ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือยุคที่คนอยากจะประสบความสำเร็จเร็วเป็นประวัติกาล และด้วยความเอื้ออำนวยของเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้แก่ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่น อินเตอร์เน็ต รวมไปถึงระบบกองทุนธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ ทำให้คนเข้าถึงทรัพยากรสำคัญในการทำธุรกิจได้ง่ายดายไร้แรงต้าน
หากเป็นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว การที่คนธรรมดาสักคนจะปั้นธุรกิจจากศูนย์สู่มูลค่าพันล้านอาจต้องใช้เวลาถึง 20-30 ปีและมีคนงานหลักหลายพันไปจนถึงหลักหมื่นคนในบริษัท แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่สามารถสร้างธุรกิจมูลค่าเท่ากันด้วยระยะเวลาที่เร็วกว่าหลายเท่าตัว คือ 5-15 ปี และจำนวนพนักงานที่อาจจะเพียงหลักร้อยคนเท่านั้น
วันนี้เราจึงเห็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ สร้างธุรกิจมูลค่าพันล้านไปจนถึงหมื่นล้านบาทด้วยอายุไม่ถึง 30 ปี หรืออาจจะ 30 ปีต้น ๆ อาทิ
Evan Spiegel อายุ 26 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง Snap Chat (เปิดตัวปี 2011) ปัจจุบันมูลค่าธุรกิจ ณ เดือน มกราคม 2017 คิดเป็นเงินไทยโดยประมาณ 160,000 ล้านบาท ใช้เวลา 5 ปี
Mark Zuckerberg อายุ 32 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook (เปิดตัวปี 2004) ปัจจุบันมูลค่าธุรกิจ ณ เดือน มกราคม 2017 คิดเป็นเงินไทยโดยประมาณ 1,900,000 ล้านบาท ใช้เวลา 13 ปี
หรือแม้แต่คนไทย ได้แก่ คุณเอกฉัตร และคุณทิติพงษ์ สอง Co-Founder แห่ง SkillLane อายุ 27 ปี ติดโผ Forbes? 30 Under 30 ในปี 2017 โดยใช้เวลา 4 ปีหลังก่อตั้งธุรกิจ?
ธุรกิจสตาร์ทอัพคืออะไร?
ตัวอย่างของนักธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จระดับสูงมีมากมายทั่วโลก และด้วยความที่อายุยังไม่มาก อยู่ในวัยระหว่าง 25-35 ปี ทำให้ภาพลักษณ์เมื่อออกสื่อดู ?หล่อ สวย รวย เก่ง? ซึ่งโดนใจวัยรุ่นอย่างจังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่อยากทำธุรกิจสตาร์ทอัพกันมากขึ้น
แต่ในโลกของความเป็นจริง ธุรกิจสตาร์ทอัพก็เหมือนธุรกิจทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น Global company, SMEs, หรือ One-Man Company ธรรมชาติของธุรกิจมีความยากและมีความลึกลับบางอย่างที่ไม่ว่า คุณจะมีเงินทุนเท่าไร หรือมีเทคโนโลยีดีแค่ไหน แต่อัตราส่วนของผู้สำเร็จจริง ๆ ก็ยังวนเวียนอยู่ในอัตรา 10-15% ในขณะที่ที่เหลือคือ เสมอตัว กับเจ๊งปิดกิจการ ดังนั้นก่อนที่จะไปต่อสู่ บันได 8 ขั้น ปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จก่อน 30 — เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพ คืออะไร?
เว็บไซต์ www.investopedia.com อธิบายว่า Startup หรือ สตาร์ทอัพ คือ กิจการที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง บริหารด้วยกำลังคนเพียงเล็กน้อย โดยมากมีเจ้าของเพียง 2-3 คน หรืออาจมีเพียงคนเดียวกับผู้ชายจำนวนหนึ่ง พัฒนาสินค้าและบริการที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นของใหม่ในตลาด หรือของเดิมที่มีอยู่แล้วล้าสมัยและความต้องการของผู้บริโภคยังไม่ได้รับการเติมเต็ม
ธุรกิจสตาร์ทอัพ มีทรัพยากรจำกัดทั้งในด้าน องค์ความรู้ธุรกิจ (เนื่องจากบางอย่างเป็นของใหม่) และด้านเงินทุน นอกจากนั้นในช่วงแรกบริษัทอาจจะยังไม่มีกำไรเพราะใช้เวลาไปกับการศึกษาและพัฒนาสินค้าและบริการเป็นอันมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยแหล่งเงินทุนจากภายนอก ได้แก่ การกู้ยืมเงิน การหาผู้ร่วมลงทุน ได้แก่ Angel Investor และ Venture Capital
ส่วนผู้ลงทุนในสตาร์ทอัพจำเป็นต้องตระหนักรู้ว่าการลงทุนมีความเสี่ยงมากที่สุดเพราะเป็นธุรกิจใหม่ และอาจไม่มีตัวอย่างธุรกิจที่คล้ายกันให้เปรียบเทียบมากนัก โดยนักลงทุนมักให้เงินเพราะมองเห็นโอกาสและศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคตเป็นหลัก โดยเฉพาะกรณีที่ผลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์สำเร็จ จะเกิดมูลค่ากลับคืนมหาศาลแก่ ผู้ก่อตั้ง และผู้ลงทุนรุ่นแรก ๆ
กรณีศึกษา Instagram
Instagram เป็นแอพพลิเคชั่นประเภทโซเชียลเน็ตเวิร์คสายถ่ายรูป และแชร์ลงในแอพฯ เปิดตัวปี 2011 และภายในเวลาเพียง 18 เดือนมีผู้ใช้งานเติบโตจำนวน 30 ล้านบัญชี และนั่นคือช่วงที่ มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook ตัดสินใจเข้าซื้อ Instagram โดยให้มูลค่าสูงถึง 1 พันล้านเหรียญ หรือประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท — โดยที่ Instagram มีพนักงานเพียง 13 คนและไม่มีรายได้ใด ๆ?
การเข้าซื้อในครั้งนั้นทำให้ Facebook สามารถขยายศักยภาพโซเชียลเน็ตเวิร์คของตนขึ้นอีกขั้น แทนที่จะสร้างแอพพลิเคชั่นตัวใหม่ขึ้นมาแข่งขัน ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานว่าอาจใช้งบประมาณมากกว่าการเข้าซื้อกิจการ หลังจากนั้นฐานผู้ใช้งานใน Instagram ก็เติบโตอย่างรวดเร็วสู่กว่า 500 ล้านบัญชีในปัจจุบัน ส่งผลให้ Facebook สามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์ด้านการโฆษณาไปยัง Instagram ได้
กรณีศึกษา Instagram มีเส้นทางคล้ายกับ Youtube ที่ถูกซื้อไปโดย Google ทำให้คุณเห็นว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพบางชนิดยังไม่รู้ว่าจะทำเงินอย่างไร แต่เพราะธุรกิจรายใหญ่กว่าที่มองเห็นโอกาสและศักยภาพเป็นฝ่ายเข้ามาลงทุนหรือซื้อกิจการเองเพื่อเอาไปผสานกับธุรกิจหลักของพวกเขาแทนการสร้างใหม่จากศูนย์
บันได 8 ขั้น ปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จ
หลังจากที่เราเกริ่นถึงโอกาสในการทำธุรกิจในปัจจุบัน และทำความเข้าใจกับความหมายของธุรกิจสตาร์ทอัพโดยสังเขป ต่อไปนี้เราจะพาคุณเจาะ 8 ขั้นตอนค้นหาและสร้างธรกิจในฝันของคุณด้วยแนวทางที่สกัดมาจากการพูดคุย โค้ชชิ่ง และติดตามผลเจ้าของธุรกิจจำนวนมากในหลักสูตร Wealth Dynamics Thailand
1. What?s Your Purpose วัตถุประสงค์ในการสร้างธุรกิจของคุณคืออะไร
คำว่า ?อยากรวย? ตัดทิ้งไปได้เลย?
ธุรกิจทุกชนิดทำให้รวยได้หากคุณทำสำเร็จ แต่คนที่ประสบความสำเร็จสุด ๆ จำนวนมากไม่ได้เริ่มต้นเพราะอยากรวย คำว่า Passion ก็ดูจะเป็นคำที่กว้างเกินไปและนักธุรกิจที่เราพบเจอมาส่วนใหญ่ไม่ได้ทำธุรกิจเพราะเขามีความหลงใหลในสิ่งที่เขาทำ
Purpose หรือ วัตถุประสงค์ ในการทำดูจะเป็นคำที่เหมาะที่สุดในกรณีนี้ นักธุรกิจมากมายทั้งในต่างประเทศและในชุมชน Wealth Dynamics Thailand ก่อร่างสร้างธุรกิจนั้น ๆ ขึ้นเพราะมี Purpose และ Tipping point บางอย่างที่อยากลุกขึ้นมาทำบางสิ่งให้กับตลาด
ยกตัวอย่างเช่น Jeff Bezos เกิด Tipping point ที่จะปฏิวัติวงการช็อปปิ้งและอยากทำให้คนสามารถรับประสบการณ์การช็อปปิ้งจากที่บ้านผ่านอินเตอร์เน็ต เขาจึงสร้าง Amazon.com โดยเริ่มจาก Category หนังสือ ในขณะที่ Tony Hsieh ก็มีแนวคิดแบบเดียวกันแต่เกิดกับ Category รองเท้า เขาจึงสร้าง Zappos.com เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซขายรองเท้าชื่อดังของโลก โดยทั้งสองเว็บไซต์กว่าจะทำกำไรให้เจ้าของได้นั้นก็ผ่านไปหลายปีหลังก่อตั้ง — ปัจจุบันทั้งสองเว็บไซต์ขยายไปสู่สินค้าใน Category อื่น ๆ มากมาย
ส่วนตัวอย่างในประเทศไทย ได้แก่ ผู้ก่อตั้งร้านหนังสืออีบุ๊คนาม Ookbee และโรงเรียนออนไลน์ SkillLane ที่มี Purpose ในการก่อตั้งธุรกิจคล้ายกันคือ ได้สัมผัสประสบการณ์การได้อ่านอีบุ๊ค และการได้เรียนคอร์สออนไลน์ในต่างประเทศและเห็นว่า สะดวก ประหยัด มีประโยชน์ อยากให้คนไทยได้มีแบบนี้บ้าง จึงสร้างธุรกิจนั้นขึ้นมา
แล้วคุณล่ะ?….
คุณมีประสบการณ์อะไรที่เป็น Tipping point หรือ การก่อเกิดความคิดที่อยากจะปฏิวัติบางสิ่งบางอย่างไปในทางที่ดีขึ้น ธุรกิจที่คุณจะสร้างขึ้นมามี วัตถุประสงค์ ที่จะส่งมอบคุณค่าใดให้แก่ตลาด สังคม ประเทศ หรือแม้แต่โลกนี้?
2. Learn from the Others เรียนรู้จากคนอื่นอยู่เสมอ
คนเก่งที่แท้จริงมักทำตัวเสมือน รวงข้าวแก่ ที่อ้อนน้อม และ เป็นน้ำครึ่งแก้ว ที่พร้อมรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเป็นนักเรียนรู้และพวกเขาเรียนรู้จากผู้อื่นเพื่อเป็นทางลัดในการเก็บเกี่ยวข้อมูล
คนรุ่นใหม่จำนวนมากคาดหวังที่จะกระโจนเข้าสู่สนามธุรกิจทันทีที่เรียนจบ แต่ในโลกธุรกิจนั้นมีความสลับซับซ้อนและลึกลับกว่าที่เขียนเล่าไว้ในหนังสือแรงบันดาลใจ บางครั้งการเรียนรู้ธุรกิจที่ดีที่สุดในช่วงแรกคือ ?การเรียนรู้จากงานประจำ? การเริ่มต้นทำงานประจำให้เร็วที่สุดเพื่อเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบองค์กรคือวิธีที่คุณจะเรียนรู้ระบบธุรกิจจากคนสำเร็จของจริง
บางคนอาจดูถูกงานประจำ แต่เราสนับสนุนให้เห็นคุณค่าของงานประจำเพราะองค์กรที่ดำเนินธุรกิจมานานและมั่นคงแล้วมีเหตุผลเดียวคือ ระบบธุรกิจได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้จริง ไม่ว่าจะแผนก บุคคล บัญชี จัดซื้อ การตลาด และฝ่ายขาย และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณต้องใช้แน่ ๆ ในวันที่คุณมีกิจการของตัวเอง
3. Start Early – Start Small เริ่มให้เร็ว เริ่มจากเล็ก ๆ
อย่างที่บอกไปว่าปัจจุบันคุณมีเครื่องไม้เครื่องมือให้เริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายและเร็ว? ดังนั้นคุณจะรออะไร!
Pete Cashmore เจ้าของเว็บไซต์ Mashable ผู้เริ่มต้นเขียนบทความข่าวไอทีด้วยตัวเองหลังเลิกเรียน ปัจจุบันมีมูลค่านับพันล้านบาท หรือ Noah Kegan เจ้าของเว็บไซต์ App Sumo ที่ทำรายได้คิดเป็นเงินไทยประมาณ 30 ล้านบาทภายใน 1 ปีจากเงินทุนเริ่มต้น 50 เหรียญ หรือประมาณ 1800 บาท คือตัวอย่างของการเริ่มให้เร็ว และเริ่มจากเล็ก ๆ และที่สำคัญพวกเขาเริ่มคนเดียวจากในห้องนอน ไม่ได้มีสำนักงานใหญ่โต และลูกน้องเป็นร้อยคนเหมือนภาพเถ้าแก่ธุรกิจในอดีต
เครื่องมือสร้างธุรกิจร้อยล้านของคนรุ่นใหม่คือ โน้ตบุ๊ค และ อินเตอร์เน็ต พวกเขาใช้มันเพื่อศึกษาหาข้อมูล เข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้แก่ ซัพพลายเออร์และสินค้า, เข้าถึงทีมงานชั่วคราวเช่นฟรีแลนซ์และเอาต์ซอส, และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยการตลาดออนไลน์
กรณีศึกษาของคนไทยได้แก่ สถาบันสอนภาษา Mind English ที่ใช้วิธีเปิดแฟนเพจและโพสต์เนื้อหาสอนภาษาด้วยเทคนิคแบบไม่ต้องท่องแกรมมาร์ เป็นการให้ความรู้ฟรี ๆ จนคนติดใจและเริ่มร้องขอให้มีการเปิดสอนจริงจัง นี่คือการทดลองตลาดโดยที่ใช้ทุนต่ำมาก และเมื่อมีคนร้องขอให้เปิดสอนมากพอ ทาง Mind English จึงเปิดให้จองคอร์สสอนภาษาแบบพรีออเดอร์และนำเงินนั้นไปสร้างห้องเรียนภายหลัง! เป็นธุรกิจดั้งเดิมที่ใช้โมเดลกึ่งสตาร์ทอัพ เงินทุนเปลี่ยนจาก Venture Capital มาเป็นลูกค้าโดยตรง
เริ่มต้นให้เร็ว และเริ่มจากเล็ก ๆ เพื่อเป็นการทดลองตลาดและค้นหากลุ่มเป้าหมายของคุณจนแน่ใจว่าธุรกิจนี้เป็นไปได้ และกลุ่มเป้าหมายมีอยู่จริงหรือไม่ เพื่อการเดินแผนงานต่อไปของคุณ
4. Take Full Responsibility มีความรับผิดชอบต่อทุกผลลัพธ์
นักธุรกิจที่ยอดเยี่ยมไม่ใช่คนที่ไม่เคยทำอะไรผิดเลย แต่คือคนที่รับผิดชอบต่อทุกผลลัพธ์ไม่ว่าร้ายดีอย่างไร
คนทั่วไปโทษปัจจัยภายนอก และคนที่โทษแต่ปัจจัยภายนอกนั้นยากจะประสบความสำเร็จ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงไม่ใช่คนที่ไม่เคยทำผิด พวกเขาเคยผ่านความผิดพลาดครั้งใหญ่มากมายแต่พวกเขาน้อมรับความผิดพลาดนั้น รับผิดชอบแก้ไข และเรียนรู้ที่จะพัฒนาให้ดีกว่าเดิมเสมอ
5. Have a Mentor พี่เลี้ยงดีมีชัยไปกว่าครี่ง
มีคำกล่าวโบราณว่าไว้ แม่ทัพที่โรมรันในสนามรบไม่อาจมองเห็นสถานการณ์ในภาพใหญ่ พวกเขาต้องการผู้รู้ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลเป็นที่ปรึกษา หลักการเดียวกันนี้เป็นจริงเสมอทุกยุคทุกสมัย
ผู้ประกอบการมักยุ่งอยู่ในการบริหารจัดการธุรกิจและการต่อสู่แข่งขันจนบดบังวิสัยทัศน์และความคิดใหม่ ๆ ผู้ประกอบการทุกคนจึงต้องการ Mentor หรือ พี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์คอยให้คำแนะนำ โดย Mentor นั้นอาจมาในรูปแบบของอาจารย์ที่ปรึกษาที่เคารพและให้คำแนะนำตามโอกาสโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และบางครั้งก็อาจเป็น Mentor ในรูปแบบของการว่าจ้าง
ไม่ว่าจะอย่างใดก็ตาม คุณจำเป็นต้องมีไว้อย่างน้อยหนึ่งคน โดยคุณอาจเริ่มต้นจากการสร้างความสัมพันธ์กับผู้รู้ผ่านงาน Event ต่าง ๆ และฝากเนื้อฝากตัวเป็นมิตร เมื่อสนิทมากขึ้นคุณจะสามารถขอคำปรึกษาแนะนำในฐานะมิตรสหายได้ตามกาละเทศะอันเหมาะสม
6. Have a Great Team ทีมงานดี ก็มีอนาคต
ไม่มีนักธุรกิจใดที่ประสบความสำเร็จด้วยตัวคนเดียว…ในแต่ละบุคคลจะมีความสามารถที่โดดเด่นต่างกันไป บางคนเก่งเรื่องไอเดีย บางคนเก่งในการดึงดูดคน บางคนเก่งระบบ และคุณจะทำได้ดีที่สุดในส่วนที่คุณถนัด แต่ในสิ่งที่คุณไม่ถนัด คุณจำเป็นต้องให้คนอื่นมาช่วย ธุรกิจของคุณจึงจะไปรุ่งและพุ่งแรง
มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่ามี สหายสามคนที่เรียนเก่งเรียนดี เป็นวิศวะกรผู้เชี่ยวชาญในงานตามที่เรียนมาก ภายหลังทั้งสามออกมาร่วมทำธุรกิจส่วนตัว และในที่สุดธุรกิจก็เจ๊งปิดกิจการไป เหตุเพราะทั้งสามเกลอล้วนเก่งเหมือนกันและในเรื่องเดียวกัน ทำให้ปัจจัยอื่น ๆ ในการทำธุรกิจหละหลวมทั้งหมด และธุรกิจก็พังพินาศไป
ดังนั้น? คุณในฐานะผู้ประกอบการต้องรู้ว่าคุณถนัดอะไรและใช้จุดแข็งนั้นทำหน้าที่ของคุณอย่างเต็มที่ พร้อมกับเปิดโอกาสให้คนที่เก่งในสิ่งที่คุณไม่ถนัดได้เข้ามาเติมเต็มในส่วนที่ขาด ยกตัวอย่างโดยอ้างอิงศาสตร์ Wealth Dynamics Profile Test
- โปรไฟล์ Star เชี่ยวชาญงานสาธารณะ ดึงดูดคนหมู่มากเข้าหาเป็นที่หนึ่ง ต้องการ Deal Maker มาช่วยปิดการขายรายคน
- โปรไฟล์ Creator ไอเดียธุรกิจเปลี่ยนโลกต้องยกให้เขา แต่การจะสานต่องานให้สำเร็จต้องการ Mechanics ในการนำไอเดียมาจัดระเบียบและแผนงาน
- โปรไฟล์ Mechanics?เก่งเรื่องการทำโครงให้สำเร็จ แต่ไม่ถนัดคิดโครงการใหม่ ๆ ต้องการ Creator มาคิดให้
- โปรไฟล์ Supporter มนุษยสัมพันธ์เป็นเลิศที่สุดในสามโลก แต่ต้องการโปรไฟล์อื่น ๆ มาช่วยวางเป้าหมายว่าจะให้เข้าไปคุยกับคนกลุ่มไหน
เมื่อคุณรู้จุดแข็งของตัวเองและของทีม คุณจะสามารถวางกำลังคนได้อย่างถูกจริตและทำให้กิจการเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง
7. Who is Your Role Model ใครคือบุคคลต้นแบบสำหรับคุณ
Role model หรือ บุคคลต้นแบบอันเป็นที่รักของคุณคือใคร? — วัยรุ่นแทบทุกคนจะมี Role model หรือที่นิยมเรียกกันง่าย ๆ ว่า ?ไอดอลธุรกิจ? เพื่อเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจในการไปให้ถึงฝัน
ไอดอลธุรกิจสำหรับวัยรุ่นไทย ได้แก่ คุณต็อบ เถ้าแก่น้อย เป็นต้น ส่วนไอดอลนักธุรกิจต่างประเทศ หลัก ๆ ได้แก่ Richard Branson (Virgin Group), Steve Jobs (Apple), Elon Musk (Tesla), Jeff Bezos (Amazon), Warren Buffet (Berkshire Hathaway), Larry Page (Google) ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้แต่ละคนที่กล่าวมาจะประสบความสำเร็จแบบสุดขีดในงานที่เขาทำ แต่แต่ละคนมีโปรไฟล์ Wealth Dynamics ที่แตกต่างกันและพวกเขาได้ใช้จุดแข็งของตนเองอย่างเต็มที่และเหมาะสม
ยกตัวอย่าง?
Richard Branson ผู้มีไอเดียธุรกิจใหม่ ๆ เป็นเลิศจนสามารถเปิดกิจการได้มากกว่า 400 บริษัท นั่นคือการใช้ลักษณะเด่นของความเป็น Creator ซึ่งถนัดการเปิดโครงการใหม่ ๆ แต่เขาต้องหาคนที่เก่งการบริหารงาน Routine มาดูแลในทุก ๆ กิจการหลังจากนั้น
Jeff Bezos สร้างเว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์ที่มีกลไกการทำงานอันซับซ้อน แต่ใช้งานง่ายในฝั่งของ User/ Customer ทำให้เป็นที่นิยมไปทั่วสหรัฐอเมริกา นี่คือลักษณะเด่นของความเป็น Mechanics ที่ไม่ถนัดการสร้างสรรนวัตกรรมใหม่ แต่เป็นการเอาของที่คนสร้างไว้อยู่แล้วมาต่อยอดให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานหรือเข้าถึง แต่พวกเขาต้องอาศัยคนที่เก่งการสร้างสินค้าและบริการใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด
Warren Buffet นักลงทุนในหุ้นที่มั่งคั่งที่สุดในโลก ตัวเขาเองไม่ใช้นักสร้าง และไม่ใช่นักวางระบบ ไม่มีสินค้าและบริการเป็นของตัวเอง แต่มีความสามารถในการวิเคราะห์ธุรกิจเป็นเลิศและสามารถเข้าซื้อธุรกิจที่มีอนาคตในเวลาที่เหมาะสม ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในระยะยาวทั้ง ผลตอบแทน และมูลค่ากิจการ นี่คือลักษณะเด่นของความเป็น Accumulator แต่พวกเขาต้องอาศัยนักสร้างธุรกิจรุ่นใหม่ ๆ ออกสู่โลก
Role model ของคุณอาจเป็นใครก็ได้ทั้งที่ยกตัวอย่างและไม่ได้ยกมา ข้อควรระวังคือคุณอาจมีโปรไฟล์ Wealth Dynamics ที่แตกต่างจาก Role model ของคุณโดยสิ้นเชิง และการพยายามลอกเลียนแบบการทำงานตาม Role model โดยที่มีโปรไฟล์คนละแบบอาจทำให้คุณประสบปัญหา
8. Know Your Core Value รู้จักความถนัดของตัวเอง
สืบเนื่องจากข้อ 7) — ขอขยายความว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่คุณจะมี Role model คนละโปรไฟล์จากคุณ ขอเพียงให้คุณรู้จักโปรไฟล์ Wealth Dynamics ของตนเองอย่างถ่องแท้ เข้าใจและยอมรับในจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง และมุ่งประยุกต์ใช้ส่วนที่เป็นจุดแข็งในการนำไปใช้ทำงานและสร้างธุรกิจ โดยมี Role model เป็นแรงบันดาลใจในการไปถึงเป้าหมาย
อย่าลืมว่าไม่มีนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จใดทำงานคนเดียว พวกเขาล้วนอาศัยทีมงานที่มีความสามารถแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงมาช่วยกันทำในสิ่งที่ถนัดของแต่ละคนเพื่อให้ ธุรกิจนั้น ๆ เป็นธุรกิจที่สมบูรณ์