พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
วันนี้เราจะมาต่อกันใน 30 คำถามสำคัญของการทำธุรกิจ (ตอนที่ 3) ซึ่งถือเป็นตอนสุดท้าย โดยถ้าหากใครยังไม่ได้อ่าน 2 ตอนแรก ก็สามารถย้อนกลับไปอ่านก่อนได้ เพื่อให้เราไม่พลาดในเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ และจะสามารถช่วยให้เรามีคำถามดี ๆ ที่ทำให้เราดำเนินธุรกิจได้อย่างชาญฉลาด
โดยคำถาม 10 ข้อสุดท้ายที่เราจะต้องถามตัวเอง เมื่อเราเป็นเจ้าของธุรกิจ คือ
21. เมื่อไหร่ ที่คุณไม่ต้องทำงาน แล้วบริษัทยังอยู่ได้ด้วยตัวเอง
เคยวางแผนไหมว่าในอนาคตอันใกล้นี้ บริษัทของเราจะอยู่ได้ด้วยตัวเองแม้ว่าเราจะไม่ต้องทำงานแล้ว คำถามนี้ไม่ได้หมายความว่าในอนาคต เมื่อเรารวยแล้วเราจะไม่ต้องทำงานอีกต่อไป และผมก็ไม่เชื่อว่าเมื่อคนเรารวยแล้วจะไม่ต้องทำงาน
แต่คำถามนี้จะช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนวิธีคิดได้ว่าเราจะมีวิธีการทำงานอย่างไร ที่ทำให้เราสามารถไม่ต้องทำงานก็ได้ และคำถามนี้จะยกระดับการทำธุรกิจของเขาไปสู่ระดับที่สูงขึ้น เพราะเราไม่ได้ทำงานเพื่อหาเงินเพื่อวันนี้ เพื่อวันพรุ่งนี้ แต่มันจะทำให้เราย้อนกลับมาดูว่า ฉันนี้เมื่อเราทำธุรกิจนี้ แต่ถ้าวันนี้เราเดินออกมา แล้วธุรกิจมันจะสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยตัวเองหรือเปล่า
ถ้าใครทำแบบนี้ได้ ธุรกิจของเขาจะสามารถทำเงินได้ด้วยตัวเอง แล้วคนคนนั้นจะใช้เวลาในการทำงานน้อยลง หรือวันหนึ่งก็อาจจะมีผู้บริหารมืออาชีพมาทำงานแทนเราได้
ดังนั้น ถ้าคำถามของคนเปลี่ยนไป วิธีการทำธุรกิจของคุณก็จะเปลี่ยนไป และรูปแบบในการหาเงินของคุณก็จะเปลี่ยนไป
22. ทรัพย์สินในธุรกิจของคุณคืออะไร ? ถ้าขายวันนี้จะได้กี่บาท
วันนี้หลาย ๆ คนมองหาแต่กระแสเงินสด อาจจะเนื่องด้วยสถานการณ์ไม่ปกติของระบบเศรษฐกิจที่มีการช้าลงเพราะการแพร่ระบาดของโควิด แต่สาระสำคัญที่เราจะต้องถามตัวเองคือ ถ้าวันหนึ่งโควิดหายไปแล้ว เรายังจะกลับไปทำเหมือนเดิมอีกไหม หรือว่าเราจะหาวิธีการทำธุรกิจแบบไหน ที่จะช่วยสร้างทรัพย์สินในธุรกิจของเรา
ทรัพย์สินในธุรกิจของเรามีอะไรบ้าง…
ในสมัยก่อนเราอาจจะนึกไปถึงตึก ที่ดิน โรงงาน อาคาร หรือเครื่องจักรต่าง ๆ แต่ในวันนี้ ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม เพราะเวลาที่เราพูดถึงทรัพย์สิน เราจะพูดถึงทรัพย์สินที่ไม่เสื่อมค่าลงเมื่อเวลาผ่านไป รวมถึงจะต้องเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ดังนั้น วันนี้เราต้องถามตัวเองว่า เรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง เช่น เรามีการสร้างสินค้าลิขสิทธิ์หรือเปล่า เรามีสิทธิบัตรหรือไม่ มีนวัตกรรมเป็นของตัวเองหรือเปล่า หรือเรามีฐานข้อมูลลูกค้าหรือไม่ เรามีลูกค้าอยู่ในมือกี่พัน กี่หมื่นคน หรือเรามีผู้ติดตามหรือเปล่า ถ้าเรามีผู้ติดตามเยอะ ก็จะทำให้มีความน่าเชื่อถือขึ้นมาในอีกระดับ
รวมถึงบางคนอาจจะมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง และเดือนหนึ่งมีคนเข้ามาอ่าน 4 – 5 แสนคน เรามี traffic เหล่านี้หรือไม่ หรือว่าเรามีสัญญาการค้ากับลูกค้าหรือเปล่า มีสัญญาการส่งมอบอย่างต่อเนื่องแบบยาว ๆ 2-3 ปี แล้วจะได้รับเงินเป็นงวด ๆ สัญญาเหล่านี้ก็ถือเป็นทรัพย์สินทางธุรกิจที่สามารถตีเป็นมูลค่าของธุรกิจได้เช่นกัน
นอกจากนี้เราสิทธิในการเข้าถึงบางสิ่งบางอย่างที่คนอื่นเข้าถึงไม่ได้หรือเปล่า เช่น สัมปทานสัญญาณวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
23. อะไรคือ DNA ของบริษัทคุณที่ใช้ในการตัดสินใจต่างๆ
ซึ่ง DNA เหล่านี้เปรียบเสมือนกับ Operating System หรือระบบปฏิบัติการที่ใช้ในการคิด การตัดสินใจ การทำงาน เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็เหมือนกับการที่เราจะเลือกว่าเราจะใช้ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์แบบไหนมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น Windows, Linux, IOS ซึ่งระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ก็จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน
ระบบปฏิบัติการจะเป็นพื้นฐานในการคิด ในการตัดสินใจ การทำงาน และบริษัทของเราตอนนี้มี DNA แบบไหนเป็นพื้นฐานที่จะทำให้บริษัทของเราตัดสินใจไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ซึ่งจะทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมาย ดังนั้น ในองค์กรควรจะมีระบบปฏิบัติการ หรือ Operating System ซึ่งเป็นแม้บทในการตัดสินใจแบบเดียวกัน
ยกตัวอย่าง บริษัทที่เน้นด้านวัตกรรม เขาจะมีความผิดพลาดเยอะ เพราะเป็นการทำงานแบบเชิงทดลองจากสมมุติฐาน ลองผิด ลองถูก แต่สิ่งที่เขามุ่งเน้น ไม่ใช่การทำงานอย่างไม่ผิดพลาด แต่เขาจะเน้นที่การสร้างนวัตกรรม
แต่ถ้าเป็นบริษัทที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน เขาก็จะมุ่งไปสู่การทำงานที่มีความเสี่ยงต่ำ และการที่เราจะควบคุมความเสี่ยงให้ต่ำ เวลาจะทำอะไรก็จะต้องแน่ใจเสียก่อน เช่น Apple ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและมุ่งเน้นเรื่องนวัตกรรม แต่ในปัจจุบันหลังจากที่เปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่ Apple ก็ไปปรับจากการมุ่งเน้นเรื่องนวัตกรรม มาเป็นการมุ่งเน้นเรื่อง Supply chain คือให้ความสำคัญกับการมีต้นทุนถูกลง เน้นเรื่อง Ecosystem เน้นเรื่อง Shared holder driven เพราะเมื่อมุ่งเน้นเรื่อง Supply chain ต้นทุนมันจะต่ำลง ผู้ถือหุ้นก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดี
ในขณะที่เมื่อเราไปดูค่ายมือถือเจ้าอื่น อย่าง Samsung, Huawei เขาจะเน้นเรื่องนวัตกรรมที่ดูตื่นตาตื่นใจมากกว่า ส่วนจะใช้ได้ดี หรือใช้ได้ไม่ดีนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเขาเน้นเรื่องการสร้างนวัตกรรมเป็นหลัก
ดังนั้น วันนี้เราลองถามตัวเองดูว่าอะไรคือ DNA ของเรา 3-5 ข้อ คืออะไร
24. ค่าตัวต่อชั่วโมงของคุณ และทีมงานของคุณคือกี่บาท
วันนี้ค่าตัวคุณหรือทีมงานคือเท่าไหร่ และทุกคนทำงานได้คุ่มค่าตัวไหม ถ้าทำงานได้แพงกว่าค่าตัว คิดออกมาแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เช่น ถ้าพนักงานมีค่าตัวชั่วโมงละ 100 ทำงาน ทำงาน 8 ชั่วโมงก็ 800 ทำงาน 22 วัน ก็ตกเดือนละ 17,600 บาท และกลับมาถามตัวเองดูว่าเรากำลังใช้พนักงานเดือนละ 17,600 บาท ทำงานอะไรให้เรา
เรากำลังจากให้พนักงานไปทำงานที่มีราคาถูกหรือเปล่า เช่น บางบริษัทอาจจะจ้างมาส่ง Fax, ใช้ให้เขาไปซื้อกาแฟ ซื้อน้ำ เหมือนหัวหน้างานบางคนที่ชอบใช้ลูกน้องไปซื้อของ ซึ่งจริง ๆ แล้วงานพวกนี้ใช้ให้ใครไปทำก็ได้ ตอนนี้เราได้ใช้เวลาที่แสนจะมีค่าของพนักงาน โดยสั่งให้เขาไปทำเรื่องไร้สาระหรือเปล่า
ดังนั้น วิธีการที่ถูกต้องก็คือ เราควรที่จะหาพนักงานที่มีต้นทุนถูกกว่าให้ไปทำงานเหล่านี้แทนหรือเปล่า หรือว่าควรจะกำจัดงานไร้สาระออกไป
ถ้าตอนนี้ค่าตัวคุณอยู่ที่ชั่วโมงละ 10,000 บาท แสดงว่าวันหนึ่งคุณต้องทำเงินได้ประมาณ 100,000 บาท เดือนหนึ่งก็ทำเงินได้ประมาณ 3 ล้านบาท แล้ววันนี้…คุณทำงานอะไรอยู่ในแต่ละวัน
จงระลึกอยู่เสมอว่าการตัดสินใจของคุณในแต่ละนาที แต่ละชั่วโมง แต่ละวัน มันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
25. ถ้าคุณมีเงินเท่ากับเบอร์ 1 ของตลาด คุณจะทำยังไงให้ชนะเบอร์ 1 ได้ ?
คำถามนี้ ถือเป็นคำถามเปิดสมองสำหรับ CEO, Executive เป็นผู้บริหารของธุรกิจ เป็นคำถามที่น่าสนใจว่าจริง ๆ แล้วที่วันนี้เราไม่ได้เป็นเบอร์ 1 หรือประสบความสำเร็จเท่าที่เราอยากได้ หรือยังไม่สามารถเอาชนะทางการตลาดได้นั้น มันเป็นเพราะเราไม่มีเงินจริงหรือเปล่า
มันเป็นคำถามช่วยคิด ที่คนจำนวนมากมักจะด่วนสรุปเอาเองว่า เราแพ้เพราะเราไม่มีงบประมาณ เลยทำให้เราสู้คู่แข่งไม่ได้
ผมว่ามันไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดของการทำธุรกิจ…
“ถ้าเงินไม่ใช่ปัญหา คุณจะยังมีปัญญาเอาชนะคู่แข่งหรือเปล่า”
ถ้าคุณตอบไม่ได้ แสดงว่าคุณไม่มีปัญญาเอาชนะคู่แข่ง เพราะมันมีอยากอื่นที่มากกว่านั้นในการที่คุณจะเอาชนะคู่แข่งได้ มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว
จริงอยู่ว่าเงินมันทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น แต่สุดท้ายการทำธุรกิจมันไม่ใช่แค่นั้นนั้น สมมุติว่าคู่แข่งคนมี budget ปีละ 50 ล้าน คุณมี budget อยู่ 30 ล้าน แสดงว่าคุณมีเงินน้อยกว่าเขา 20 ล้าน ถ้าคุณมีกึ๋งมากพอ เงินจะไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าใครจะชนะหรือแพ้
ถ้าคุณเปิดมุมมองใหม่ แล้วใช้ความคิดให้มากพอ คำถามนี้จะทำให้คุณชนะในการแข่งขันทางการตลาดได้
26. อะไรกระตุ้นพนักงานส่วนใหญ่ของคุณ ?
ผมมีหลักให้เราอยู่ 5 ข้อ ให้เราลองไปถามพนักงานของเราดู ลองหาโอกาส และใช้การสอบถามแบบมีศิลปะ เพื่อให้เราได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และตรงตามความเป็นจริงมากที่สุด
ซึ่งแรงกระตุ้นในการทำงานของคนเรามีอยู่ 5 ระดับด้วยกัน
- Money เป็นแรงกระตุ้นของคนที่ทำงานเพื่อเงิน
- Security เป็นแรงกระตุ้นบางคนที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัย
- Relationship เป็นแรงกระตุ้นสำหรับบางคน ที่ทำงานเพราะชอบบรรยากาศในการทำงาน ชอบเพื่อนร่วมงาน ชอบเจ้านาย ความสัมพันธ์ในองค์กรดี
- Esteem บางคนจะรู้สึกอยากทำงานเมื่อได้รับความนับถือ เป็นงานที่สร้างความภาคภูมิใจ
- Legacy บางคนก็ทำงานเพราะอยากได้โอกาสในการที่จะได้แสดงฝีมือ อยากจะสร้างตำนานแห่งการทำงาน
**บริษัทที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่นั้นพนักงานจะมีแรงกระตุ้นจาก Legacy เป็นหลัก
27. พนักงานทุกคนรู้หรือไม่ว่าลูกค้าต้องการอะไร?
บริษัทที่จะต้องมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้พนักงานออกไปทำความรู้จักกับลูกค้า จะมีโปรแกรมอันหนึ่งที่เรียกว่า Sales Blitz คือการที่เอาพนักงานทุก ๆ คน โดยในแต่ละทีมก็จะมีการดึงพนักงานจากแผนกต่าง ๆ มาผสมกัน เหมือนเป็นทีมเฉพาะกิจ แล้วออกไปแข่งกันขายของให้กับลูกค้า ไปเยี่ยมลูกค้า
ผมเองก็เคยมีประสบการณ์ที่ไปทำงานในบริษัทที่มีการจัดกิจกรรม Sales Blitz ให้ทำ ก็ได้ออกไปแข่งกันขายของให้กับลูกค้า ถ้าหากทีมไหนขายได้มากที่สุด ก็จะได้รับรางวัลจากผู้บริหาร
ซึ่งการที่พนักงานทุกคนได้มีโอกาสไปพบกับลูกค้า ไปสัมผัสกับตลาดด้วยตัวเอง ไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างกิจกรรมแข่งกันขายของเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับลูกค้าด้วยประสบการณ์ตรง
ยกตัวอย่างเช่น DTAC ได้มีการส่งวิศวกรไปขายซิม พอไปถึงก็โดนลูกค้าบ่นเรื่องสัญญาณไม่ดี ขาด ๆ หาย ๆ ก็ทำให้เหล่าวิศวกรตระหนักถึงความสำคัญที่จะปรับปรุงแก้ไขให้ระบบมีการส่งสัญญาณที่ดีขึ้น
จุดสำคัญตรงนี้ก็คือ วันนี้พนักงานของเราได้มีโอกาสสัมผัสและรู้สึกถึงลูกค้าอย่างชัดเจนหรือเปล่า เพราะถ้าพนักงานไม่รู้สึกถึงความต้องการของลูกค้า แรงจูงใจที่จะให้บริการก็ไม่เกิด
28. ถ้าคุณจ้างพนักงานคู่แข่งด้วยเงินเดือนที่มากขึ้น 25% พวกเขาจะมาทำงานกับคุณไหม ?
- Vision
- Opportunity
- Leadership
- Culture
29. ถ้าอยู่ดีๆ ลูกค้าคุณเพิ่มจำนวน 10 เท่าภายใน 1 เดือน
หลายคนมาถามผม อยากให้ผมช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้าให้กับเขา 10 เท่า ซึ่งผมก็ต้องถามกลับไปก่อนว่า ถ้าลูกค้าเพิ่มขึ้น 10 เท่าจริง ๆ คุณจะมีความสามารถในสนองความต้องการของลูกค้าได้หรือเปล่า คุณมีความสามารถในการขยายธุรกิจเพื่อรองรับสิ่งเหล่านั้นแล้วหรือยัง
ซึ่งสูตรในการขยายธุรกิจมีอยู่ว่า…
Scalability = Product x Process x People
ธุรกิจหลาย ๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่ไม่สามารถขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นได้ เพราะยังขาด Product ถ้าวันนี้เราทำธุรกิจบริการแล้วมี Product ด้วย ก็แปลว่าเราจะสามารถขยายธุรกิจเพิ่มได้ 10 เท่า
Process หมายถึงกระบวนการทำซ้ำ ๆ และให้ผลลัพธ์ที่เหมือนเดิม เรามีกระบวนการเหล่านี้หรือยัง
People หมายถึงเมื่อลูกค้าเพิ่มขึ้น 10 เท่า เรามีคนที่จะมาสนับสนุนระบบนี้ไหวหรือเปล่า
ดังนั้น การขายดีอย่างเดียวไม่พอ แต่มันหมายความว่าเราจะสามารถรับกับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นได้หรือเปล่า ถ้าไม่ได้ เราก็ต้องไปดูว่าเราจะแก้ไขปรับปรุงในส่วนไหน
30. ถ้าคุณจากโลกนี้ไป ลูกค้าจะจดจำบริษัทของคุณเพียง 1 คำพวกเขาจะจำว่าอะไร
ผมอยากให้เราอ่านข้อสุดท้ายนี้ให้ดี…
เมื่อเราจากโลกนี้ไปแล้ว ลูกค้าจะจดจำบริษัทของเราว่าอย่างไร มันจะเป็นแง่บวกหรือแง่ลบ มีคนจำนวนมากที่โลกจดจำ และแต่ละคนก็ได้รับการจดจำที่แตกต่างกันออกไป
Steve Jobs ถูกจดจำในฐานะผู้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในนวัตกรรม smart phone
Elon musk ถ้าหากในอนาคตเขาเสียชีวิตไป โลกคงจะจดจำได้ว่าเขาคือคนแรกที่บุกเบิกเรื่องการก่อตั้งอาณานิคมใหม่บนดาวอังคาร
วันนี้ ถ้าเราตายไป คนจะจดจำว่าเราอะไร…
ผมหวังว่าเราจะสร้างรอยบากในจักรวาล และคนจะจดจำเราในข้อดี จดจำในคุณูปการที่เราได้ทำให้กับผู้อื่น
แหละทั้งหมดนี้ก็คือ 30 คำถามสำคัญของการทำธุรกิจ ซึ่งก็นำเสนอมาจนถึงตอนสุดท้ายแล้ว คำถามทั้งหลายเหล่านี้ อาจจะเป็นคำถามที่เรายังตอบไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ขอให้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการตั้งคำถามที่ชาญฉลาด เพราะสุดท้ายมันจะนำพาให้เราเข้าถึงภูมิปัญหาบางอย่างที่เกื้อหนุนให้เราเกิดการยกระดับศักยภาพการทำงานและการทำธุรกิจของเรา