พอล ณัฐศิษฏ วาจาสิทธิศิลป์
ในแวดวงการตลาดหรือการทำธุรกิจ มักจะมีหลายคนที่พูดกันว่า “ขอแค่ทำสินค้าให้มันดี แล้วสินค้าจะขายตัวมันเอง” ซึ่งจากประสบการณ์ตรงของผม ผมก็ต้องยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่จริงเลย และเป็นหลุมพรางที่ทำให้หลาย ๆ คนเกิดความเสียหายมานักต่อนัก
เราอาจจะเคยเห็นบางคนที่ทำสินค้าออกมาดีมาก ๆ แล้วลูกค้าวิ่งไปแย้งกันซื้อ อย่างในยุคของ สตีฟ จอบส์ ที่เขาเองออกสินค้ามาดีมาก ๆ จนกลายเป็นสิ่งที่ลูกค้ามาแย้งกันซื้อ มานอนรอที่จะซื้อสินค้าในวันเปิดตัวเลยทีเดียว แต่ในเบื้องหลังปรากฏการณ์นี้ ความสำเร็จมันไม่ได้เกิดจากตัวสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความเข้าใจความต้องการของลูกค้าด้วย เช่น การเกิดขึ้นของ iPod ก็สามารถเข้ามาแทนที่ Soundabout เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานได้ดีกว่า สะดวกกว่า และสามารถบรรจุเพลงได้เยอะกว่า อันเป็นความตองการของลูกค้าทั้งสิน
ดังนั้น วันนี้ผมจะมาช่วยคนที่เป็นผู้ประกอบการ เป็นนักการตลาด หรือนักการขาย เพื่อบอกว่าอะไรเป็น 5 ข้อผิดพลาด ที่นักการตลาดไม่ควรลืม ดังนี้
1. อย่าลืมตรวจตลาด (Market visit not market research)
ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือเป็นนักการตลาด สิ่งที่คุณไม่ควรผิดพลาดเลยก็คือการออกตรวจเยี่ยมตลาดด้วยตัวเอง การตรวจเยี่ยมตลาดนั้น แตกต่างจากการวิจัยตลาด การตรวจเยี่ยมคือการลงไปพบปะพูดคุย ไปด้วยว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นบ้างในตลาดของเรา
ซึ่งผมเองจะเชื่อในการตรวจเยี่ยมตลาดมากกว่า การทำวิจัยตลาด เพราะการทำวิจัยมักจะเป็นการจัดวางข้อมูล ทำแบบสอบถามต่าง ๆ ที่เป็นทางการ แต่บางครั้งก็ไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสภาวะจริง
ดังนั้น ไม่ว่าเราจะขายดียังไงก็ตาม ก็ควรที่จะหาเวลาลงไปตรวจเยี่ยมตลาดเอง อย่าใช้แต่ลูกน้องให้ลงไปถาม เพราะเราควรจะไปคุยกับลูกค้าด้วยตัวเอง ไปถามในสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า เช่น ทำไมถึงซื้อสินค้าคู่แข่ง ของเขาดียังไง แล้วทำไมเอาสินค้าของเราไว้หลังร้าน แล้วเอาของคู่แข่งมาไว้หน้าร้าน หรือทำไมหน้าร้านมีแต่ป้ายโฆษณาของคู่แข่ง แต่ป้ายของเราไม่มีเลยทั้ง ๆ ที่เราก็ทำมาให้แล้ว เป็นต้น ซึ่งเราจะได้ไปรับรู้สภาพที่เป็นจริงแบบรวดเร็ว โดยสิ่งที่เราจะต้องโฟกัสก็คือ ทำไมลูกค้าถึงเกิดพฤติกรรมบางอย่างแบบซ้ำ ๆ และพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นด้วยสาเหตุอะไร
2. ขาดการเจาะกลุ่ม (Pinpoint small segments)
หลายคนทำสินค้า บริการออกมา คิดว่าขายได้ทุกคน ซึ่งจริง ๆ แล้วการขายได้ทุกคน คือการไม่ได้ขายให้ใครสักคน แล้วเราก็คาดหวังว่าจะมีคนที่มาสนใจสินค้าของเรา แล้วก็มาใช้บริการจากเรา แต่ผมจะบอกว่ามันไม่พอ
แต่สิ่งที่เราจะต้องทำคือการเจาะกลุ่มลงไปในตลาดขนาดเล็ก ถ้าเป็น SME ที่ไม่ได้มีเงินทำการตลาดเยอะมาก และเราก็ไม่ต้องการลูกค้าจำนวนมากหมายมหาศาลที่จะทำให้ธุรกิจของเราประสบความสำเร็จ ซึ่งเราอาจจะต้องการยอดขายแค่ 10 ล้าน เพื่อให้ธุรกิจของเราตั้งตัวได้
ถ้าของเราราคา 1,000 บาท จริง ๆ แล้วเราต้องการลูกค้าแค่ 1,000 เท่านั้น เพื่อให้เราได้ยอดขาย 1 ล้านบาท แล้วในตลอดระยะเวลา 1 ปี เราต้องการลูกค้าแต่ละคนซื้อซ้ำแค่ 10 ครั้งเท่านั้น เราก็จะทำยอดขายได้ 10 ล้านบาท
ดังนั้น สิ่งที่เราจะตามหาก็คือลูกค้าชั้นดี 1,000 คน ซึ่งมันเป็นไปได้ เพราะคนไทยทั้งประเทศมีตั้ง 70 ล้านคน ด้วยเหตุนี้คำถามที่สำคัญที่สุดของเราที่จะต้องตอบคือ ลูกค้าชั้นดีของเราเป็นใคร และห้ามบอกว่าเป็นใครก็ได้
3. อย่าขายประโยชน์ที่คู่แข่งเองก็มี (Category benefits)
หลาย ๆ คนเวลาที่พอจะมองหาจุดขายของตัวเอง เราก็มักจะมุ่งไปในสิ่งที่คู่แข่งเขาก็มีเหมือนกัน เช่น เวลาที่ผมสอนในหลักสูตร ก็มักจะถามว่าสินค้าของคุณมีจุดขายยังไง บางคนก็จะบอกว่า “สินค้าของเรามันมีประโยชน์ เพราะเป็นโปรตีนจากพืช คือมีไขมันอิ่มตัวต่ำ ไม่มีโคเลสเตอรอล แถมมีใยอาหารสูง และอุดมไปด้วยวิตามิน รวมถึงเกลือแร่ พร้อมทั้งไฟโตนิวเทรียนท์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย” แต่ถ้าเรามาวิเคราะห์ดูดี ๆ สิ่งที่บอกมาทั้งหมดนี้ มันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสินค้าประเภทนี้อยู่แล้ว ที่ทุก ๆ แบรนด์จะต้องมีเหมือนกัน ดังนั้น มันจึงไม่ใช่จุดขายของเรา เพราะคู่แข่งเขาก็มีเหมือนกัน
ดังนั้น เราต้องมองหาความแตกต่างที่คู่แข่งไม่มี เช่น มีน้องที่เคยมาปรึกษาผม ชื่อว่าน้องหนึ่ง เขาทำธุรกิจสอนเกี่ยวกับเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ผมก็ถามว่าจุดแข็งของคุณคืออะไร เขาก็บอกว่าเรื่องอสังหาฯใครจะมาแนวไหนก็ช่าง แต่ถ้าเป็นเรื่องการเจรจาเขาก็ไม่เป็น 2 รองใครเหมือนกัน พอมาช่วยกันวิเคราะห์ลงไปแล้วก็พบว่าจริง ผมก็เลยตั้งเขาไปว่า “เป็น 1 เรื่องอสังหาฯ การเจรจาให้ไว้ใจ 1” พอได้คำนี้ออกมาแล้ว ก็ทำให้เห็นข้อแตกต่างขึ้นมาเลยทันที
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เราไม่ควรจะผิดพลาดเลยก็คือ การขายจุดแข่งในแบบที่คู่แข่งก็ทำได้เหมือนกัน
4. ลืมใส่ใจเรื่องแบรนด์ (Branding is selling your belief)
วันนี้เรามีการสร้างแบรนด์หรือเปล่า และแบรนด์ไม่ใช่แค่การมีชื่อ ไม่ใช่แค่การมี logo ไม่ใช่แค่สี แต่การขายแบรนด์มันคือการขายความเชื่อ เป็นการขายประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับ และประสบการณ์ที่ได้รับจะแตกต่างจากคนอื่น
สินค้าบางอย่างที่เราใช้ ทำไมเราถึงรักและผูกพัน สุดท้ายมันคือการขายความเชื่อล้วน ๆ เพราะว่าลูกค้าเขาซื้อเพราะว่าเขาต้องการยืนยันความเป็นตัวตนของเขา คนที่เลือกใช้สินค้าบางยี่ห้อ ก็เพราะเข้าเชื่อว่าเขาเป็นแบบนั้น และเขาอยากยืนยันในสิ่งที่เขาเป็น สะท้อนความเป็นตัวตนของตัวเอง ตามหลักจิตวิทยาจะเรียกว่า affirm identity
ตอนนี้แบรนด์ของเรามีการสอดแทรกตัวตนและความเชื่อเหล่านี้ลงไปในสินค้าและบริการของเราหรือเปล่า
5. อย่าพูดว่าไม่มีเงิน (Creating money skills)
คนที่เป็นนักการตลาด แล้วบอกว่าไม่มีตังค์ แสดงว่ายังไม่เข้าใจการตลาดอย่างลึกซึ้ง เพราะการไม่มีเงิน ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะทำการตลาดไม่ได้ ดังนั้น นักการตลาดมีหน้าที่ในการนำทักษะมาสร้างรายได้จากอากาศ เพราะว่าธุรกิจมันแข่งกันที่สมอง ไม่ได้วัดกันที่ว่าใครมีเงินอัดฉีดลงไปมากกว่ากัน
เงินอยู่บนโลกใบนี้มีมากมาย ถ้าคุณหาไม่ได้ แสดงว่าคุณไม่ได้ อยู่ในเส้นทางที่เงินไหลไป เพราะฉะนั้นวันนี้สิ่งที่ควรจะต้องทำ ก็คือการตั้งเป้าหมายว่าเราอยากได้อะไร และตั้งงบประมาณว่าจำเป็นจะต้องใช้เท่าไหร่ แล้วเราก็มาดูว่าทรัพยากรที่เรามี ส่วนทรัพยากรที่เราไม่มีเราก็ต้องดูว่าเราจะเอาอะไรไปแลกมาโดยที่เราไม่ต้องใช้เงิน บางครั้งอาจจะแลกด้วยสายสัมพันธ์ที่มีต่อกัน บางครั้งอาจจะแลกด้วยผลประโยชน์ที่เขาไม่สามารถเข้าถึงได้
6. ดูแลลูกค้าเก่า มากกว่าเอาเงินไปซื้อลูกค้าใหม่ (Farming instead of hunting)
อย่าทำธุรกิจแบบหมาล่าเนื้อ ที่เราจะต้องวิ่งไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดั้งนั้น เราจะต้องให้ความสำคัญกับดูแลลูกค้าเก่า โดยเราจะต้องโฟกัส 3 เรื่อง ได้แก่
- โฟกัสที่ซื้อซ้ำ (Recurring) – จะทำให้อยู่ได้
ถ้าวันนี้เราไม่ต้องการลูกค้าเยอะ อาจจะแค่ 1,000 คน แต่เป็นคนที่อยู่กับเรา 1 ปี แล้วซื้อซ้ำสินค้าเราอย่างต่ำ 10 ครั้ง ถ้าหากทำได้แบบนี้ โมเดลธุรกิจของเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และเราจะไม่เหนื่อยกับการต้องคอยไปหาลูกค้าใหม่ตลอดเวลา ในทุก ๆ การขายแต่ละครั้ง รวมถึงเราสามารถประเมินรายได้จากลูกค้าที่อยู่กับเราว่าจะมียอดเข้ามาประมาณเท่าไหร่
- โฟกัสที่แนะนำต่อ (Referral) – ทำให้ขยายกิจการ
สิ่งนี้เป็นการบอกถึงความพึงพอใจของลูกค้า บ่งบอกว่าแบรนด์ของเราทำให้เขารู้สึกประทับใจ และเขาจะแนะนำสินค้าของเราให้กับคนอื่นต่อไป โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย ถ้าเรามีลูกค้าบอกต่อกันเยอะ ๆ จะทำให้เราสามารถขยายกิจการได้
- โฟกัสที่การรักษา (Retention) – ทำให้การออกสินค้าใหม่ง่ายขึ้น
โดยธรรมชาตินักขายหรือนักการตลาด จะมีความเป็นผู้ล่า แต่ถ้าเรามุ่งมันในการที่จะรักษาลูกค้า มันจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน เวลาออกสินค้าใหม่ ๆ เราก็จะทำได้ง่ายขึ้น
และทั้งหมดนี้ก็คือ ข้อผิดพลาดที่นักการตลาดไม่ควรลืม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ ทุกคนสามารถที่จะนำเอาไปปฏิบัติได้ เพื่อไม่ให้ธุรกิจของเราประสบกับปัญหาต่าง ๆ และถ้าใครต้องการเรียนรู้วิธีการทำอย่างไรให้เรามีรายได้สม่ำเสมอ ทำอย่างไรให้เรารักษาลูกค้าเอาไว้ได้ สิ่งที่เราควรจะเรียนรู้ก็คือการสร้าง positioning และหาจุดขาย และ Tagline (ฉายา) สำหรับธุรกิจ ก็สามารถรับคำปรึกษาจากผมได้แบบตัวต่อตัว ในหลักสูตร Clubhosue Influencers