พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
เมื่อลงมือทำงาน…แน่นอนว่าทุกคนก็อยากที่จะได้ผลสะท้อนกลับมาอย่างคุมค่า ไม่ว่าจะเป็นผู้จ้างและผู้ถูกว่าจ้างเองก็ตาม ซึ่งในมุมของผู้ถูกว่าจ้าง การเป็นมนุษย์เงินเดือนรายได้หลักแสน ถือเป็นเป้าหมายที่พึงปรารถนา เพราะผลตอบแทนมูลค่าสูงขนาดนี้ สามารถชี้วัดถึงความสำเร็จในชีวิตการทำงานได้เลยทีเดียว และในขณะเดียวกัน ในส่วนของเจ้าของบริษัท เมื่อเสียเงินว่าจ้างใครให้มาช่วยทำงานก็ตามที ก็ย่อมต้องการที่จะได้พนักงานซึ่งมีความสามารถ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนระบบการทำงานให้เติบโตต่อไป
ดังนั้น เมื่อกล่าวโดยรวมก็คือ ทั้งผู้ถูกจ้างและผู้ว่าจ้าง ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือเพื่อสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าจากการทำงาน
ซึ่งในวันนี้ผมจะมาแบ่งปันประสบการณ์ จากการที่ผมได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้กับองค์กรต่าง ๆ มากมาย และได้ถอดบทเรียนออกมาเป็น เทคนิคการสร้างมนุษย์เงินเดือนรายได้หลักแสน ซึ่งถือเป็นเทคนิคที่ครอบคลุมทั้งในส่วนของพนักงานและเจ้าของกิจการ ให้สามารถนำเอาเทคนิคต่าง ๆ ไปใช้ได้ ทั้งในส่วนของการพัฒนาตนเอง และพัฒนาการบริหารงานบุคคล ดังนี้
5 คุณสมบัติสู่การเป็นมนุษย์เงินเดือนมืออาชีพ
1. ใฝ่ฝัน
(พนักงาน) การที่จะเป็นพนักงานเงินเดือนหลักแสนได้นั้น สิ่งแรกสุดจะต้องมีความใฝ่ฝันเป็นจุดเริ่มต้น หรือจะเรียกว่าวิสัยทัศน์ (Vision) ก็ได้ ซึ่งสิ่งนี้หมายถึงการมองเห็นอนาคตที่ยังมาไม่ถึงนั้นเอง โดยเราจะต้องมองให้ออกว่าตัวเราต้องการที่จะเป็นอย่างไรในอนาคต
ซึ่งเรื่องความใฝ่ฝันนั้นสำคัญมาก โดยจะเห็นได้จากเวลาที่เราไปสัมภาษณ์งาน คำถามยอดฮิตที่ฝ่ายบุคคลมักจะถามก็คือ…
“คุณมองอนาคตของคุณใน 3-5 ปีข้างหน้าว่าจะต้องเป็นอย่างไร…”
เพราะถ้าหากใครสามารถตอบคำถามนี้ได้ ก็แสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นมีความเข้าใจตัวเอง และมีจุดมุ่งหมายในการทำงานที่ชัดเจน ไม่ใช่คนที่จะเข้ามาทำงานหาเงินไปวัน ๆ แต่จะเป็นคนที่มีเป้าหมายในชีวิต และมีแรงผลักดันในการพัฒนาตัวเองเพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น
(บริษัท) ในส่วนของการเป็นเจ้าของบริษัท ถ้าคุณต้องการที่จะได้พนักงานที่มีวิสัยทัศน์ อันดับแรกองค์กรของคุณจะต้องมีวิสัยทัศน์ก่อน โดยมีการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและมีหลักการที่ถูกต้องเอาไว้ แล้วในลำดับต่อมา ก็ควรที่จะคัดเลือกคนที่มีความใฝ่ฝัน หรือมีวิสัยทัศน์ ไปในทิศทางเดียวกันกับองค์กรเข้ามาทำงาน เพราะเมื่อมีเป้าหมายไปในแนวทางเดียวกัน ก็จะสามารถทำงานด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผมขอยกตัวอย่างเปรียบเปรยให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ถ้าองค์กรมีวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งไปทางทิศเหนือ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่รัสเซีย ส่วนพนักงานก็จะไปทิศเหนือเหมือนกัน แต่เป้าหมายอาจจะไปแค่เชียงใหม่ สิ่งนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าวิสัยทัศน์ของบริษัทกับของพนักงานสอดคล้องกัน แม้ว่าขนาดของความใฝ่ฝันจะต่างกันก็ตาม แต่ก็สามารถที่จะทำงานร่วมเดินทางไปด้วยกัน
(สรุป) การทำงานภายใต้ความใฝ่ฝันนั้นจะเป็นเป้าหมายอันแรงกล้า ที่จะทำให้ทุกคนพร้อมเผชิญความยากลำบาก พร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง เพื่อให้ในทุก ๆ วันของการทำงานคือการก้าวเดินไปสู่เป้าหมาย
“วิสัยทัศน์คือการมองเห็นอนาคต
ถ้าเรามองไม่เห็นอนาคต…เราก็จะไม่มีอนาคต”
2. ฝากฝัง
(พนักงาน) การที่พนักงานสักคนจะสามารถพัฒนาการทำงานของตัวเองไปจนถึงขั้นมีเงินเดือนหลักแสนนั้น จะต้องผ่านการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างมากมาย และวิธีการเรียนรู้ที่เร็วที่สุดคือการเรียนรู้จากบุคคลต้นแบบ
ดังนั้นจึงควรที่จะมองหาบุคคลที่จะสามารถมาเป็นแบบอย่างในการทำงานให้กับเราได้ แล้วเราก็จะต้องฝากฝังตัวเองเข้าไปเรียนรู้กับเขา เพราะเมื่อเราได้เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมของคนเก่ง เราก็จะได้รับการถ่ายทอดวิธีคิดและหลักการทำงาน จนสามารถพัฒนาตัวเองไปได้อย่างรวดเร็ว
(บริษัท) จะต้องสร้าง ระบบพี่เลี้ยง ขึ้นมาให้ได้ เพราะสิ่งนี้สำคัญมาก ซึ่งถ้าหากเราพิจารณาองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอายุยั่งยืนเป็น 50 ปี หรือเป็นร้อยปี สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่องค์กรเหล่านี้จะต้องมี ก็คือระบบพี่เลี้ยง เพราะถือว่าสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้สมาชิกใหม่ได้เกิดการเรียนรู้ และบ่มเพาะคุณลักษณ์ที่องค์กรต้องการให้เกิดขึ้นกับพนักงานใหม่
ผมขอยกตัวอย่างศาสนาพุทธเพื่อให้เห็นภาพชัด ๆ เพราะศาสนาพุทธถือเป็นองค์กรศาสนาที่มีอายุยาวนานนับพันปี ซึ่งในพุทธศาสนาก็จะมีระบบพี่เลี้ยงเหมือนกัน โดยจะเห็นได้จากการที่พระใหม่จะต้องเรียนรู้และอยู่ในความดูแลจากพระอุปัชฌาย์ เพื่อฝึกฝนและเพาะบ่มสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นมาในตัวเอง จนสุดท้ายสามารถก็ที่จะเป็นนักบวชได้อย่างถูกต้องตามหลักการทางศาสนา
หรืออีกตัวอย่างก็คือ ตัวผมเองได้เข้าไปเป็นสมาชิกอยู่ในสมาคม BNI – Business Network International ซึ่งตอนแรกที่ผมเข้าไปนั้น เขาก็จะมีพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำว่าสมาชิกจะต้องทำอะไรบ้าง ระบบการดำเนินกิจกรรมของสมาคมเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ คือเป็นเครื่องมือที่ทำให้สมาชิกใหม่ปรับตัวเข้ากับองค์กรได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีพีเลี้ยงมาเป็นต้นแบบให้
นอกจากนี้ ในอีกทางหนึ่ง เจ้าของบริษัทก็ยังสามารถที่จะส่งเสริมให้เกิดพนักงานต้นแบบขึ้นในองค์กรได้อีกด้วย เช่น การคัดเลือกพนักงานดีเด่น พนักงานตัวอย่าง ในด้านต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อให้คนอื่น ๆ ได้เห็น และรู้ว่าพนักงานที่องค์กรปรารถนานั้นเป็นอย่างไร
(สรุป) การฝากฝัง คือการให้ความไว้วางใจกับใครสักคนหนึ่ง ที่จะสามารถเป็นตัวอย่างหรือเป็นแบบแผนของความสำเร็จให้กับผู้อื่นได้ และถ้าในบางองค์กรไม่มีบุคคลต้นแบบ ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างขึ้นภายใต้กิจกรรมต่าง ๆ
“วิธีการประสบความสำเร็จที่เร็วที่สุด
คือการเรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จ”
3. ฝึกฝน
(พนักงาน) จะเป็นไปไม่ได้เลยที่ใครจะสามารถเป็นพนักงานเงินเดือนหลักแสนได้โดยไม่มีการฝึกฝนหรือพัฒนาการทำงานของตัวเอง ดังนั้น เราจะต้องวางใจเอาไว้ให้หนักแน่นตั้งแต่แรกเลยว่า ในทุก ๆ งานที่ได้ทำในองค์กรนั้น คือการฝึกฝนของเรา ถ้าเราอยากเก่ง เราจะต้องไม่เกี่ยงงาน ไม่หนีงานยาก ไปปัดภาระหน้าที่รับผิดชอบ หรือแม้แต่บางครั้งอาจจะต้องไปช่วยทำงานที่ไม่ใช่ภาระหน้าที่โดยตรงของตำแหน่งงานเราก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการฝึกฝนเรียนรู้ทั้งสิ้น
(บริษัท) ในประเด็นนี้ เมื่อมองในมุมเจ้าของบริษัท สิ่งสำคัญก็คือการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการให้พนักงานเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดจนสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้จากความผิดพลาด
มีตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นประสบการณ์ในตอนที่ผมเริ่มทำงานช่วงแรก ๆ โดยได้รับภาระหน้าที่ในการควบคุมงบการตลาด มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี และในขณะนั้น ด้วยความที่ยังอ่อนประสบการณ์ จึงทำให้ลูกค้าโกง และเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายไปเป็นมูลค่าราว ๆ 8 แสนบาท พอปัญหาเกิดขึ้น ในตอนนั้นผมต้องคิดหนักมากว่าจะทำยังไง จนสุดท้ายก็ตัดสินใจยอมรับความผิดพลาด และได้ไปบอกกับเจ้านายตามตรง ซึ่งท่านก็ตอบกลับมาว่า…
“คุณได้เรียนรู้แล้วใช่ไหม…อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก”
โดยเหตุการณ์นี้ ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ในชีวิตของผมเลยก็ว่าได้ และหลังจากวันนั้นเป็นต้นมา ผมไม่เคยผิดพลาดเรื่องนี้อีกเลย เพราะเวลาผมจะทำเอกสารเบิกจ่ายต่าง ๆ ผมจะทำด้วยความละเอียดรอบคอบมาก ๆ
(สรุป) ถ้าพนักงานมีทัศนคติแบบ Growth mindset ก็จะทำให้เกิดการฝึกฝนและเรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆ ได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้จากความสำเร็จหรือความผิดพลาดก็ตาม ดังนั้น องค์กรจะต้องมีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ และพนักงานจะต้องเปิดใจที่พร้อมจะเรียนรู้
“ความผิดพลาด…คือการเรียนรู้
เรียนรู้ที่จะไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก”
4. ฝ่าฟัน
(พนักงาน) คุณสมบัติที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง ของพนักงานเงินเดือนหลักแสนก็คือ ความแน่วแน่มั่นคงในใจ และพร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้งานสำเร็จ
ตัวผมเองเคยมอบหมายให้พนักงานคนหนึ่งไปสืบค้นข้อมูลบางอย่างใน Google ซึ่งพนักงานคนนี้ก็ได้หายไป 5 นาที แล้วกลับมาพร้อมคำตอบคือ “ไม่มี” ผมก็เลยถามเขาว่า ได้ค้นหาด้วยวิธีการอย่างไร ก็ปรากฏว่าเขาไปค้นหาใน Google จริง แต่ดูแค่หน้าแรกเท่านั้น ไม่ได้กดดูหน้าถัดไปอื่น ๆ รวมถึงยังไม่ได้ลองใช้วิธีการค้นหาแบบอื่น เช่น การเปลี่ยนคีย์เวิร์ดใหม่ไปใช้เป็นคำอื่น หรือใช้คำที่ใกล้เคียงกัน เพื่อที่จะหาคำตอบที่เราต้องการ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการทำงานที่ยังมีน้อยอยู่ โดยสุดท้ายพนักงานคนนี้ก็ทำงานอยู่กับเราได้ไม่นาน เพราะพื้นฐานจิตใจเขาท้อถอยถอดใจง่ายเกินไป
(บริษัท) เจ้าของบริษัทจะต้องมองหาพนักงานขาลุย ที่พร้อมจะฝ่าฟันอุปสรรคและความยากลำบากต่าง ๆ นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมให้พนักงานมีความตระหนักถึงคุณค่าของงานที่ตัวเองได้ทำ โดยเฉพาะการมองเห็นว่าสิ่งที่เราทำนั้นเชื่อมโยงกับคนอื่นด้วย ถ้าเกิดเราทำงานไม่สำเร็จขึ้นมา คนอื่นก็จะได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งการฝึกพนักงานให้ทำงานกันเป็นทีม ถือเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้เกิดภาวะนี้ได้
ตัวอย่างของการทำงานเป็นทีม ถ้าเราไปดูการฝึกของหน่วย SEAL เราจะเห็นได้เลยว่า ทีม ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการที่จะช่วยให้ทุกคนผ่านพ้นอุปสรรค์ไปได้ ภารกิจโหดหินต่าง ๆ ที่พวกเข้าได้รับ พอมาร่วมทำกันเป็นทีม มันจะเกิดสำนึกอย่างหนึ่งขึ้นมาว่า เราจะต้องอยู่เพื่อกันและกัน จะถอดใจไม่ได้ จะต้องให้กำลังใจกัน ดังนั้น การทำงานเป็นทีมจึงมีพลังมากกว่าทำคนเดียว ไม่ว่าจะเจอเรื่องยากสักแค่ไหน ก็สามารถฝ่าฟันไปได้
(สรุป) ในมุมของพนักงานจะต้องมีความอดทนและฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ โดยไม่เลิกล้มความตั้งใจง่าย ๆ และในส่วนขององค์กรเองก็จะต้องพยายามสร้างวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมให้เกิดขึ้น เพื่อฝึกให้พนักงานทุกคนรู้คุณค่าของงานที่ตัวเองทำ ว่ามันเกี่ยวพันไปถึงคนอื่น ๆ ด้วย
“การทำงานเป็นทีม…ไม่ใช่แค่การทำงานเป็นกลุ่ม
แต่ยังหมายถึงการทำงานของตัวเองให้สำเร็จ
เพื่อไม่ให้คนในองค์กรได้รับผลกระทบ”
5 ฟูมฟาย
(พนักงาน) การที่เราจะพัฒนาให้ตัวเองเป็นพนักงานมืออาชีพ ซึ่งทำงานโดยมีค่าจ้างหลักแสนต่อเดือนนั้น จะต้องมีคุณลักษณะเป็นคนไม่เป็นคนขี้บ่น ขี้โบ้ย หรือชี้นิ้วโยนความผิดไปหาคนอื่น ซึ่งถ้าหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา พนักงานมืออาชีพเขาจะมองหาสาเหตุ และถ้าเป็นความผิดพลาดของเขา ก็พร้อมเสมอที่จะยอมรับข้อผิดพลาดที่ตัวเองได้ทำลงไป โดยไม่ฟูมฟาย ดราม่า คร่ำครวญ แต่จะมีสติ มีจิตใจมั่นคง พยายามจะแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ เหล่านั้น ให้สถานการณ์คลี่คลาย หรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาข้อผิดพลาดขึ้นอีก
(บริษัท) ในส่วนของบริษัท ก็ควรเลือกคนที่จะเข้ามาทำงาน โดยต้องดูจากทัศนคติและวิธีการใช้ชีวิต โดยไม่เป็นคนขี้เหวี่ยง ขี้วีน ซึ่งทุกวันนี้เราจะสามารถสืบค้นดูคร่าว ๆ ได้จาก Facebook หรือบัญชี Social Media ต่าง ๆ
(สรุป) การฟูมฟายไม่ใช้วิถีการทำงานของมืออาชีพ เพราะเป็นพลังงานด้านลบที่จะไปกลบความคิดสร้างสรรค์ และทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าเดิม
“เวลามีปัญหา…อย่าโพสต์ลงโซเชียลฯ
เพราะนั้นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา”
และทั้งหมดนี้ก็คือ เทคนิคการสร้างมนุษย์เงินเดือนรายได้หลักแสน ซึ่งถือเป็นเนื้อหาที่ผมถอดบทเรียนมาจากประสบการณ์ที่เคยผ่านการเรียนรู้มาด้วยตัวเอง และเป็นสิ่งที่ทำให้ผมเติบโตในหน้าที่การงานได้จริง โดยทุกคนสามารถจะเอาไปใช้ได้ทั้งในส่วนของ ผู้ประกอบการ หรือ พนักงานเงินเดือน ก็ตาม