พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
สำหรับในสถานการณ์ปัจจุบัน เรียกได้ว่าการทำธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผลกระทบของโควิดที่เรากำลังเผชิญอยู่ ทำให้ผู้ที่อยู่ในฐานะของผู้บริหาร หรือผู้นำองค์กร จะต้องใช้ความสามารถ และทักษะเฉพาะตัวหลาย ๆ อย่างในการที่จะประคับประคองให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างปลอดภัย
ดังนั้น ในวันนี้ผมจะมาแนะนำทักษะของผู้นำที่ดี ที่จำเป็นจะต้องมีในภาวะวิกฤติ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ใช้ได้เฉพาะแค่ในสถานการณ์โควิดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสถานการณ์วิกฤติอื่น ๆ ทักษะผู้นำทั้ง 10 ข้อนี้ ก็ยังสามารถที่จะเอาไปใช้ได้เช่นเดียวกัน
1. Objective (เป้าหมายของเราคืออะไร)
สิ่งที่ผู้นำจะต้องมีอันดับแรก คือการมีเป้าหมาย ถ้าเราเจอสถานการณ์วิกฤติ เราจะต้องรู้แล้วว่าเป้าหมายของเราคืออะไร เช่น ถ้ายอดขายในสถานการณ์ปกติอยู่ที่ 100% แต่ในสถานการณ์วิกฤติจะปรับเป้าหมายของยอดขายมาที่ 70 หรือ 50% เพื่อประคองสถานการณ์ไปก่อน อันนี้ตัวอย่างของการกำหนดเป้าหมายให้กับธุรกิจ ซึ่งผู้นำจะต้องเป็นผู้กำหนด และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว
2. Plan (แผนการของเราคืออะไร)
หลังจากที่ผู้นำได้ประเมินสถานการณ์และกำหนดเป้าหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อมาก็จะต้องวางแผน ซึ่งเป็นการวางกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายใต้เงื่อนไขของสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งผมเองมีเพื่อนที่ทำธุรกิจมียอดขายระดับ 500 ล้าน เป็นธุรกิจส่งคนไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ในวิกฤตินี้ถือว่าโดนผลกระทบเต็ม ๆ แต่เขาเองในฐานะของผู้นำองค์กร เขาก็ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ คือปิดกิจการของธุรกิจเดิมลง แล้วเปิดธุรกิจใหม่ทันที ซึ่งตอนนี้ก็ฟื้นตัวแล้ว โดยถือเป็นการตัดสินใจที่รวดเร็วและแม่นยำมาก การมองสถานการณ์ขาด และมีแผนที่ดี ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกอบกู้ธุรกิจขึ้นมาอีกครั้ง
3. Resources (เรามีทรัพยากรอะไรบ้าง และต้องการทรัพยากรอะไรบ้าง)
สำหรับในข้อนี้ก็คือการสำรวจตัวเองว่าตอนนี้เรามีอะไรดี ๆ ที่อยู่ในมือบ้าง เราถือครองทรัพยากรอะไรที่พอจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในสถานการณ์วิกฤตินี้ ซึ่งผู้นำจะต้องมององค์กรตัวเองให้ออกอย่างทะลุปรุโปร่งเลยทีเดียว และยังไม่เพียงเท่านี้ ผู้นำจะต้องรู้ด้วยว่าองค์กรของตัวเองยังขาดทรัพยากรอะไรบ้าง เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด ซึ่งผู้นำที่ดีจะต้องมีความสามารถในการที่จะสรรหาทรัพยากรทุกชนิดที่ต้องการมาใช้ประโยชน์ให้ได้ จะต้องมองว่าทรัพยากรทุกอย่างบนโลกนี้ เป็นสิ่งที่เราสามารถจะดึงมาใช้ประโยชน์ (ถ้าเรารู้วิธี)
4. Challenges/ Obstacle (มีอุปสรรคใดที่น่าจะเกิดขึ้นกับเราบ้าง)
ผู้นำจะต้องประเมินสถานการณ์บนพื้นฐานที่เลวร้ายที่สุด หมายความว่า จะต้องคิดเสมอว่าถ้าสถานการณ์เลวร้ายที่สุด มันจะเป็นไปได้ถึงขึ้นไหน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีแผนในการรองรับเอาไว้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นคนละประเด็นกับการมองโลกในแง่ดี เพราะในภาวะฉุกเฉิน เราจะต้องมองให้เห็นในสิ่งที่มันยังไม่เกิดขึ้น เราจะต้องมองแนวโน้มให้ออก และมีการเตรียมแผนสำหรับเหตุการณ์ร้าย ๆ เอาไว้ล่วงหน้าเสมอ รวมถึงจะต้องมองเห็นว่าอะไรบางที่กำลังจะเป็นอุปสรรคในการทำงาน จะหลบเลี่ยงหลีกหนีได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ธุรกิจได้รับผลกระทบ
5. Communicate (เราสื่อสารชัดเจนหรือเปล่า)
ผู้นำจะต้องมีศิลปะในการสื่อสาร มีความชัดเจน ไม่สร้างความสับสน และสื่อสารบนพื้นฐานความจริง รวมถึงจะต้องมีศิลปะในการปลุกเร้าขวัญกำลังใจ ให้ลูกทีมมีความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อฝ่าฟันวิกฤติ โดยจะต้องมีการมอบหมายงานที่ชัดเจน แจกแจงงานอย่างเป็นระบบระเบียบ ว่าทีมงานแต่ละฝ่ายต้องทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เพื่ออะไร ส่วนผู้นำจะเป็นผู้บัญชาการในภาพรวม และเป็นผู้ประสานให้ทีมงานทุกคนทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นเป็นไปตามแผนงาน และเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้
6. Next steps (ขั้นต่อไปของเราคืออะไร)
ผู้นำคือผู้ที่เป็นภาพรวมทั้งหมดของธุรกิจ คือเห็นทั้งภาพอดีต (ในสถานการณ์ปกติ) ภาพปัจจุบัน (ในสถานการณ์วิกฤติ) ภาพอนาคต (สิ่งที่กำลังพยายามจะมุ่งไป) แต่ไม่ใช่ว่าลูกทีมทุกคนจะมีความสามารถที่จะมองเห็นในสิ่งนี้ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือ ผู้นำจะต้องเป็นคนบอกว่า Next steps คืออะไร และไม่จำเป็นจะต้องบอกไปไกล เอาแค่ทีละขั้น ว่าในลำดับต่อไปเราจะต้องทำอะไร และทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมกันอย่างไร ไม่ต้องบอกไปไกล 3 4 5 steps
7. Feed forward system (เรามีระบบในการ feedback หรือเปล่า)
สมัยก่อนเราอาจจะมีการประชุมประจำสัปดาห์ สรุปงานกันว่าเรามีความสำเร็จ ข้อผิดพลาด และมีแผนงานอะไรที่จะต้องทำในสัปดาห์ต่อไป แต่วันนี้สถานการณ์มันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว บางบริษัททำงานโดยไม่ได้มาเจอหน้ากัน ต้องติดต่อสื่อสารกันผ่านระบบออนไลน์ ดังนั้น ก็ต้องปรับตัวให้ทัน ในสถานการณ์คับขัน การ feedback จะต้องทำกันทุกวัน แต่ถ้าไม่ได้เจอหน้ากัน เพราะต่างคนต่างทำงานกันที่บ้าน เราก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีออนไลน์ต่าง ๆ เป็นสื่อกลาง รวมถึงคนที่เป็นผู้นำจะต้องปรับทัศนคติของทุกคนให้มีความพร้อมที่จะรับฟังเสียงสะท้อนจากคนอื่น และปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นร่วมกัน
8. Continuous adjustment (มีอะไรที่เราควรปรับปรุงบ้าง)
คนที่เป็นผู้นำจะต้องทบทวนตัวเองบ่อย ๆ รวมถึงถ้าหากมีคำแนะนำอะไรดี ๆ จากคนอื่น ก็จะต้องเปิดใจยอมรับ เพราะโลกนี้ไม่มีใครรู้ดีไปหมดทุกเรื่อง และโลกนี้ก็ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้น เราจะต้องเปิดใจเรียนรู้และปรับปรุงพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ยิ่งในภาวะวิกฤติ ผู้ที่ปรับตัวได้เท่านั้นจึงจะรอด เรื่องของอีโก้หรืออัตตาตัวตนควรจะต้องขจัดออกไป เพราะเป็นสิ่งที่ขวางกันการพัฒนาตัวเอง อย่างเจ้าสัวธนินท์ เวลาที่มีใครก็ตามมาแนะนำในสิ่งที่ท่านยังไม่รู้ ท่านจะบอกกับคนคนนั้นว่า “ เรื่องนี้ผมยังไม่รู้ และคุณเป็นครูของผม ผมต้องเรียนรู้จากคุณ” นี้คือความเปิดกว้างของคนที่เป็นผู้นำมืออาชีพ ที่พร้อมจะเรียนรู้ และไม่เอาอีโก้มาบดบังโอกาสในการพัฒนาตัวเอง
9. Celebration (เราฉลองชัยชนะอย่างไร)
เราจะต้องมีรางวัลให้กับความพยายาม เมื่อทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันจนฝ่าฝันอุปสรรคไปถึงเป้าหมายได้ ผู้นำจะต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ดื่มด่ำในความสำเร็จ นั้นก็คือการเฉลิมฉลองในห่วงเวลาแห่งการปิติยินดี ที่ทีมงานทุกคนจะได้สัมผัสความรู้สึกแห่งชัยชนะร่วมกัน ซึ่งการเฉลิมฉลองนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบัน ว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน โดยผู้นำจะเป็นผู้กำหนดเป้าหมาย และบอกกล่าวแก่ทีมงานทุกคนว่ามีอะไรที่เป็นรางวัลที่รออยู่ปลายทาง ซึ่งบางครั้งถ้าองค์กรกำลังแย่อยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องฉลองอะไรกันใหญ่โตก็ได้ แต่จะต้องมีกิจกรรมนี้ เพราะถือเป็นการสร้างพลังบวกให้กับทีมงานทุกคน
10. New target (เป้าหมายต่อไปของเราคืออะไร)
เมื่อผ่านพ้นการเฉลิมฉลองกันเสร็จแล้ว ก็จะต้องมีการตั้งเป้าหมายถัดไปทันที เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนมีขวัญกำลังใจเพิ่มมากขึ้น “จะตีเหล็ก ก็ต้องตีตอนร้อน” ดังนั้น ผู้นำจะต้องชี้ให้ทุกคนเห็นเป้าหมายต่อไปที่ทุกคนจะต้องช่วยกันทำ ซึ่งตอนนี้ถือเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่สุด ในการที่จะมอบโจทย์และภารกิจต่อไป
และทั้งหมดนี้ก็คือ 10 สิ่งที่ผู้บริหารควรทำ เมื่อต้องนำในภาวะวิกฤติ ซึ่งถือเป็นการสรุปแนวคิดออกมาแบบง่าย ๆ ให้ทุกคนสามารถเข้าใจและนำไปฝึกฝนหรือเอาไปใช้ได้ทันที โดยหลักการทั้งหมดนี้ผมได้ทดลองใช้กับตัวเองมาแล้ว และได้ผลดีมาโดยตลอด ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวรายสักแค่ไหนก็ตาม หากผู้บริหารนำเอาหลักการ 10 ข้อนี้ไปใช้อย่างถูกวิธี ก็จะช่วยประคับประคองกอบกู้สถานการณ์ให้ฟื้นกลับคือมาได้