10 บทเรียนสำคัญที่ไม่ควรพลาดในการทำธุรกิจ

[xyz-ips snippet="Podcast"]
พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์

สิ่งที่ผมกำลังจะนำมาแบ่งปันต่อไปนี้ ถือเป็นสิ่งที่เราไม่ควรจะไปประสบพบเจอด้วยตัวเอง ซึ่งคนที่มีประสบการณ์ผ่านมาแล้ว ก็มักจะเตือนทุกคนว่าอย่าทำแบบนี้…แต่คนส่วนใหญ่ก็มักจะไม่เชื่อ แถมบางคนยังท้าทายอีกด้วย บางก็ว่า “ฉันไม่เหมือนคนอื่น ฉันไม่กลัวหรอก ฉันไม่เชื่อหรอก คนเรามีความสามารถไม่เท่ากัน” เป็นต้น

ซึ่งผมเองก็เคยเป็นแบบนี้เช่นกัน แต่ผมโชคดีที่ตอนเริ่มทำธุรกิจใหม่ ๆ มีหุ้นส่วนที่เป็นรุ่นพี่ทำธุรกิจมาก่อน ดังนั้น เวลาที่ผมจะตัดสินใจอะไรก็เหมือนมีที่ปรึกษาส่วนตัว และได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา บางเรื่องผมก็สามารถหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดได้ แต่บางเรื่องผมก็ไม่เชื่อ และต้องไปเสียเวลาเรียนรู้ความผิดพลาดเหล่านั้นเอง จนสุดท้ายผมก็เข้าใจว่าทำไมเขาถึงต้องเตือนเรื่องอะไรแบบนี้

ดังนั้น วันนี้ถ้าใครไปอยากจะเสียเวลาเพื่อเรียนรู้ข้อผิดพลาดด้วยตัวเอง เราก็ควรที่จะเปิดใจเรียนรู้บทเรียนจากประสบการณ์ของผู้อื่น นั้นก็คือ 10 บทเรียนสำคัญที่ไม่ควรพลาดในการทำธุรกิจ ที่ผมจะนำมาแบ่งปันดังต่อไปนี้

เครดิตภาพ: www.pexels.com/th-th/photo/2897883/

1. อย่าเสียดายถ้าต้องจ้างคนเก่ง

พอเราทำงานกับคนเก่งมันมีข้อดีหลายอย่างมาก เช่น พูดไม่กี่คำ เขาก็สามารถเข้าใจได้เลย ต่อให้ทำผิดพลาด คนที่เป็นคนเก่งเขาก็หาทางแก้ไขได้โดยที่เราไม่ต้องนั่งสั่งงาน เราอาจจะเคยเจอพนักงานที่สั่งงานแบบไหนก็ทำแบบนั้น แม้ว่าจะไปเจอสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างไร เขาก็จะไม่รู้ตัวว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร

เพราะฉะนั้นแล้ว อย่าจากงานจากการเอางบประมาณเป็นตัวตั้ง แต่เราควรจ้างงานจากการที่เราเอาผลลัพธ์ของงานเป็นตัวตั้ง เช่น ถ้าใน 1 เดือน ผลงานที่เขาทำได้มีมูลค่าเท่าไหร่ เราก็ค่อยมาดูว่าเราจะให้ค่าจ้างเขาเท่าไหร่ โดยผมจะให้แนวทางคร่าว ๆ กับคนที่มาสมัครงานว่าในตำแหน่งหน้าที่ของเขานั้น เขาต้องทำอะไรบ้าง

อย่างผมจ้างเลขานุการ ผมให้เงินเดือน 4-5 หมื่นบาทเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ที่อาจจะจ้างแค่ 25,000 บาท เพราะต้องการประหยัดงบประมาณ แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้น การที่เราจ้างคนเก่งมาทำงานด้วย แม้ว่ามันจะมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า แต่มันจะช่วยให้เราสามารถประหยัดเวลา ประหยัดทรัพยากรต่าง ๆ ได้อีกเยอะมาก

แต่การที่เราจะจ้างคนเก่งมาทำงานด้วยนั้น ก็มีข้อควรระวังอยู่อย่างหนึ่งคือ ควรจ้างคนเก่งที่มีทัศนคติ หรือมีค่านิยมเดียวกันกับองค์กรด้วย เพราะถ้าค่านิยมไม่ตรงกันก็จะเกิดความเสียหายในองค์กรได้ คือถ้าคนเก่งไม่ลาออก พนักงานคนอื่น ๆ ก็จะลาออกแทน ดังนั้น เราจะต้องเลือกให้ดี เลือกให้ถูกว่าวัฒนธรรมของบริษัทที่เราพยายามจะสร้างขึ้นมานั้นมันควรจะไปทางไหน

“ถ้าเรามีวัฒนธรรมที่ดีเราจะได้ลูกค้าที่ดี และได้ลูกน้องที่ดี”

2. อย่าคิดว่าวัฒนธรรมองค์กรไม่สำคัญ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนเคยได้ยิน แต่จะมีใครสักกี่คนที่เข้าใจว่ามันมีความสำคัญ เพราะวัฒนธรรมคือสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจมีความเจริญรุ่งเรื่องและยั่งยืนได้ แต่บางบริษัทที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็จะไม่ได้มีการกำหนดวัฒนธรรมที่ชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่องค์กรเชิดชู อะไรคือสิ่งที่องค์กรไม่ต้องการ อะไรที่ทำแล้วบริษัทจะให้รางวัล จะชื่นชม เพื่อให้คนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จะต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมการรักษาคำพูด คือพูดอะไรแล้วจะต้องทำให้ได้ ถ้าใครผิดคำพูดบ่อย ๆ ก็แสดงว่าเขาเป็นคนที่ไม่เหมาะกับการทำงานในบริษัทต่อไป เพราะมีพฤติกรรมที่ไม่เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร โดยถ้าหากเราจะไม่ให้ใครอยู่ต่อ เราก็ต้องมีการกำหนดลงไปให้ชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่เขาทำไม่ได้แล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท เช่น ถ้าหากมีการกำหนดส่งงานลูกค้าภายในวันที่ 15 แต่พนักงานคนนั้นส่งไม่ได้ เราก็ต้องมานั่งคุยกันแล้วว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมรับปากไปแล้วถึงทำไม่ได้ ทำไมตอนวางแผนร่วมกับลูกค้าถึงรับปากไปแบบนั้น ก็ต้องคุยกันว่าเป็นเพราะอะไร และมีการกำหนดด้วยว่าจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก ถ้าหากทำได้ต่ำกว่าเกณฑ์ก็ต้องมีการให้ออก และชดเชยให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ถ้าเราทำงานแล้วมีความเข้าใจกัน รู้ใจกัน การทำงานก็จะง่ายขึ้น และอย่าไปหลงผิดเหมือนกับพวกฝรั่งที่เป็น Start Up ที่ต้องมีโต๊ะปิงปอง มีเครื่องเล่นเกม มีอาหารเต็มตู้เย็น มีบรรยากาศดี ๆ และเสียตังค์ทำ office สวย ๆ ซึ่งสิ่งเรานี้มันก็ช่วย แต่มันไม่ใช่อัตราเร่งในการที่จะสร้างวัฒนธรรมขึ้นได้ เพราะผมเองก็เคยผ่านเรื่องพวกนี้มาแล้ว จนเข้าใจว่าสิ่งที่เป็นตัวเร่งให้เกิดวัฒนธรรมได้ดีที่สุดคือ “คน” ไม่ใช่สิ่งของ ดังนั้น อย่าเอาเงินไปเผากับสิ่งอื่น แต่ให้กลับมาเริ่มต้นที่คนเป็นอันดับแรก และคนแรกที่จะต้องเริ่มคือตัวคุณเองที่เป็นเจ้าของธุรกิจ เพราะถ้าเราไม่ทำตามวัฒนธรรมขององค์กร ก็ไม่มีลูกน้องคนไหนทำเหมือนกัน เพราะเราคือตัวอย่างที่ทุกคนเห็นภาพชัดที่สุด วัฒนธรรมจะเป็นสิ่งที่บอกว่า ในทุก ๆ วันที่ทำงาน พนักงานทุกคนจะต้องทำงานในรูปแบบไหน

เครดิตภาพ: www.pexels.com/th-th/photo/601170/

3. ให้เขียนแผนธุรกิจ แต่อย่ายึดติดกับการทำงานตามแผน

ผมเองก็มีโอกาสได้เจอหลาย ๆ บริษัทที่เชิญผมไปเป็นที่ปรึกษา พอเขียนแผนเสร็จ อนุมัติงบประมาณเรียบร้อย เขาจะทำงานตามนั้นทั้งปีเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ควรจะต้องเป็นแบบนั้นก็ได้ เช่น ถ้างบประมาณการตลาดมี 100 ล้าน ถ้ากำหนดแล้วว่าจะเอามาใช้ทำสื่อ 50 ล้าน ก็จะเซ็นสัญญากับบริษัทมีเดียทีเดียวเลยว่าจะใช้ 50 ล้าน ผมก็จะบอกว่าอย่าไปทำแบบนั้น แต่เราควรจะให้ไกด์ไลน์ไปว่าปีนี้เราจะทำประมาณ 50 ล้านนะ เสร็จแล้วเวลาทำงานเราจะทำที่ละควอเตอร์ เพื่อว่าเวลาที่สถานการณ์เปลี่ยน เราจะสามารถปรับตัวได้ ไม่ใช่ล็อคงบประมาณลงไปทีเดียวทั้งปี

ดังนั้น การทำธุรกิจที่ดี สิ่งที่เราวางแผนเอาไว้ มันอาจจะไม่เป็นไปตามแผนก็ได้ ถ้าเราวางแผนไปแล้ว แต่พอทำไปสัก 3 เดือน สถานการณ์มันไม่เหมือนกับตอนที่ได้วางแผนเอาไว้ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เงื่อนไขเปลี่ยน แผนก็ต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมด้วย

แผนธุรกิจคือการเน้นที่เป้าหมาย เน้นที่ผลลัพธ์ แต่เวลาทำจริง ๆ แล้วในระหว่างปีมันไม่เป็นไปตามแผน แต่เรายังอยากได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม เราก็จะต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีการอื่น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คิดเอาไว้ในตอนแรกก็ได้

“ธุรกิจที่ดีจะต้องมีแผน แต่สิ่งที่ดีกว่าก็คือ
เมื่อลงมือทำไปแล้ว เราสามารถที่จะปรับปรุงแผนได้ด้วย”

4. หาที่ปรึกษา อย่าคิดว่าตัวเองเก่งที่สุด

อย่าทำธุรกิจโดยไม่มีที่ปรึกษา เพราะการทำธุรกิจโดยมีที่ปรึกษา จะทำให้เราสามารถทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น บางครั้งเรามีที่ปรึกษา เราอาจจะไม่เชื่อ อาจจะไม่ทำตามก็ได้ หรืออาจจะเชื่อมั่นในตัวเองว่าในบริบทของเรามันน่าจะสำเร็จ แต่ถึงกระนั้นคำแนะนำของที่ปรึกษาเราก็ควรจะนำเอาไปลองทำดูก่อน อย่าพึ่งไปเถียง เพราะผมเองก็ผ่านเรื่องนี้มาเหมือนกัน ตอนที่เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ๆ ก็มั่นใจในตัวเอง รุ่นพี่ที่เป็นที่ปรึกษาแนะนำอะไรก็ไม่ค่อยเชื่อ พอเจอปัญหาจริง ๆ ก็ถึงได้เข้าใจว่าสิ่งที่เขาแนะนำมานั้นมันถูก เราไม่ควรจะมองข้าม แต่ควรจะเก็บเอามาคิด เอามาลองทำดูก่อน

โดยที่ปรึกษาทางธุรกิจก็ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายการขาย หรือฝ่ายการตลาด แต่เราควรจะเปิดใจไปขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาทางธุรกิจด้านการเงิน ด้านบัญชีก็ได้ หรือทางกฎหมายก็ได้ เพราะการทำธุรกิจมันเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยมากมาย บางครั้งเรื่องการเงิน เรื่องกฎหมาย เรื่องบัญชี เขามีความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ มีโอกาสที่เราไม่ทันมองเห็น แต่ที่ปรึกษาของเราจะเป็นคนบอกเราได้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และธุรกิจของเราควรจะไปทางไหน

เครดิตภาพ: https://www.pexels.com/th-th/photo/3756679/

5. อย่ามองอะไรสั้น ๆ

หลาย ๆ คนเวลาทำธุรกิจแล้วก็มุ่งแต่จะขายของ อยากได้ยอดขายเยอะ ๆ เร็ว ๆ แต่ไม่ได้มองว่าสิ่งที่ทำนั้นก่อให้เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาวหรือเปล่า กลายเป็นการทำงานแบบระยะสั้น ๆ

ซึ่งการทำธุรกิจที่ดีนั้นจะต้องเป็นการมองในระยะไกล หลาย ๆ คนที่ผมได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษา ผมก็มักจะถามเขาว่าอีก 5 ปี เราคิดว่าเรายังจะทำธุรกิจนี้อยู่ไหม และอีก 5 ปี หน้าตาของธุรกิจเราจะเปลี่ยนไปไหม ถ้าเขาบอกว่ายังเป็นเหมือนเดิม ผมก็บอกได้ว่าอีก 5 ปี ถ้าเราไม่เปลี่ยน แต่โลกมันก็จะเปลี่ยนไปหมดแล้ว ถ้าเราไม่เปลี่ยนผ่านธุรกิจของเราให้กลายเป็นอย่างอื่น หรือให้ธุรกิจของเราขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงขึ้น ผมบอกได้เลยว่าโอกาสที่เราจะล่มสลายมีเยอะมาก

ลองถามคำถามดี ๆ ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคืออะไร…

“ในโลกอนาคต มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะทำธุรกิจแบบเดิม
โดยอยากได้ยอดขายเพิ่มขึ้น…”

6. อย่าลืมพิสูจน์สมมุติฐานการตลาด

ต้องบอกว่าเรื่องการขาย การตลาดนั้นมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มันเป็นศาสตร์เพราะสามารถวัดผลได้ ในขณะเดียวกันตอนที่เอาลงไปใช้งาน มันต้องมีศิลปะในการใช้ด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจะทำการขาย หรือการตลาด จะต้องมี 4 ขั้นตอน ได้แก่

  • ตั้งสมมุติฐาน
  • ทดสอบสมมุติฐาน
  • วัดผล
  • เรียนรู้
เครดิตภาพ: www.pexels.com/th-th/photo/3153201/

7. อย่ามองหาสิ่งใหม่ ๆ ในทุกครั้ง ๆ

ผมเป็นคนหนึ่งที่เวลาทำงาน ขายงานให้ลูกค้าแล้วลูกค้าจะชอบมาก เพราะมันมีความแปลกใหม่เสมอ แต่พอทำไปถึงจุด ๆ หนึ่ง ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมเราถึงทำสิ่งเหล่านี้ได้อยู่คนเดียว หรือทำได้อยู่แค่ไม่กี่คน แต่ทีมงานน้อง ๆ คนอื่น ๆ ทำแบบนี้ไม่ได้

สุดท้ายก็เลยเปลี่ยนใหม่ว่าเราไม่ทำธุรกิจแบบนี้แล้ว เพราะว่าสุดท้ายเราจะไม่สามารถเอาตัวเองออกจากธุรกิจได้ ดังนั้น สิ่งที่เราจะให้ความสำคัญ ไม่ใช่การค้นหาสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่มันก็คือค้นว่าสิ่งไหนที่ทำแล้วมันได้ผลดี เราก็จะทำสิ่งนั้นซ้ำ ๆ

ซึ่งถ้าเราสามารถทำซ้ำแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีเหมือนเดิม เราก็จะสามารถเอาตัวเองออกจากธุรกิจได้ หรือถ้ามีพนักงานบางคนลาออกจากธุรกิจไป เราก็สามารถที่จะหาคนมาทำแทน โดยที่ผลลัพธ์ก็ยังเหมือนเดิม นั้นก็เพราะ เราให้ความสำคัญที่ตัว “กระบวนการ” แม้ว่ามันจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100% แต่มันชดเชยได้สัก 60-70% ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการทำธุรกิจ ส่วนที่เหลืออีก 30-40% เราก็ค่อยหาคนมาทำงานแทน สุดท้ายเราเองก็สามารถเอาตัวเองออกจากธุรกิจไปทำอย่างอื่นได้

ดังนั้น เราควรที่จะให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการ เราควรที่จะทำให้พนักงานทุกคนรู้กระบวนการว่าขั้นตอน 1 2 3 4 เป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถทำงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การทำซ้ำได้คือความสำเร็จในธุรกิจ”

8. อย่ามองข้ามการเฉลิมฉลอง

เราต้องทำธุรกิจโดยอย่าลืมที่จะเฉลิมฉลองความสำเร็จในระหว่างวัน…

หลายคนบอกว่า เราต้องปิดยอดขายให้ได้นะ ต้องปิดยอดขายให้ได้ 10 ล้าน ถ้าปิดสัญญาณปีนี้ได้ 20 ราย แล้วเราจะมาฉลองกัน ผมคิดว่ามันไม่ควรจะมาฉลองกันแบบนี้ เพราะมันต้องรอกันถึงสิ้นปีถึงจะมาฉลอง ก็ต้องบอกว่าพนักงานก็คือคน เวลาที่เราทำงานแล้วมันไม่มีแรงขับเคลื่อนระหว่างทาง และคิดแค่ว่าสิ้นปีค่อยมีความสุขกัน บางทีมันก็ไม่ไหวนะ

ดังนั้น ระหว่างทางเราจะต้องมีการกำหนดหมุดหมาย เช่น ถ้าปีนี้เราอยากปิดสัญญาลูกค้าได้ 20 ราย   แล้วสินค้ามียอดขายสะสม 50 ล้าน อันนี้คือเป้าหมายประจำปี แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการกำหนดหมุดหมายว่า เช่น 4 เดือนแรกได้ลูกค้า 5 ราย 4 เดือนต่อมาได้ลูกค้าอีก 5 ราย เป็นต้น และทุก ๆ ครั้งที่เราถึงเป้าหมายในระหว่างทาง เราก็ต้องมีการเฉลิมฉลองไปด้วย เพราะมันจะเป็นการเติมไฟให้ทีมงานมีแรงขับเคลื่อนต่อไปเป็นระยะ ๆ ไม่ให้หมดไฟในการทำงานไปก่อน

เพราะการทำธุรกิจมันเหมือนกับการเดินทางไกล ถ้าเราตั้งหน้าตั้งแต่แต่จะไปหยุดพักที่ตรงจุดหมาย เราก็อาจจะหมดแรงไปก่อนก็ได้ แต่ถ้าเรามีการหยุดพักชื่นชมความงามเป็นระยะ ๆ ระหว่างทาง มันก็สามารถทำให้เราเดินไปได้ไกล และถึงเป้าหมายได้โดยไม่หมดแรงไปเสียก่อน

เครดิตภาพ: www.pexels.com/th-th/photo/1015568/

9. อย่าเน้นที่ปริมาณลูกค้า แต่ให้เน้นลูกค้าที่เหมาะสมกับเรา

หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ” ผมเองก็เคยเสียใจที่รับลูกค้าบางประเภทเข้ามา ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าลูกค้าประเภทนี้ วิธีคิด วิธีทำงาน ไม่เหมาะกับเรา แต่ตอนนั้นก็บอกตรง ๆ ว่าอยากได้ลูกค้า ก็เอาเข้ามา ปรากฏว่าก็เป็นอย่างที่คิดจริง ๆ คือมีแต่ปัญหาที่ต้องไปแก้ไข

ดังนั้น ถ้าลูกค้าคนไหนที่ไม่ได้มีความเชื่อเหมือนเรา ไม่ได้มีวัฒนธรรมเหมือนเรา ไม่มีค่านิยมเหมือนเรา ไม่ได้มีวิสัยทัศน์เหมือนเรา ถ้าเลือกได้ก็อย่าทำงานด้วยดีกว่า เพราะผมเองพอมาสังเกตดูก็พบว่า ลูกค้าที่มาซื้องานผม ส่วนใหญ่จะมีความเชื่อเหมือนกับเรา เวลาขายงานมันเลยขายง่าย ไม่ต้องใช้พิธีรีตองเยอะ เป็นเรื่องอะไรที่จับต้องได้ล้วน ๆ

รวมถึง การมีวิสัยทัศน์และการทำงานตรงกัน เวลาทำงานด้วยกันมันจะสอดคล้องตรงกันดีมาก ๆ บางครั้งมันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จไปทั้งหมด อาจจะมีอุปสรรค์บ้าง แต่ทำไปแล้วมันทำให้เรามีความสุข

10. อย่าดูถูกคนตัวเล็ก

ทุก ๆ คนมีความสามารถที่จะเป็นพันธมิตรของเราได้ ผมเคยเจอคนบางคนที่จิกหัวใช้ซัพพลายเออร์เยี่ยงทาส ทั้งกดราคา ทั้งใช้วาจาขู่เข็ญ เช่น ถ้าคุณไม่ทำตามเรา เดี๋ยวเราจะเอาคู่แข่งเข้า, ถ้าคุณไม่ทำตามเรา เราจะกลายเป็นคู่แข่งของคุณ ฯลฯ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร

เพราะในการทำธุรกิจนั้น เราไม่มีทางรู้เลยว่าในวันข้างหน้าใครจะกลายมาเป็นมิตร ใครจะกลายมาเป็นศัตรูของเรา เราไม่รู้เลยว่าวันข้างหน้าใครจะเป็นคนมาช่วยเหลือเราในวันที่เราย่ำแย่ ดังนั้น อย่าไปดูถูกคนตัวเล็ก ๆ เนื่องจากเราไม่มีวันรู้เลยว่าวันหนึ่งเขาอาจจะยิ่งใหญ่ขึ้นมาก็ได้ หรือเราอาจจะตกต่ำลงไปก็ได้

ดังนั้น สร้างสายสัมพันธ์ที่ดี เขามาเป็นซัพพลายเออร์ เขาไม่ได้มาขอทาน เราเองก็ควรจะต้องรักษาเขาเอาไว้ด้วย เพราะชีวิตมันไม่แน่นอน

อย่างเพื่อนผมคนหนึ่ง เขาเคยมีลูกน้องซึ่งทำงานเก่งมาก ๆ แต่พอ 10 ปีผ่านไป ลูกน้องคนนั้นกลายมาเป็นเจ้านายของเพื่อนผม สถานภาพมันสลับกัน แล้วถ้าหากเพื่อนผมเขาทำตัวไม่ดีกับลูกค้า ตอนนี้เขาคงแย่ไปแล้ว แต่ด้วยความที่เพื่อนผมมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูกน้องคนนี้ ต่างคนต่างให้เกียรติกัน ทำให้วันนี้การทำงานก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร และความสัมพันธ์ส่วนตัวก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

“จงให้เกียรติคนตัวเล็ก เพราะวันหนึ่งเขาจะโตขึ้น
และเขาจะมอบคืนในสิ่งที่เราเคยให้กับเขา”

และทั้งหมดนี้ก็คือ 10 บทเรียนสำคัญที่ไม่ควรพลาดในการทำธุรกิจ ซึ่งถือเป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์ที่ดี ๆ ที่คนทำธุรกิจควรจะเปิดใจ และลองเอาไปปฏิบัติดู เพื่อว่าคุณจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาผิดพลาดในแบบเดียวกับสิ่งที่ผมเคยผ่านมา

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

เก่งแต่ไม่ก้าวหน้า ปีหน้าจะทำอย่างไร

ไร้สาระสิ้นดี!!! ทำงานก็มีผลลัพธ์
แล้วทำไมต้องประจบเจ้านาย บ้าไปแล้ว
ทำไมไม่ให้ผลงานเป็นตัวตัดสินหละ
เคยสังเกตไหมว่าทำไมคนที่เก่งคน
เก่งการนำเสนอ และเจ้านายรัก
ถึงมีโอกาสก้าวหน้ามากกว่าคนอื่น?

อ่านต่อ »

เจ้านายไม่รัก จะก้าวหน้าได้อย่างไร?

ทำงานดีทั้งปี เจ้านายไม่เห็นผลงาน
เจ้านายไม่รู้ เจ้านายไม่เห็นความสำคัญ
เพราะไม่ตรงกับเป้าหมาย ทำให้ตายก็
ไม่ไปไหนซักที
เจ้านายไม่รัก จะก้าวหน้าได้อย่างไร?

อ่านต่อ »

รับสิทธิพิเศษมั๊ย?

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า

ลงทะเบียนตอนนี้ รับ E-Books ฟรี!!