
แล้วก็อย่ากลัวที่จะขาย เพราะถ้าเรายิ่งได้ขายบ่อย ๆ ได้คุยกับลูกค้าบ่อย ๆ เราจะยิ่งเข้าใจความต้องการของลูกค้า เข้าใจว่าลูกค้าคาดหวังอะไร ซึ่งมันจะทำให้เรามีความลึกซึ้งในงานขายมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การเสนองานขายของเราจะยิ่งคมมากขึ้น เราจะรู้ว่าต้องพูดแบบไหน พอพูดคำนี้ไปแล้ว ต้องขยี้ต่อด้วยคำไหน แล้วลูกค้าถึงจะซื้อ พอเราได้รูปแบบพวกนี้เราจะสามารถนำเอาไปทำการตลาดต่อได้ในขั้นต่อไป เพราะผมเห็นหลาย ๆ คนพอไปทำการตลาด ไม่ว่าจะทำหนังโฆษณา หรือทำคลิปต่าง ๆ หรือจะยิงแอด ถ้าเป็นคนที่ปิดการขายไม่เก่ง เขาจะทำเรื่องพวกนี้ได้ไม่โดด เพราะแนวคิดมันสัมพันธ์กัน
Stage 3: Chief marketing executive (LEVERAGE)
ถ้าธุรกิจของเราดำเนินมาถึงในระดับนี้แล้ว ก็แสดงว่าเรารู้จักลูกค้าแล้ว เรารู้จักเทรนของลูกค้า รู้ว่าสินค้าตัวไหนที่ลูกค้าต้องการ รวมถึงวงรอบของการขายสินค้ายังเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ดังนั้น ใน Stage นี้ CEO จะต้องหันมาโฟกัสที่เรื่องการตลาดแล้ว
ใน Stage นี้การทำธุรกิจของเราจะต้องไปคู่กันระหว่างการขายกับการตลาด ซึ่ง 2 เรื่องนี้แม้จะฟังดูคล้าย ๆ กัน แต่จริง ๆ แล้วมันต่างกัน “การขาย คือการที่เราช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ” แต่ “การตลาด คือการที่เราทำให้ลูกค้าเห็นเรา รู้จักเรา จดจำเราได้”
การทำการตลาดเรามีเป้าหมายเพื่อที่จะให้ได้มาซื้อรายชื่อ หรือฐานข้อมูลของลูกค้า เมื่อได้มาแล้ว คนที่จะรับช่วงต่อก็คือฝ่ายขาย ซึ่งจะต้องไปทำการปิดการขายให้ได้
ใน Stage นี้หน้าที่หลัก ๆ ของ CEO จึงจะต้องมุ่งไปโฟกัสที่การทำการตลาด สร้างแบรนด์ ขยายฐานลูกค้า ถ้าเราอยากให้ธุรกิจเติบโต เราจะคิดแค่ว่าวันนี้ขายได้คือความสำเร็จ…อันนี้อาจจะยังไม่พอ การขายเก่งหรือการมีทีมขายที่ดีนั้นยังเพียงพอ เพราะถ้าหากขาดเรื่องการตลาด ยังไงธุรกิจก็จะไม่โต
Stage 4: Chief operation executive
สำหรับในขั้นนี้ ถ้าใครมาถึงได้ ก็ถือว่าธุรกิจมีการเติบโตพอสมควร เพราะเรามีสินค้าที่น่าสนใจแล้ว มีฐานลูกค้าแล้ว เข้าใจความต้องการของลูกค้าแล้ว มีแบรนด์ที่ได้รับการจดจำแล้ว รวมถึงลูกค้าก็กลับมาซื้อซ้ำแล้วด้วย เมื่อมาถึงตรงนี้ CEO จะต้องไปโฟกัสที่การดำเนินงาน เพราะธุรกิจจะต้องมีระบบ มีจังหวะที่พนักงานทุกคนจะทำงานสอดประสานกัน ไม่ว่าจะเป็นตอนเช้า กลางวัน เย็น จะมีแบบแผนว่าพนักงานต้องทำอะไรบ้าง หัวหน้าแผนกจะต้องสรุปข้อมูลอะไรมาให้ CEO บ้างในแต่วัน แต่ละสัปดาห์ หรือแต่ละเดือน เพราะธุรกิจในขั้นนี้ ทุกคนจะมีหน้าที่เป็นของตัวเองหมด บริษัทจะเป็นเหมือนวงดนตรีวงหนึ่งที่พนักงานจะต้องเล่นไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกิดเป็นเพลงเดียวกัน
ใน Stage นี้ CEO จะต้อง หาคนมาทำงานให้ถูกที่ถูกทาง ใช้คนให้เหมาะสมกับงาน หาคนเก่ง ๆ เข้ามาทำงานด้วย และต้องว่างกระบวนการดำเนินงานเป็น รู้ว่าใครควรจะไปอยู่ตรงจุดไหน ควรจะทำอะไร เพื่อให้ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน CEO จะต้องมองออกมว่า ควรเอาเทคโนโลยีอะไรเข้ามาช่วยบ้าง เพื่อให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งพอทุกอย่างลงตัวแล้ว มันจะกลายเป็นเหมือนระบบที่ทำงานอย่างลื่นไหล เป็นวงรอบการทำงานของที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าและเป็นอัตโนมัติ
Stage 5: Chief vision/inspiration executive
สำหรับธุรกิจที่สามารถดำเนินมาจนถึงระดับนี้ได้ เรียกได้ว่า CEO ได้สามารถจัดสรรต่าง ๆ เอาไว้อย่างเข้าทีเข้าทางหมดแล้ว ระบบระเบียบหลักการดำเนินงานต่าง ๆ สามารถที่จะทำให้บริษัทขับเคลื่อนตัวเองไปได้แล้ว ทีมงานต่าง ๆ ก็เข้าที่เข้าทางหมดแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ CEO จะทิ้งไม่ได้เลยก็คือเรื่อง “คน”
ดังนั้น หน้าที่สำคัญสุดท้ายของ CEO ที่จะต้องโฟกัส ก็คือการเป็นผู้กระตุ้นเตือน และสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนคนที่อยู่ในองค์กร นอกจากนี้ ถ้า CEO ต้องการจะพาธุรกิจของตัวเองให้วิวัฒน์ไปสู่ระดับที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป แม้ว่าบางครั้งเหมือนธุรกิจมันอาจจะอิ่มตัว เพราะโตจนเต็มที่แล้ว วิธีการที่ผมจะแนะนำก็คือ CEO จะต้องตั้งคำถาม เพื่อค้นหา Growth strategy ดังนี้
- ธุรกิจอะไรจะมาแทนทีเราใน 3 ปีข้างหน้า CEO จะต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ เพราะถ้าเราคิดออก เราจะรู้ว่าควรทำอะไร เพื่อเตรียมพร้อมในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
- ถ้าลูกค้าไม่มีเรา เขามีใครได้บ้าง หลายคนคิดว่าเราแน่ ธุรกิจเราสุดยอด ลูกค้าขาดเราไม่ได้ แต่ผมอยากบอกว่าโลกไม่เคยหยุดหมุนนะ ลูกค้าไม่มีเราเขาก็มีคนอื่นได้ และยังมีคู่แข่งพร้อมจะเสียบตลอดเวลา
- ถ้าจะฆ่าสินค้าตัวเก่าให้ตาย เราจะต้องทำยังไง หลายคนไม่เคยคิดเรื่องนี้ แต่ผมอยากจะให้เราลองคิดดู เพราะถ้าเราคิดออก เราอาจจะได้แนวคิดอะไรดี ๆ ในการทำธุรกิจก็ได้
และทั้งหมดนี้ก็คือหลักการที่ว่าด้วย หน้าที่สำคัญของ CEO 5 อย่าง ซึ่งทุกคนสามารถที่จะนำเอาไปใช้ในการดำเนินธุรกิจของตัวเองได้เลยในทันที ซึ่งโลกในทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงเร็วไปมาก CEO จึงจำเป็นที่จะต้องทำธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของกลยุทธ์ มีหลักการที่ถูกต้องเพื่อประคับประกอบให้ธุรกิจเติบโต และมีความมั่นคง รวมถึงยังสามารถที่จะปรับตัวลื่นไหลไปกับภาวการณ์ของโลกได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งสิ่งนี้…คือคุณสมบัติของสุดยอด CEO
ส่วนใครที่ต้องการให้ผมช่วยการวาง Growth Strategy ให้แบบตัวต่อตัว ก็สามารถทักมาคุยกับผมโดยตรงได้ที่ Add line: @paulnathasit โดยให้พิมพ์ทักมาด้วยคำว่า CEO เพราะผมจะได้รู้ว่าคุณอยากจะคุยกับผมด้วยเรื่องอะไร