พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
น้อง ๆ หลาย ๆ คนตอนนี้ก็มีโอกาสได้ออกมาทำงานเป็นงานเป็นฟรีแลนซ์ หรือทำธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งผมก็เป็นเทรนนี้มาตั้งแต่ช่วงประมาณ 2 มาแล้ว ตั้งแต่เกิดเหตุโควิดขึ้นมา และมีคนลาออกจากงานมาเยอะมาก บางคนก็ออกมาพร้อมกับเงินก้อนที่บริษัทจ่ายให้ แต่บางคนก็ออกมาโดยที่ไม่ได้มีเงินทุนมากนัก ซึ่งหลาย ๆ คนก็ได้ออกจากงานประจำ มาทำงานเป็นฟรีแลนซ์ เป็นงานอิสระของตัวเอง
ซึ่งผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่คิดว่าการออกมาโลดแล่น ทำงานของตัวเอง เป็นนายตัวเอง ก็ไม่ใช่สิ่งที่เสียหายอะไร ไม่ว่าจะทำแล้วประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ถือว่าเป็นบทเรียนอย่างหนึ่ง
สมัยก่อน การทำงานฟรีแลนซ์ถือเป็นเรื่องยาก แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีความพร้อมนั้น การทำงานฟรีแลนซ์ในยุคนี้ถือเป็นสิ่งที่ง่ายมาก เพราะมีตัวช่วยเยอะแยะเต็มไปหมดเลย
ดังนั้น วันนี้ผมได้นำเอา 10 เทคนิคในการที่เราจะเป็นฟรีแลนซ์ที่มีรายได้หลักแสนต่อเดือนมาบอกกัน…
1. เราต้องการลูกค้าแค่ 10 คนต่อเดือนเท่านั้น
ถ้ามาคิดตามหลักการแล้วเราจะพบว่าเพียงแค่เรามีลูกค้า 10 คนเท่านั้น ก็สามารถทำให้เราได้เงินแสนได้แล้ว โดยสินค้าหรือบริการที่เราทำไป ก็เฉลี่ยอยู่ที่งานละ 10,000 บาท ซึ่งเป็นราคากลางในตลาดส่วนใหญ่ที่เขาจ้างกัน แต่หัวใจหลักในเทคนิคนี้ก็คือ งาน 10,000 บาทนั้น เราจะต้องทำให้เสร็จภายใน 2 วัน
เพราะว่าในแต่ละเดือนเราจะมีเวลาทำงานอยู่ 20 ซึ่งใน 20 วันนี้เราจะรับงานลูกค้าได้ 10 ราย ค่าจ้างรายละ 10,000 บาท รายได้ของเราก็จะรวมแล้วได้ 100,000 บาทนั้นเอง (ถ้าเราเคลียร์งานให้จบภายใน 20 วัน เราก็จะมีเวลาหยุดพักได้ด้วย)
ซึ่งลูกค้าที่อยากจะจ่ายเงินจ้างฟรีแลนซ์ในราคาหลักหมื่น เราควรจะไปหาบริษัทที่เขามีรายได้เดือนละล้าน เพื่อที่เขาจะมีกำลังในการมาจ้างฟรีแลนซ์ให้ไปทำงานในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ หรือเป็นงานเฉพาะด้านที่ไม่มีคู่แข่งทำได้ รวมถึงงานที่เราทำได้เกินมาตรฐาน เราก็สามารถที่จะเรียกค่าจ้างในราคาหลักหมื่นได้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น เราจะต้องไปตามหาลูกค้าของเราให้เจอ…
2. ความสามารถในการเรียกเงินค่าจ้าง
เมื่อเราตามหาลูกค้าเงินหมื่นของเราเจอแล้ว คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ เรามีปัญญาในการเรียกเงินค่าจ้างหลักหมื่นจากเขาได้หรือไม่ ดังนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสามารถทำงานให้ได้เกินมาตรฐาน เพราะถ้าหากเราทำงานได้เพียงตามมาตรฐาน เราก็จะไม่มีวันที่จะสามารถเรียกเงินมาก ๆ ได้ และถึงแม้เราจะเจอลูกค้าที่มีกำลังทรัพย์ในระดับนั้น แต่ถ้าเราเรียกเงินค่าจ้างหลักหมื่นไม่ได้ มันก็เป็นสิ่งไม่มีประโยชน์
โดยงานที่เกินมาตรฐานมีอยู่ 5 ระดับ คือ
- ทำได้ เช่น ใช้โปรแกรม ใช้เครื่องมือได้ เข้าใจความรู้ขั้นต้น
- ทำเป็น จะเป็นคนที่มีประสบการณ์ ได้เรียนรู้แล้วว่าอะไรผิด อะไรถูก ทำให้ได้ผลงานที่ไม่ผิดพลาดอีก ประหยัดเวลา
- เข้าใจความต้องการลูกค้า ถึงจะเป็นคนที่ทำงานดี ทำงานเป็น แต่ถ้าทำออกมาแล้ว ไม่ตรงตามความต้องการลูกค้า ก็ไม่มีประโยชน์
- ปรับงานให้เข้ากับความต้องการลูกค้า บางครั้งการบรีฟงาน กับสิ่งที่เจ้าหน้างานนั้นมันไม่เหมือนกัน คนที่มีประสบการณ์มากพอ เขาจะสามารถปรับสิ่งที่เจอหน้างาน ให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าได้
- สอนได้ เป็นระดับความสามารถที่ผ่านการคิดวิเคราะห์ และตกผลึกมาเป็นทีเรียบร้อยแล้ว จึงสามารถทำซ้ำได้ ถ่ายทอดกระบวนการต่าง ๆ ให้กับคนอื่นได้ โดยที่ผลลัพธ์ไม่ต่างอะไรกับการที่ลงมือทำเอง ซึ่งในระดับนี้ จะเป็นระดับที่เราจะเริ่มหาทีมงานมาช่วย สอนงาน จ่ายงานให้ทีมงานในสังกัดทำแทน โดยที่เราจะเป็นคนควบคุมอยู่ห่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถรับงานได้มากขึ้น
***อย่างน้อย ๆ ที่สุด เราจะต้องมีความสามารถในระดับที่ เข้าใจความต้องการลูกค้า
3. เก็บ Testimonial ลูกค้า
จะไม่ใช่แค่การเก็บแต่พอร์ตงานอย่างเดียวว่าเราทำงานให้ใคร ลูกค้าเป็นใคร ธุรกิจใหญ่โตแค่ไหน แต่ผมอยากแนะนำให้เราขอลูกค้าช่วยอัดวีดีโอ หรือเขียนชม หรือ comment ลงใน social media ต่าง ๆ เช่น Facebook, IG, เป็นต้น เพราะการเก็บ Testimonial แบบที่ผมแนะนำนี้ จะเป็นการเก็บข้อมูลที่น่าสนใจมากกว่า เพราะลูกค้าเป็นคนเล่าเอง
4. งานที่ดีที่สุดคือการแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า
เวลาที่เราเก็บ Testimonial ลูกค้าส่วนใหญ่อาจจะพูดสั้น ๆ หรือพูดไม่เก่ง ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ เราจะต้องรู้จักวิธีเล่าปัญหาที่ลูกค้าต้องการแก้ไข ถ้าเรามีความสามารถในการเล่าเรื่อง เราก็จะได้เปรียบ
เพราะงานที่ดีที่สุดคือการแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า โดยวิธีการเล่ามีดังนี้…
- Problem – ลูกค้าเจอปัญหาอะไร
- Feeling – ลูกค้ารู้สึกอย่างไร
- Impact – ถ้าลูกค้าไม่ได้แก้ไข จะเกิดความเสียหายอย่างไร
- Solution – คุณจะแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าอย่างไร เพราะงานที่ดีไม่ใช่แค่คุณมีรายชื่อของลูกค้า แต่งานที่ดีคือคุณเข้าใจปัญหาของลูกค้า เพราะคุณจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และไม่เหมือนกับคนอื่น
- Result – ลูกค้าได้ประโยชน์อะไรหลังจากนั้น
ดังนั้น ในการที่เราจะเก็บ Testimonial เราจะต้องมีกระบวนการในการติดตามลูกค้า อาจจะโทรหาเป็นช่วง ๆ เพื่อที่จะเก็บข้อมูลว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าได้รับการแก้ปัญหา และผลเป็นอย่างไร
“คนที่เล่าเรื่องได้ดี คือคนที่เข้าใจเนื้องานอย่างลึกซึ้ง
ไม่ใช่แค่คนที่ทำงานเป็น แต่ตื้นเขิน
ไม่เข้าใจความต้องการของลูกค้า…ตีโจทย์ไม่แตก”
5. ทำงานร่วมกับฟรีแลนซ์ที่หาเงิน
ถ้าเราเป็นฟรีแลนซ์ เราก็ควรที่จะร่วมงานกับฟรีแลนซ์ที่เขาสามารถหาเงินได้หลักแสนต่อเดือน เพราะว่าคือคนที่มีประสบการในการหารายได้หลักแสนมาก่อน ซึ่งเขาจะสอนเราได้…
ซึ่งการที่เราจะทำงานร่วมกับฟรีแลนซ์เงินแสนนั้น สิ่งที่เราจะทำต้องทำก็คือ
- ของานทำ ต่อให้ฟรีก็ควรทำ เพราะเราจะได้เห็น ได้เรียนรู้วิธีการทำงานว่าเขาทำแบบไหน ถึงหาเงินได้หลักแสน
- ขอฟังบรีฟจากลูกค้าด้วยกัน เพราะเหนือกว่าคนที่เราไปทำงานด้วย ก็คือโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ
- ขอความเห็นการตีโจทย์ จาก Mentor เพื่อเป็นแนวทางให้เราทำงานได้อย่างถูกต้อง หรือหากตีโจทย์ต่างกัน ก็จะทำให้รู้ว่าทำไมถึงคิดไม่เหมือนกัน และจะไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้หรือเปล่า
- ขอให้เริ่มด้วย Reference ไม่ใช่ลงงานเลย ไม่ใช่ใช้เครื่องมือเลย แต่ควรจะเริ่มจาก mindmap หรือ Pinterest เพราะสิ่งนี้จะเป็นตัวบอกว่า เรากับคนที่ไปทำงานด้วยตีโจทย์เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
- ขอให้ติชม เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองจากคนภายนอกว่าเราทำงานเป็นอย่างไร
- ขอวิธีคิดงาน อย่าทำตัวมี Ego เพราะถ้าเราเก่งจริง เราก็คงทำงานเหล่านี้ได้ไปนานแล้ว
6. หาลายเซ็นเป็นของตัวเอง
คนที่พึ่งเริ่มต้นเข้าสู่อาชีพฟรีแลนซ์ ส่วนใหญ่จะทำงานตามขั้นตอน เพราะเวลาฝึกเราจะต้องมีรูปแบบขั้นตอนที่เราใช้ฝึก เหมือนระบบระเบียบว่าเวลาทำงาน เราจะเริ่มต้นจากตรงไหน ขั้นต่อไปคืออะไร และไปจบตรงไหน ซึ่งการทำงานรูปแบบนี้ก็มีข้อดีสำหรับคนที่อยู่ในระดับเริ่มต้น แต่ข้อเสียก็คือ งานที่ได้มันจะคล้าย ๆ กันไปหมดเลย ซึ่งคนที่มีประสบการณ์เขาก็จะจับทางได้เลยว่าได้รับการฝึกฝนเรียนรู้มาจากสำนักไหน
ในคนที่ทำงานไปนาน ๆ สะสมชั่วโมงบินไปเรื่อย ๆ ก็จะเริ่มทิ้งขั้นตอนต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์ไป และจะมีลายมือที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่เหมือนกับใคร และลอกเลียนแบบไม่ได้
7. หาที่ยืนในตลาด / ใจลูกค้า
งานที่ดีจะต้องเป็นงานที่จับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ควรจะต้องหาตลาดที่ชัดเจนสำหรับลูกค้าของเรา เราก็จะสามารถที่จะทำเงินแสนได้ง่าย ๆ ทำให้เราโฟกัสตลาดได้ถูกต้อง และกลุ่มเป้าหมายก็จะบอกด้วยว่าเราสามารถไปถึงเงินแสน เงินล้าน ได้หรือไม่ เพราะกลุ่มเป้าหมายจะเป็นเครื่องสะท้อนขนาดตลาดของเราด้วย
8. ตั้งราคามาตรฐาน พร้อมหลักการ และเหตุผล
ต้องมีการทำราคากลาง โดยมีหลักการและเหตุผลด้วยว่ามันคืออะไร ตัวอย่างราคากลางของผม เช่น งานออกแบบจะมีราคากลาง คือ
- หา template มาเปลี่ยน logo/ content ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้มีรายละเอียดอะไรมากนักจะคิดค่าจ้าง 1,500 บาท
- หา template ที่เข้ากับ brand positioning จะคิดค่าจ้าง 5,000 บาท เพราะผมจะต้องตีโจทย์ลูกค้าให้ได้ก่อน และไปหา template ที่สอดคล้องกับโจทย์ของลูกค้า
- คิดงาน Creative design ขึ้นมาใหม่เลย เพื่อให้ตรงกับแบรนด์ ผมจะคิดราคาที่ 50,000 บาท
- คิด Creative design & brand book จะคิด 200,000 บาท
- คิด Brand strategy, communication, collateral จะคิด 1,000,000 บาท
เราจะเห็นได้ว่า งานออกแบบนั้นก็มีอัตราค่าจ้างตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักล้าน ดังนั้น เราจะต้องรู้ว่าราคากลางในงานแต่ละระดับอยู่ที่เท่าไหร่ และจะต้องให้เหตุผลที่คุ้มค่าด้วย เพื่อให้ลูกค้ายินดีที่จะจ่าย
9. งานดี ไม่พอ ต้องมีชื่อเสียงด้วย
นอกจากเราจะทำงานดี ทำงานเก่งแล้ว เราจะต้องสร้างผู้ติดตาม ซึ่งปัจจุบันนี้ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ เช่น
- ตอบคำถามในเว็บบอร์ดต่าง ๆ หรือตอบในกลุ่มเฟสบุ๊ค
- Live สดให้ความรู้
- โชว์พอร์ตบ่อย ๆ เล่าให้ฟังว่าปัญหานี้คืออะไร แก้ไขอย่างไร ผลลัพธ์เป็นอย่างไร
- เขียนหนังสือ
- ทำสัมมนา เพื่อให้รู้จักคนเยอะ ๆ และทำให้เรามีชื่อเสียง
- เข้าหาเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมเดียวกันให้ได้ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเป็นคู่แข่งของเรา บางครั้งแม้แต่คนที่เป็นคู่แข่ง เราก็สามารถที่จะพึ่งพาอาศัย หรือมาเป็นแนวร่วม สนับสนุนการทำงานเราได้
10. จบงานให้ดี เพราะโลกนี้มันแคบจริงๆ
ไม่ว่าคุณจะทำดี หรือทำไม่ดี อย่าคิดว่าจะไม่มีใครรู้ว่าคุณทำอะไรเอาไว้ เพราะโลกแห่งการทำธุรกิจ มันแคบกว่าที่ใครหลาย ๆ คนคิดเอาไว้
และทั้งหมดนี้ก็คือ 10 เทคนิคในการทำธุรกิจ ที่เราจะสามารถนำเอาไปปรับใช้ และกลายเป็นฟรีแลนซ์เงินแสนได้ไม่ยากเย็นนัก